การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพรวมของภาคบริการสุขภาพ

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตสูงระดับโลก เช่นเดียวกับไอซ์แลนด์และสวีเดน (จากวารสารการแพทย์ The Lancet ปี 2559) นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ยังมีอายุขัยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก โดยเพิ่มขึ้นจาก 75.6 ปี ในปี 2542 เป็น 82.9 ปี ในปี 2559 อัตราการตายของทารกลดลงจาก 3.3 เป็น 2.4 ต่อการเกิด 1,000 คน ในปี 2558 บุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนมากกว่า 90,000 คน และในระหว่างปี 2559 ถึง 2563 มีบุคลากรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30,000 คน

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ทีมวิจัยของบริษัทการเงิน RHB ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจภาคบริการสุขภาพ (healthcare) ล่าสุดว่า ความต้องการด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง กอปรกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์จะส่งผลให้รายได้ของวิสาหกิจภาครัฐและเอกชนด้านบริการสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งฝ่ายการลงทุนของ RHB ยังวิเคราะห์ว่า หลักทรัพย์ของกลุ่มบริษัท healthcare และโรงพยาบาล ถือเป็นกลุ่มที่น่าลงทุน เช่น Raffles Medical Group ของสิงคโปร์ IHH Healthcare ของมาเลเซีย Medikaloka Hermina ของอินโดนีเซีย และ Bangkok Dusit Medical Services (BDMS) ของประเทศไทย

นอกจากนี้ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักวิเคราะห์คาดว่า การรักษาและบริการเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ (noncommunicable diseases – NCDs) ยกเว้นโควิด-19 จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุดใน 4 ประเทศดังกล่าว ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง การขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanisation) ก่อให้เกิดวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ความเครียดและความกดดัน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น1

แหล่งที่มา: The Business Times, Pixabay

นักวิเคราะห์ของ RHB ยังตั้งข้อสังเกตว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการส่งมอบบริการด้านการดูแลสุขภาพจะเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งการแพทย์ทางไกล (telemedicine) การร่วมมือกับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพ (healthtech) ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพ

สถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) ในสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ชั้นนำของโลก สมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism Association) เผยแพร่ดัชนีการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism Index) ปี 2563 ว่า สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่สองรองจากแคนาดาโดยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิงคโปร์ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ประมาณ 500,000 คนต่อปี โดยเป็นชาวอินโดนีเซียถึง 250,000 คน (50%)

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางมารักษาตัวในสิงคโปร์ลดลงอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากออกมาตรการห้ามนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และผู้เดินทางระยะสั้นเดินทางเข้าประเทศของสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 จนถึงต้นปี 2565 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สิงคโปร์เปิดใช้ช่องทางพิเศษผู้ได้รับวัคซีนแล้ว (VTL) กับอินโดนีเซียในเดือนธันวาคม 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงการผ่อนคลายมาตรการเข้าเมืองจนเกือบเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2565 ทำให้ผู้ป่วยต่างชาติกลับเข้ามารักษาพยาบาลในสิงคโปร์มากขึ้น โดยเดินทางมาจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม ลาว และอินเดีย

นายแพทย์ Wong Seng Weng ผู้อำนวยการด้านการแพทย์และที่ปรึกษาด้านเนื้องอกวิทยาของ The Cancer Centre ภายใต้กลุ่ม Singapore Medical Group กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยต่างชาติอาจมีสาเหตุจากปัจจัยภาวะโรคระบาดที่ผ่อนคลายลงทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาพยาบาลในต่างประเทศมากขึ้น และประเทศในภูมิภาคต้องจัดสรรทรัพยากรทางสาธารณสุขไปรับมือกับโควิด-19 ด้านโรงพยาบาล Raffles ของสิงคโปร์ คาดว่าผู้ป่วยต่างชาติที่คิดเป็น 25% ของผู้ป่วยทั้งหมดในโรงพยาบาลจะเพิ่มมากขึ้นหลังช่วงเทศกาลรอมฎอน และเมื่อจีนเปิดพรมแดนอีกครั้ง นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ในสิงคโปร์เริ่มปรับตัวกับรูปแบบการรักษาที่เปลี่ยนไป เดิมทีผู้ป่วยต่างชาติจะบินเข้ามาเพื่อรับคำปรึกษาครั้งแรก ปัจจุบัน ผู้ป่วยจำนวนมากจะรับคำปรึกษาผ่านระบบทางไกลก่อน เช่น Zoom เพื่อให้ทราบแนวทางการรักษาและข้อมูลประกอบก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางมายังสิงคโปร์

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต


เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ได้จัดทำโครงการ Wellness Festival สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นเมืองสวรรค์แห่งการมีสุขภาพดี (Urban Wellness Haven) อย่างครบวงจร นอกจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง Enterprise Singapore สภาศิลปะแห่งชาติ การกีฬาแห่งสิงคโปร์ และบริษัท Sentosa Development Corporation ได้ร่วมกันจัดทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วสิงคโปร์ เช่น (1) The Wellness Sensorium ซึ่งจะแบ่งเป็น 6 เขตพื้นที่ในการสาธิตการทำอาหารและโภชนาการที่ดีและการนั่งสมาธิรวมถึงจุดถ่ายรูปสำหรับลงในสื่ออินสตาแกรม (2) Zentosa Fest ของ Sentosa ซึ่งจะเปลี่ยนเกาะให้เป็นพื้นทีสันทนาการ รวมถึงพื้นที่หยุดความเครียด “Stress Stop” และกิจกรรมริมชายหาดเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตแบบรักสุขภาพ และ (3) Merli Wellness Trails เส้นทางเดินสีเขียว 3 เส้นทาง ทั้งในสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ สวน HortPark-Harbourfront และอุทยาน Fort Canning โดยมีกิจกรรมตอบคำถามเพื่อแลกเข็มกลัด Merli สิงโตทะเลน่ารักที่เป็นสัญลักษณ์ mascot ของสิงคโปร์

ประเทศไทยมีศักยภาพด้านสาธารณสุขที่ดียิ่งและมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลกในปี 2565 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมีโอกาสฟื้นตัวเช่นเดียวกับสิงคโปร์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่บรรเทาลง ซึ่งภาครัฐและเอกชนของไทยสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เช่น การกำหนดเขตเมืองท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด การก่อตั้งสมาคมเฮลท์เทคไทย (Health Tech Startups Thailand) เมื่อปี 2561 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ภาคเอกชนสตาร์ทอัพของไทยได้รวมตัวกันเพื่อยกระดับเทคโนโลยีด้านสุขภาพอย่างมีทิศทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ในขั้นต่อไปกลุ่มผู้ให้บริการด้านสุขภาพ สามารถใช้โอกาสจากการฟื้นตัวของภาคการดูแลสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นี้ ในการขยายธุรกิจและเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กรโดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และประชาสัมพันธ์บริการเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการกระชับความร่วมมือหรือศึกษาแนวทางจากประเทศที่มีแนวความคิดใกล้เคียงกัน เช่น สิงคโปร์


1 นอกจากปัจจัยการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและก่อให้เกิดความเครียดในเมืองแล้ว โครงสร้างทางประชากรศาสตร์ที่ประเทศส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการเจ็บป่วยในผู้ป่วยสูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องมาพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เช่น โรคความดัน เบาหวาน หลอดเลือด ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ระหว่างปี 2558 – 2593 สัดส่วนของประชากรโลกที่อายุมากกว่า 60 ปีจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 12% เป็น 22% และภายในปี 2563 ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนมากกว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง