รัฐบาลสิงคโปร์แถลงแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ด้วยรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการแถลงนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงการประชุมรัฐสภาสิงคโปร์ ชุดที่ 14 สมัยประชุมที่ 2 โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ภาพรวม

ในช่วงการเปิดประชุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 นาง Halimah Yacob ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่จะยังคงขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกปัจจุบันด้วยแนวคิด meritocracy ต่อไป แม้จะมีข้อห่วงกังวลว่าจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมฝังรากลึกลงกว่าเดิม โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะแก้ไข ห่วงกังวลดังกล่าวโดยการปฏิรูปทางการศึกษาและการทำงาน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจ

ในช่วงการโต้วาทีอภิปรายกับพรรคฝ่ายค้านต่อคำปราศรัยของประธานาธิบดีสิงคโปร์ ในระเบียบวาระ “The Motion of Thanks to the President 2023” มีประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ได้แก่ (1) การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำและชนชั้น (2) การเสริมสร้างความปลอดภัยทางสังคม (3) การสร้างเมืองสีเขียวที่น่าอยู่ และ (4) การส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์มีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับแผนงาน Forward Singapore ของนาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ (ทายาททางการเมืองของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ คนปัจจุบัน) ซึ่งเป็นการทบทวนนโยบายทุกด้าน เพื่อให้ชาวสิงคโปร์ทุกรุ่นทุกวัยได้มีส่วนร่วมในการจัดทำเแผนการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง

สาระสำคัญของแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์

ในวาระ The Motion of Thanks to the President 2023 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 รองนายกรัฐมนตรี  Wong กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์ มีสาระสำคัญว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะขับเคลื่อนประเทศเพื่อสร้างพลวัตใหม่ในสังคมด้วย 5 แนวทางใหม่ (new approaches) ได้แก่

แนวทางใหม่ด้านทักษะ (new approach on skills) รัฐบาลสิงคโปร์จะขยายขอบเขตโครงการ KidSTART สร้างพื้นฐานการศึกษาที่เข้มแข็งตั้งแต่เยาว์วัย ขยายอายุเข้าเรียนในสถานศึกษาของรัฐ/รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 3-4 ปี จากเดิมที่ 5-6 ปี เน้นการพัฒนาความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับศักยภาพของเด็กแต่ละคนที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ลดภาวะความเครียดของเด็กจากการแข่งขันเพื่อสอบเข้าโรงเรียนที่ดีด้วยการทำให้ “ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ดี” ผ่านการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและครูทั่วประเทศ เปลี่ยนวิธีวัดผลการเรียนให้แสดงถึงศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของเด็กได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงพัฒนาโครงการ SkillsFuture เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทุกช่วงวัย โดยร่วมมือกับเอกชนจัดทำโครงการฝึกอบรมทักษะ สนับสนุนการลางานเพื่อฝึกอบรม เพื่อเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ไม่ต้องยึดติดกับผลการเรียนหรือวุฒิการศึกษาในอดีต

นิยามใหม่ของความสำเร็จ (new definition of success) จะส่งเสริมแนวคิดเรื่องความสำเร็จที่แตกต่างกันไปตามความสามารถของแต่ละคน ผ่านการลดช่องว่างทางรายได้ของกลุ่มวิชาชีพ และการให้ accreditation เพื่อแยกระดับความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือ เช่น ช่างไฟ ช่างประปา การลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวะ/โพลีเทคนิคกับมหาวิทยาลัย และย้ำว่าการผลักดันนิยามใหม่ของความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้จริงจำเป็นต้องพึ่งความเสียสละของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะในฐานะผู้บริโภค ซึ่งจะต้องแบกรับราคาสินค้าและบริการที่จะสูงขึ้น โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะบริหารการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางในช่วงเปลี่ยนผ่าน

แนวทางใหม่ในการสนับสนุนทางสังคม (new approach for social support) เปลี่ยนจากการให้ความช่วยเหลือทางสังคม (social assistance) มาเป็นการเสริมพลังทางสังคม (social empowerment) เพื่อให้ประชาชน รวมถึงกลุ่มคนพิการ สามารถพึ่งพาและพัฒนาตนเองได้มากขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่รัฐบาลสิงคโปร์จะเร่งปรับปรุง ได้แก่ ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการดูแลสุขภาพ ในส่วนของที่อยู่อาศัย จะควบคุมราคาให้อยู่ในระดับที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ และเร่งก่อสร้างบ้านการเคหะสิงคโปร์ที่ถูกผลกระทบจากโควิด-19 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ตกงานที่มีความสมดุลระหว่างการสร้างมั่นคง/ปลอดภัย แต่ไม่มากจนทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะกลับเข้าตลาดแรงงาน

แนวทางใหม่ในการดูแลผู้สูงอายุ (new approach to caring for our seniors) สังคมสูงอายุเป็นประเด็นเร่งด่วนของสิงคโปร์ ภายในปี 2573 ชาวสิงคโปร์ร้อยละ 25 จะมีอายุมากกว่า 65 ปี แนวทางที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการคือ โครงการ Healthier SG เพื่อดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยหนุ่มสาวแบบมาตรการเชิงป้องกัน (preventive healthcare) รวมถึงการดูแลสุขภาพจิต โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสาธารณสุขเพื่อผู้สูงอายุ 4 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างบ้านพักคนชราในชุมชนเพิ่มเติม (2) การขยายเครือข่ายศูนย์ Active Aging Centers (3) การเพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และ (4) การร่วมมือกับหุ้นส่วนชุมชนพันธมิตรในชุมชนเพื่อป้องกันความเหงาและภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม

ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม (new emphasis on Collective Responsibility) โดยรัฐบาลสิงคโปร์ ขอให้ประชาชนคิดถึงตัวเองให้น้อยลงและคิดถึงส่วนรวมให้มากขึ้นทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ บริษัทเอกชน สหภาพแรงงาน ชุมชน และประชาสังคมจะต้องสามัคคีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความเสียสละและจิตอาสา (philanthropy and volunteerism) หรือการสร้างโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมกำหนดนโยบายและสร้างสรรค์สังคม เช่น การบริหารจัดการพื้นที่ชุมชน และการให้พื้นที่เยาวชนเสนอแนวคิดเชิงนโยบายและสร้างอนาคตของสิงคโปร์

ข้อมูลเพิ่มเติม/ ข้อสังเกต

รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักดีว่า สิงคโปร์กำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แนวคิด Meritocracy ที่เป็นกรอบนำทางนโยบายการพัฒนาของสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกหลานของกลุ่ม expat และชาวสิงคโปร์ที่มีรายได้สูง มักจะได้รับโอกาสทางการศึกษาและการทำงานที่ดีต่อไป ในขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อยมักขาดโอกาสเติบโตทางอาชีพ ต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีความกังวลต่อการออมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณด้วย ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ดังปรากฏในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลสิงคโปร์กำลังจะหันไปดำเนินแนวทางรัฐสวัสดิการมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งทั้งประธานาธิบดี Yacob และรองนายกรัฐมนตรี Wong ต่างย้ำอย่างหนักแน่นว่า สิงคโปร์จะยังคงยึดมั่นกับแนวคิด Meritocracy โดยไม่ใช้แนวทางรัฐสวัสดิการเหมือนกลุ่มประเทศยุโรปและนอร์ดิก และจะไม่เพิ่มภาระด้านภาษีแก่ประชาชนโดยประเทศเหล่านั้นใช้งบประมาณมากกว่าร้อยละ 40 ของ GDP เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชน โดยเก็บภาษีเงินได้สูงถึงร้อยละ 30-50 และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT/GST) ร้อยละ 20–25 เทียบกับสิงคโปร์ที่ใช้งบประมาณเพื่อสวัสดิการร้อยละ 18 เก็บภาษีเงินได้สูงสุดร้อยละ 22 และ GST ร้อยละ 8 เท่านั้น

การกล่าวของผู้นำระดับสูงของสิงคโปร์ในครั้งนี้ เป็นการสื่อสารกับประชาชนเพื่อ (1) ย้ำว่ารัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประชาชนกำลังเผชิญ ได้แก่ ระบบการศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และการดูแลผู้สูงอายุ และจะดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความกังวลของคนสิงคโปร์ในทุกช่วงวัยและสาขาอาชีพ (2) ส่งสัญญาณต่อนักลงทุน บริษัทข้ามชาติ และกลุ่ม expat ว่า สิงคโปร์จะไม่หันไปดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการและสร้างภาระทางภาษี เพื่อป้องกันการไหลออกของการลงทุน และ (3) กระตุ้นให้คนสิงคโปร์วางแผนทางการเงินและการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท สร้างสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการเสียสละเพื่อส่วนรวม


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง