สิงคโปร์พัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือและทดลองใช้โดรนเพื่อขนส่งสินค้าทางทะเล

การท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore – MPA) ได้จัดการประชุม MarineTech Conference เมื่อวันที่ 5 – 6 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Singapore Maritime Week 2022 ณ ศูนย์ประชุม Sands Expo and Convention Centre นาย Chee Hong Tat รัฐมนตรีอาวุโสประจำกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยเทคโนโลยีการเดินเรือระหว่าง MPA กับวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้โดรนเชิงพาณิชย์สำหรับอุตสาหกรรมการเดินเรือในสิงคโปร์ ดังนี้

บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเทคโนโลยีการเดินเรือ    

MPA และ ท่าเรือ Jurong Port เห็นพ้องที่จะต่ออายุความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาไปอีก 5 ปีจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2570 และจัดสรรงบประมาณจำนวน 28 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ระบบอัตโนมัติและการใช้เครื่องจักร (2) ความยั่งยืนและเชื้อเพลิงสีเขียว (3) ดิจิทัล และ (4) ความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจของท่าเรือ Jurong Port รวมทั้งขยายไปสู่สาขาใหม่ ๆ เช่น เชื้อเพลิงทางทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม                         

MPA ร่วมกับสมาคมการเดินเรือแห่งสิงคโปร์ (Singapore Shipping Association – SSA) และภาคเอกชนชั้นนำ 7 ราย ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทางทะเลของสิงคโปร์ โดยจะจัดการประชุมข้อริเริ่มในการป้องกันความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ทางทะเลครั้งแรกในช่วงปลายปี 2565

การใช้โดรนเชิงพาณิชย์สำหรับอุตสาหกรรมการเดินเรือในสิงคโปร์   

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 บริษัทโลจิสติกส์ในท่าเรือ Skyports บริษัทเดินเรือ Thome Group และ Wilhelmsen ได้ลงนาม MOU เพื่อขยายการทดลองใช้ (Unmanned Aerial Vehicle – UAV หรือ drone) เชิงพาณิชย์ในน่านน้ำของสิงคโปร์ โดยกำหนดให้พื้นที่โดยรอบท่าเรือ Marina South Pier เป็นพื้นที่สำหรับทดสอบการบินของอากาศยานไร้คนขับทางทะเลเพื่อขนส่งสินค้าตลอดเดือนเมษายน 2565 ปัจจุบัน สิงคโปร์มีภาคเอกชนอย่างน้อย 3 รายให้บริการจัดส่งโดรนแบบไร้คนขับเพื่อส่งสินค้าขนาดเล็ก เช่น เงินสด ชิ้นส่วนการขนส่งแบบพิมพ์ 3 มิติ (3D-printed shipping parts) และตัวอย่างเชื้อเพลิงจากท่าเรือ Marina South Pier ไปยังเรือในน่านน้ำสิงคโปร์

แหล่งที่มา: ST PHOTO: NG SOR LUAN

MPA เห็นว่า MOU ดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญของการใช้โดรนในบริการจัดส่งทางเรือสู่ฝั่งเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในสิงคโปร์ และคาดว่าจะมีการใช้โดรนทางทะเลเป็นประจำในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากการใช้โดรนเพื่อส่งเสบียงและสินค้าไปยังเรือที่จอดเทียบท่าหรือใกล้ฝั่งสิงคโปร์จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า เร็วกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ข้อมูลและสถิติเชิงลึกแก่วิสาหกิจและหน่วยงานกำกับดูแลในการกำหนดค่าคำสั่ง (พารามิเตอร์) การดำเนินงาน เช่น มาตรฐานการให้บริการ เวลาที่ใช้ในการตอบสนอง และระบบการบำรุงรักษา
โดรนทางทะเล เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม: พัฒนาการการใช้โดรนขนส่งสินค้าในสิงคโปร์

เมื่อปี 2558 รัฐบาลสิงคโปร์อนุมัติการทดสอบการใช้โดรนสำหรับการจัดส่งสินค้าและสิ่งของในสิงคโปร์ เป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน นอกจากโดรนทางทะเลแล้ว สิงคโปร์ยังขยายการใช้โดรนในหลายสาขา สรุปได้ ดังนี้

ธุรกิจโลจิสติกส์ (1) เมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดรนที่จัดทำโดยวิศวกรจากบริษัทไปรษณีย์ SingPost และห้องปฏิบัติการของสำนักงาน Infocomm Development Authority สิงคโปร์ (ปัจจุบัน คือ Pixel Labs) ได้ทดสอบการใช้โดรนเพื่อส่งจดหมายและเสื้อยืดเป็นครั้งแรกในระยะทาง 2 กิโลเมตร และ (2) เมื่อเดือนเมษายน 2563 บริษัทสตาร์ทอัพ F-drones และบริษัท Eastern Pacific Shipping เริ่มให้บริการโดรนส่งพัสดุเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในสิงคโปร์ โดยจัดส่งบรรจุภัณฑ์วิตามินขนาด 2 กิโลกรัม ไปบนเรือที่จอดทอดสมออยู่ห่างจากชายฝั่งสิงคโปร์ 2.7 กิโลเมตร ภายในระยะเวลาเพียง 7 นาที

อุตสาหกรรมการบิน (1) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 บริษัท Airbus ได้ทดสอบการบินโดรนของ Airbus เป็นครั้งแรกในสิงคโปร์ โดยร่วมมือกับสำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (CAAS) และ SingPost เพื่อทดลองใช้โดรนส่งของอัตโนมัติในมหาวิทยาลัย NUS และ (2) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 บริษัท Heron Technology ของสิงคโปร์ได้ประกาศความสำเร็จของการทดลองใช้ระบบระบบโดรนเพื่อสนับสนุนการจัดการจราจรทางอากาศในสิงคโปร์

ธุรกิจอาหาร 1) เดือนสิงหาคม 2563 โดรนได้ทำการขนส่งไก่ทอด 5 ห่อไปยังเรือที่อยู่ห่างจากท่าเรือ Marina South Pier 3 กิโลเมตร ใช้เวลา 10 นาที เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยีสิงคโปร์ ST Engineering และบริษัทจัดส่งอาหาร Foodpanda 2) เดือนมีนาคม 2565 บริษัท Sentosa Development Corporation ร่วมมือกับบริษัท ST Engineering และ Foodpanda เพื่อขนส่งอาหารจากเกาะ Sentosa ไปยังเกาะ St John’s

แหล่งที่มา: ST File

ข้อสังเกต       

รัฐบาลสิงคโปร์เข้มงวดและรัดกุมเรื่องการอนุญาตใช้โดรนในสิงคโปร์เป็นอย่างยิ่ง หลังจากเมื่อเดือน มิถุนายน 2563 ในช่วงการแพร่ระบาดที่รุนแรงของโควิด-19 สำนักงานตำรวจแห่งชาติสิงคโปร์พบว่ามีการใช้โดรนในการขนส่งยาเสพติดจากรัฐยะโฮร์บาห์รู มาเลเซีย มายังเขต Kranji ของสิงคโปร์ ดังนั้น ผู้ต้องการใช้โดรนในสิงคโปร์จะต้องขออนุญาตจาก CAAS ล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน

ในการแข่งขันฟุตบอล AFF Suzuki Cup เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ทีมชาติไทยได้ใช้โดรนเพื่อประกอบการฝึกซ้อมและวางแผนการแข่งขัน แต่ไม่ได้ขออนุญาตจาก CAAS ก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์จึงได้เดินทางมายังสนามฟุตบอลโดยทันทีและออกใบสั่งเพื่อตักเตือน ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มงวดและประสิทธิภาพในการตรวจจับโดรนในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ทีมชาติไทยได้รับชัยชนะและสามารถคว้าถ้วยรางวัลการแข่งขันฯ ดังกล่าวมาได้แม้จะไม่ได้ใช้โดรน

ผู้ให้บริการโดรนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างพัฒนาและดำเนินการใช้โดรนในการจัดส่งสินค้า เช่น (1) บริษัท Wing (บริษัท ในเครือ Google Alphabet) ให้บริการส่งสินค้าด้วยโดรนใน 3 ประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์และออสเตรเลีย รวมทั้งรัฐเท็กซัสและรัฐเวอร์จิเนียในสหรัฐฯ โดยโดรนส่งสินค้าจากร้านอาหารและร้านค้าปลีกในท้องถิ่น อาทิ ร้านขายยา (2) บริษัท Zipline ของสหรัฐฯ ใช้โดรนจัดส่งผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปยังชุมชนในรวันดา กานา และสหรัฐฯ และมีแผนจะขยายบริการไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศไทย มีการใช้โดรนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตรและการสำรวจพื้นที่ โดยมีโดรนเพื่อการเกษตรที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ไม่เกิน 25 กิโลกรัม และขึ้นทะเบียนแล้ว 23,000 เครื่อง ทั้งนี้ ธุรกิจไทย โดยเฉพาะในด้านโลจิสติกส์และธุรกิจอาหาร สามารถพิจารณาปรับใช้โดรนในธุรกิจเฉกเช่นสิงคโปร์ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย เวลา และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค new normal ที่ต้องการระบบการขนส่งแบบไร้การสัมผัส เพื่อใช้อำนวยความสะดวกและเว้นระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไทยประสงค์ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดนโยบายการพัฒนาโดรนให้ชัดเจน และผ่อนปรนมาตรการตามสถานการณ์ในปัจจุบัน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง