ตลาดนัดกลางคืน ธุรกิจขนาดย่อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสิงคโปร์หลังการแพร่ระบาด Covid-19

ตลาดนัดกลางคืนหรือที่ชาวสิงคโปร์รู้จักกันในชื่อ Pasar Malam อยู่ในวัฒนธรรมของชาวสิงคโปร์มาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2493 หรือกว่า 70 ปีมาแล้ว เมื่อปี 2563 การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ตลาดนัดกลางคืนหายไปจากสังคมสิงคโปร์เป็นเวลา 2 ปีเต็ม จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เริ่มผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุขอย่างยิ่ง และมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ทำให้มีการจัดตลาดนัดกลางคืนได้อีกครั้ง โดยเริ่มทดลองจัดในช่วงเทศกาลรอมฎอนหรือเดือนถือศีลอดของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนและจะสิ้นสุดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 การกลับมาของตลาดนัดกลางคืนในปีนี้ได้รับการตอบรับดีอย่างยิ่งจากผู้ประกอบการและผู้คนในสิงคโปร์

ธุรกิจ SMEs กับตลาดนัดกลางคืนในช่วงรอมฎอน

ตลาดนัดกลางคืนเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมค้าปลีกและการบริการ เช่น ของใช้ในครัวเรือน อาหาร และบริการต่าง ๆ เป็นต้น SMEs มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของสิงคโปร์ให้เติบโต โดยกรมสถิติสิงคโปร์ (Department of Statistics) รายงานสถิติปี 2563 ว่า SMEs สร้างมูลค่าแก่เศรษฐกิจสิงคโปร์มากถึง 184,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากมูลค่า GDP ทั้งหมด 469,096 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ SMEs ยังช่วยส่งเสริมการจ้างงานในสิงคโปร์ถึง 70% อีกด้วย1

นาย Muhammad Faishal Ibrahim รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสิงคโปร์ ได้ประกาศให้มีการจัดประดับไฟเพื่อเตรียมเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายอในตลาดนัดสองแห่ง คือ Kampong Glam และ Geylang Serai ตลอดเดือนรอมฎอน  โดยตลาดนัดกลางคืนที่จัดขึ้นบริเวณแหล่งวัฒนธรรม Kampong Glam เป็นตลาดนัดที่สามารถดึงดูดให้ผู้คนมาเลือกซื้อสินค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งชาวสิงคโปร์และชาวต่างชาติ เนื่องจากมีการแสดงทางวัฒนธรรมและอยู่ในแหล่งชุมชน ทั้งนี้ เจ้าของตลาดนัด Kampong Glam ได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนหลายแห่งในการจัดตลาดนัดกลางคืนดังกล่าว เช่น ผู้ผลิตน้ำหอม Sifr Aromatics บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Epson และบริษัท อี-คอมเมิร์ซ Lazada เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจควบคู่ไปกับวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในตลาด Geylang Serai ก็มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน โดยมีผู้ร่วมงานตลาดนัดดังกล่าวแล้วกว่า 100,000 คน

ตลาดนัดกลางคืน Kampong Glam และการแสดงไฟ ฉายบนมัสยิดสุลต่าน
แหล่งที่มา: ST PHOTO: DESMOND FOO
ตลาดนัดกลางคืน Geylang Serai
แหล่งที่มา: ST PHOTO: LIM YAOHUI

ความท้าทายของธุรกิจขนาดย่อมหลังช่วงการแพร่ระบาดโควิด– 19

ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความอ่อนไหวสูงกว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากกระแสเงินสดต่ำและมีการปรับใช้นวัตกรรมในธุรกิจไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชาชนจะยินดีต่อการกลับมาของตลาดนัดกลางคืนในสิงคโปร์ แต่สถานการณ์ยังไม่ได้กลับเป็นเช่นเหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาด รวมทั้งผลกระทบจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และราคาพลังงานโลก ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับความท้าทาย ดังนี้

1. ต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกและความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียได้ส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ค่าเช่าแผงลอย และค่าวัตถุดิบอาหาร เป็นต้น ผู้ประกอบการรายหนึ่งในตลาดนัดกลางคืนให้ข้อมูลว่า ราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร (cooking oil) บางประเภทเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก  21 ดอลลาร์สิงคโปร์/ปี๊บ เมื่อปี 2564 เป็น 52 ดอลลาร์สิงคโปร์/ปี๊บ ในปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 150%

2. ผู้บริโภคยังไม่ปรับพฤติกรรมเต็มรูปแบบกับการดำเนินชีวิตแบบ new normal แม้ว่าผู้คนบางส่วนจะตื่นตาตื่นใจกับการกลับมาของตลาดนัดกลางคืน แต่ยังมีกลุ่มคนที่ยังตื่นตัวต่อโรคระบาด ยังคงรักษาระยะห่างและหลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด ผู้ประกอบการบางรายในตลาดนัดกลางคืนให้ความเห็นว่า รายได้ที่เข้ามายังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ารายได้ก่อนช่วงการแพร่ระบาดถึง 40%

3. การลดลงของอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการต้องผลักภาระบางส่วนไปที่ผู้บริโภค ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น จึงมีส่วนในการลดอำนาจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งในช่วงภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้ การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นระยะเวลายาวนานมีผลทำให้รายได้และกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มลดลงด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ประเทศในภูมิภาคเอเชียเคยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางตลาดนัดกลางคืน อาทิ หลายเมืองในประเทศจีนจัดงานตลาดนัดกลางคืนเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดรอบแรก โดยทางรัฐร่วมมือกับภาคเอกชน ร้านค้าปลีก และบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น บริษัท Alibaba Group Holding และ บริษัท Tencent Holdings เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ตลาดนัดถือเป็นเสน่ห์ของประเทศแถบเอเชียและเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในไทยตลาดนัดมีชื่อหลายแหล่งต้องปิดตัวลงอย่างถาวรเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น ตลาดนัดรถไฟรัชดา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง ภาครัฐเริ่มดำเนินนโยบายการส่งเสริมการกลับมาเปิดอีกครั้งของตลาดนัดหลายที่ เช่น ตลาดนัดกลางคืนจ๊อดแฟร์ (ซึ่งเปิดแทนที่ตลาดนัดรถไฟรัชดา) ตลาดนัดกลางคืนคลองถมในกรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้าการแพร่ระบาดมีผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 3,300 ร้าน และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กรมประชาสัมพันธ์รายงานข่าวการเปิดตลาดนัดปันสุขที่จังหวัดพัทลุง ตามนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ และเสริมสร้างความเข็มแข็งให้แก่ธุรกิจ SMEs


1https://www.singstat.gov.sg/modules/infographics/-/media/Files/visualising_data/infographics/Economy/singapore-economy30042021.pdf


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง