อาหารจำนวนมากกลายเป็น ‘ขยะ’ ก่อนจะถึงมือผู้บริโภค อาหารบางส่วนถูกปฏิเสธเนื่องจากการควบคุมคุณภาพ หรือถูกกำจัดทิ้งเพราะใกล้วันหมดอายุ

นาย Travin Singh ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ‘CRUST’ กลับมองเห็นศักยภาพของอาหารส่วนเกินเหล่านี้ โดยเริ่มจากการนำขนมปังบาแก็ต (Baguette) ส่วนเกินจากร้าน Tiong Bahru Bakery ที่มีสาขาหลายแห่งในสิงคโปร์มาแปรรูปเป็นเบียร์ เรียกว่า “Beerguette” มีราคาระหว่าง 6 – 8.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อขวด (ประมาณ 150 – 190 บาท) ซึ่งราคาใกล้เคียงกับคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) ยี่ห้ออื่นในสิงคโปร์ นอกจากขนมปังส่วนเกินแล้ว CRUST ยังใช้ข้าว ชา กาแฟ ผลไม้ และผักในการผลิตเบียร์ด้วย จนขยายสู่ตลาดญี่ปุ่นด้วยเบียร์ที่ทำจากข้าวและขนมปังส่วนเกิน

แหล่งที่มา: http://www.channelnewsasia.com

CRUST เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจผลิตเบียร์ แต่ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นธุรกิจเทคโนโลยีทางอาหารที่มองหาวิธีแก้ปัญหาขยะอาหาร โดยได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัย Bright Science Hub ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยบริษัทด้านสุขภาพและโภชนาการของเนเธอร์แลนด์ DSM ดำเนินการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับขยะหลากหลายประเภทเพื่อหาช่องทางแปรรูปเพิ่มเติม

นาย Anand Sundaresan รองประธานฝ่ายโภชนาการและสุขภาพมนุษย์ของ DSM ให้ความเห็นว่าขยะอาหารเป็นปัญหาที่ซ่อนเร้น เพราะคนมักจะไม่ทราบถึงปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ/สังคมในระยะยาว เนื่องจากขยะอาหารที่ถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบจะสร้างก๊าซมีเทน (Methane) ซึ่งร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนถึง 21 เท่า

นอกจาก CRUST ที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารในสิงคโปร์ ปัจจุบัน ยังมีภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจเรื่องการลดอาหารขยะ จึงเกิดการรวมตัวในชุมชนริเริ่มโครงการรณรงค์ รวมถึงก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม เพื่อลดขยะอาหารในสิงคโปร์ เช่น

  1. Food from the Heart องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ก่อตั้งเมื่อปี 2546 ริ่เริ่มโครงการ ‘Clean Plate’ ในโรงเรียนเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของขยะอาหาร โดย Clean Plate Ambassadors จะไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อแบ่งปันข่าวสารและปลูกฝังนิสัยการลด/ป้องกันการเกิดขยะอาหาร
  2. SG Food Rescue การรวมตัวกันของผู้ที่ส่งเสริมการลดขยะอาหารในสิงคโปร์ โดยจัดสรรอาหารแก่ผู้ที่เต็มใจจะบริโภค ก่อนที่จะกลายเป็นขยะ
  3. Foodprints @ South West ริเริ่มโดยสภาพัฒนาชุมชนตะวันตกเฉียงใต้ (South West Community Development Council) โดยจะมอบรางวัลให้องค์กร/หน่วยงานเขตตะวันตกเฉียงใต้ที่ดำเนินการลดปริมาณขยะอาหาร เช่น การออกแบบและติดโปสเตอร์การลดขยะอาหารรอบโรงเรียน และให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงอาหารเกี่ยวกับวิธีจัดการและจัดเก็บอาหารที่ดี
  4. Community fridges โครงการตู้เย็นชุมชนเขต Queenstown Yishun และ Tampines โดยรณรงค์ให้ผู้พักอาศัยในเขตดังกล่าวบริจาคอาหารที่ไม่ต้องการแล้วแต่ยังบริโภคได้แทนการทิ้ง
  5. Foodscape Collective กลุ่มผู้สนใจการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น เช่น การจัดสรรอาหารส่วนเกินที่ยังไม่หมดอายุ และการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารในครัว
  6. Treatsure แอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือแรกของสิงคโปร์ที่จัดสรรอาหารส่วนเกินจากธุรกิจและโรงแรมแก่ผู้บริโภคที่สนใจ เพื่อลดการเกิดขยะอาหาร
  7. TreeDots แพลตฟอร์มออนไลน์หรือ marketplace ที่จัดจำหน่ายสินค้าคงเหลือไปยังผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2560 TreeDots ช่วยลดการเกิดขยะอาหารถึงประมาณ 2,300 ตัน หรือเทียบเท่ากับอาหาร 23 ล้านมื้อ และเมื่อปี 2561 ได้รับเงินสนับสนุนสาขา Business Transformation and Improvement Grant (BTI Grant) จากมูลนิธิ DBS เพื่อพัฒนาธุรกิจด้วย
  8. UglyFood กิจการด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสังคมที่พยายามลดขยะอาหารอันเป็นผลมาจากการคัดเลือกรูปลักษณ์อาหาร และพยายามเปลี่ยนความเชื่อเรื่องการเลือกซื้ออาหารจากรูปลักษณ์
  9. Good for Food ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ผลักดันให้โรงแรมและครัวเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อลดขยะอาหาร ต้นทุน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางอาหารก็มีบทบาทสำคัญในการลดขยะอาหารเช่นกัน ยกตัวอย่างการศึกษาและวิจัยของสถาบัน Singapore-MIT Alliance for Research and Technology (SMART) โดยใช้ไหมจากรังไหมมาแปรรูปเป็นสารเคลือบป้องกันไม่ให้อาหารเน่าเปื่อย สารเคลือบดังกล่าวกันน้ำและรับประทานได้ ใช้ได้ผลดีกับผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เช่น บวบ อะโวคาโด เชอร์รี่ เนื้อปลา และเนื้อวัว เป็นต้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้แปรรูปใบสับปะรดให้กลายเป็นแอโรเจล (Aerogel) หรือของแข็งที่เบาที่สุดในโลก ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับผงถ่านกัมมันต์ (active carbon powder) จะสามารถชะลอเวลาไม่ให้อาหารเน่าเปื่อยได้อย่างน้อยสองสัปดาห์ อาทิ การยืดเวลาสุกของกล้วย ซึ่งสามารถใช้ถนอมผักและผลไม้ในระหว่างการขนส่งได้ด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง