รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ แถลงแนวทางการพัฒนาระบบงานและระบบการศึกษาในสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนา Singapore Perspective ค.ศ. 2023 จัดโดยสถาบันนโยบายศึกษาสิงคโปร์ (Institute of Policy Studies – IPS) หัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้คือเรื่อง “งาน” (Work) โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ความท้าทายในการบริหารจัดการงานในสิงคโปร์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์กล่าวว่าโลกเข้าสู่ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของทุกอุตสาหกรรม แม้ตนจะไม่เชื่อในอนาคตที่หมดหวัง (dystopian future) ว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่คนในการทำงานทั้งหมด แต่ธรรมชาติของงานต่าง ๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไป

ความท้าทายของตลาดงานในสิงคโปร์ในทัศนะของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมี 3 ประการ ได้แก่

(1) อนาคตของงาน ความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยีได้สร้างความกังวลให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลาง (mid-career) ที่ไม่สามารถปรับตัวหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์งานที่เปลี่ยนแปลงไป

(2) ความมั่นคงในชีวิตหลังเกษียณ ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำและผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เผชิญกับปัญหาในการดูแลประชาชนหลังเกษียณ ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund – CPF) แต่ประชาชนบางส่วนยังมีความไม่มั่นใจในชีวิตหลังเกษียณและประชาชนบางส่วน เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ (เช่น พนักงานขับรถ Grab) ก็ไม่สามารถลงทุนใน CPF ได้

 (3) ค่าตอบแทนในการทำงาน แม้รัฐบาลสิงคโปร์พยายามสร้างผลตอบแทนที่ยุติธรรมและเท่าเทียมมากขึ้น ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ในสิงคโปร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงต้องกำหนดนโยบายด้านนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางรายได้ อาทิ กลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีมีค่ามาตรฐานของรายได้สูงกว่ากลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาจากโพลีเทคนิค (สายอาชีวะ) ถึง 1.5 เท่า ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาสายอาชีวะรู้สึกกดดันว่าต้องไปสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจไม่ตรงกับความถนัดหรือความสนใจของตน ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องพัฒนาตลาดงานและสายอาชีพให้เหมาะสมกับการเติบโตของแรงงานทุกกลุ่ม

แนวทางการพัฒนาตลาดงานในสิงคโปร์  3 ประการ

รัฐบาลสิงคโปร์จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในการเสริมสร้างทักษะและทรัพยากรบุคคล ผ่านโครงการ SkillsFuture ได้แก่ (1) การเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะเพื่อก้าวทันยุคสมัย (2) การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการฝึกอบรม/การเพิ่มทักษะ (upskill/reskill) (3) การสนับสนุนการจ้างงานใหม่ (re-employment) มากกว่าการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ว่างงาน (unemployment benefits) (4) การสนับสนุนให้นายจ้างลงทุนในการฝึกอบรมพนักงาน (5) การสื่อสารข้อมูลในตลาดแรงงานและพัฒนาระบบการจัดหางาน ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ย้ำถึงบทบาทของนายจ้างที่จะต้องสนับสนุนให้ลูกจ้างได้ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ ทั้งการจ่ายเงินเดือนในช่วงการลาไปอบรมและการอนุญาตให้ไปอบรมได้ เนื่องจากการอบรมควรมีความเข้มข้นและอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์

รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดทำโครงการที่คลอบคลุมประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภายหลังการเกษียณ ได้แก่ (1) คนรุ่นบุกเบิก/สร้างชาติ โดยจัดทำโครงการ Pioneer Generation/Merdeka Generation Packages ที่ให้หลักประกันทางรายได้ การแพทย์ และส่วนลดในระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะ (2) คนในวัย 50 – 65 เป็นมาตรการเพิ่มความสามารถในการจ้างงานและการออม CPF และ (3) ผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการ Workfare ที่รัฐบาลเพิ่มเงินออม CPF ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และ Progressive Wages Model ซึ่งเป็นโครงการอบรมเพิ่มทักษะแรงงานเพื่อให้สามารถทำงานที่ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์กำลังศึกษาแนวทางเพื่อส่วนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Gig Workers) ผู้พิการ และผู้อนุบาลเด็กหรือผู้สูงอายุ ให้มีการเงินลงทุนเพื่อการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณเพิ่มเติม ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลสิงคโปร์ คือ การให้หลักประกันแก่ชาวสิงคโปร์ทุกคนว่า หากลงทุนออมเงินใน CPF อย่างต่อเนื่อง ประชาชนจะมีเงินเพียงพอต่อความต้องการพื้นฐานในยามเกษียณได้

รัฐบาลสิงคโปร์จะเน้นการพัฒนางานให้มีคุณภาพในทุกสายงานและสร้างสายงานที่ชัดเจนแก่อาชีพต่าง ๆ  กล่าวคือ คนทำงานในทุกสายอาชีพล้วนมีศักยภาพ มีคุณค่า และควรได้รับค่าตอบแทนที่มั่นคง โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะเน้นการลดช่องว่างของรายได้ระหว่างกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาจากสายอาชีพอย่าง Institute of Technical Education (ITE) หรือโพลีเทคนิค กับผู้สำเร็จการศึกษาสายสามัญ/จากมหาวิทยาลัย และสร้างสายงานที่ชัดเจนขึ้น อาทิ ครูโรงเรียนประถมอาจพัฒนาสายงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิเศษ หรือมีสายงานระดับบริหารรองรับ อาทิ หัวหน้า/ผู้ฝึกอบรมครู เป็นต้น รัฐบาลสิงคโปร์ร่วมกับพันธมิตร เช่น สมาคม SGTech และ Singapore Computer Society เพื่อพัฒนางานในภาคเอกชนแก่นักศึกษาโพลีเทคนิคช่วง 3 ปีต่อจากนี้ด้วย

นโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสิงคโปร์  

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 นาย Chan Chung Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน IPS เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาของสิงคโปร์ในอนาคต โดยคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ (1) โลกแห่งอนาคต (Future World) จะเปลี่ยนแปลงไปโดยระบบดิจิทัล กายภาพ และการผลิตจะเชื่อมโยงกันมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงสำคัญยิ่ง (2) สังคมสิงคโปร์ (Our Society) มีความหลากหลายและการแข่งขันสูงขึ้น ระบบการศึกษาสิงคโปร์ควรช่วยให้ประชากรเข้าใจโลกตามความเป็นจริง แต่ไม่ส่งเสริมแนวคิดที่รัฐบาลคอยโอบอุ้มประชาชนมากเกินไป และ (3) อนาคตของงาน (Future of Work) ความเชื่อมโยงทางดิจิทัลช่วยเพิ่มศักยภาพของการทำงานผ่านระบบทางไกล รัฐบาลสิงคโปร์จึงควรเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อและทำงานร่วมกับกลุ่มผู้มีความสามารถจากทั่วโลก

รัฐบาลสิงคโปร์จะดำเนินนโยบายการศึกษาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง 5 ประการ ได้แก่ (1) การปรับปรุงการศึกษาให้ตอบโจทย์ประชาชนให้มากที่สุด โดยเน้นการลงทุนในการศึกษาสำหรับเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนด้อยโอกาส รวมทั้งนำระบบ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อดึงศักยภาพสูงสุดของนักเรียนแต่ละคนออกมา (2) การศึกษาที่ช่วยวางรากฐานความสําเร็จในชีวิตของเด็กนักเรียน ตั้งแต่อยู่ในช่วง 15 ปีแรกในโรงเรียน จนถึง 50 ปีถัดไปนอก โรงเรียน (3) การเพิ่มความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม (4) การสร้างพันธมิตรทางการศึกษาและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายซึ่งเป็นจุดแข็งของสังคมสิงคโปร์ และ (5) การลงทุนในการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการสนับสนุนนวัตกรรมการสอน และยกระดับทักษะของคณาจารย์ เช่น โครงการ Teacher Work Attachment Plus ที่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่การศึกษาร่วมงานในองค์กรที่หลากหลาย

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

การกำหนดหัวข้อของ IPS ในปีนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบงานและระบบการศึกษาในสิงคโปร์ สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (hyper-aged society) และขาดแคลนแรงงานในหลายภาคธุรกิจ ทั้งนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ประกาศอัตราคาดการณ์การเติบโตของ GDP สิงคโปร์ ปี 2566 ว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.5 ถึง 2.5 ซึ่งเติบโตได้ไม่ดีเท่าปีที่ผ่าน ๆ มา (ร้อยละ 7.6 ในปี 2564 และร้อยละ 3.6 ในปี 2565) การชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้เกิดจากภาคการผลิตและการส่งออกที่หดตัวลงเพราะสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ภาคเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนของตลาดงานในสิงคโปร์ในปีนี้ด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง