สิงคโปร์จัดสรรงบประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เน้นการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ทั้งในด้าน MICE เมืองสุขภาพ และเมืองยั่งยืน

สื่อมวลชนท้องถิ่นของสิงคโปร์รายงานเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ว่า การท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) ในปี 2565 ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และตั้งเป้าหมายเป็น “Global-Asia node” ด้านการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (business tourism) โดยเฉพาะเน้นใน 3 ด้าน คือ (1) การประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้าและนิทรรศการขนาดใหญ่ (MICE) (2) สวรรค์แห่งเมืองสุขภาพ (Urban Wellness Haven) และ (3) การสร้างเมืองที่ยั่งยืน ดังนี้

1. การพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นสถานที่จัด MICE ที่ดีที่สุด

สิงคโปร์มองว่าการประชุมผ่านระบบทางไกล เช่น Zoom ยังคงมีข้อจำกัดและการหารือแบบพบปะกันในสถานที่จริงยังคงจำเป็นต่อการเจรจาทางธุรกิจ การสร้างบรรยากาศและการสร้างยอดขาย ดังนั้น สิงคโปร์จึงได้เริ่มจัดงาน MICE แบบ physical event ในสิงคโปร์มากขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์ผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศเมื่อ 1 เมษายน 2565 จนเกือบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยสิงคโปร์จะรวบรวมนักธุรกิจชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลกมาเข้าร่วมงาน MICE ต่าง ๆ ในปีนี้ โดยเน้นงาน MICE แห่งอนาคต เช่น ความยั่งยืน การพัฒนาเมือง ความมั่นคงด้านอาหาร และพลังงาน

ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2565 สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน MICE ที่สำคัญ 3 รายการ โดยคาดว่าจะมีผู้มาเข้าร่วมรวมกันมากกว่า 25,000 คน ได้แก่ (1) งานสัปดาห์น้ำนานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Water Week) (2) การประชุมสุดยอดพลังงานสะอาดสิงคโปร์ (CleanEnviro Summit Singapore) และ (3) งานเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล Asia Tech x Singapore ส่วนในช่วงปลายปี 2565 สิงคโปร์มีแผนจะจัดงาน International Young Lawyers Congress ครั้งที่ 60 งานสัมมนา Global Health Security Conference และ Singapore FinTech Festival เป็นต้น

2. การสร้างสวรรค์แห่งเมืองสุขภาพ

STB ต้องการส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นเมืองศูนย์กลางด้านสุขภาพ สำหรับทั้งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการ Wellness Festival Singapore ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งผู้ร่วมงานจากทั้งในและต่างประเทศ จะสามารถสัมผัสประสบการณด้านสุขภาพและการแพทย์ใหม่ ๆ ได้ตามสถานที่ท่องเที่ยวทั่วสิงคโปร์ เช่น multi-sensory pop-up ที่สวนพฤกษศาสตร์ Gardens by the Bay เทศกาล Livewell Festival ที่ Sentosa และโปรแกรมศิลปะและสุขภาพที่หอศิลปะแห่งชาติ (National Gallery)

นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้จัดการประมูลราคาที่ดินเปล่าข้าง Somerset Skate Park บนถนน Orchard ซึ่งผู้ชนะและได้รับอนุญาตให้ทำการปรับปรุงที่ดิน คือ บริษัทสินค้าด้านการเดินทางและกีฬา The Ride Side ซึ่งจะพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นศูนย์กีฬาแบบบูรณาการที่มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น สเก็ต เล่นเซิร์ฟ สกี และสโนว์บอร์ด

ภาพจำลองสนามสโนว์บอร์ด
แหล่งที่มา: Trifecta by The Ride Side (https://trifectasingapore.com/sneak-peek)
ภาพจำลองสนามเซิร์ฟบอร์ด
แหล่งที่มา: Trifecta by The Ride Side (https://trifectasingapore.com/sneak-peek)

3. การสร้างเมืองที่ยั่งยืน

ความยั่งยืนเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งขึ้นสำหรับผู้เดินทาง สิงคโปร์ส่งเสริมให้ภาคการท่องเที่ยวดำเนินการตามแผนสิงคโปร์สีเขียว (Singapore Green Plan) ค.ศ. 2030 เพื่อสร้างกลยุทธ์ความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวได้ โดยในปี 2565 (1) สิงคโปร์จะเข้าร่วมการจัดอันดับดัชนีเมืองที่หมายแห่งความยั่งยืนโลก (Global Destination Sustainability Index) เป็นครั้งแรก เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพด้านเมืองที่ยั่งยืนของสิงคโปร์กับเมืองที่เป็นแหล่ง MICE ในประเทศและดินแดนต่าง ๆ ซึ่งดัชนีจะวัดผลและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงแผนงานการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ได้ต่อไป และ (2) สิงคโปร์จะเริ่มยื่นขอรับการรับรองว่าสิงคโปร์เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนภายใต้หลักเกณฑ์และมาตรฐานของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั่วโลก (Global Sustainable Tourism Council’s Destination) 

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

นาย Alvin Tan รัฐมนตรีแห่งรัฐ (Minister of State) ประจำกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์กล่าวว่า รัฐบาลสิงคโปร์มีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการยกเว้นค่าเช่า ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับภาคการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมพัฒนางานและศักยภาพของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 คิดเป็นงบประมาณรวม 500,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ปัจจุบัน ภาคการท่องเที่ยวของสิงคโปร์เริ่มฟื้นตัว โดยสิงคโปร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก และอาศัยความได้เปรียบด้านความเร็วในการเปิดเมืองก่อนกรุงโตเกียวและนครดูไบซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ

สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า สิงคโปร์มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน คือ เน้นการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจทั้งการจัด MICE เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนจากทั่วโลกให้เดินทางมาสิงคโปร์ การพัฒนาเมืองด้าน Wellness และเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวของสิงคโปร์เอง

สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่าการท่องเที่ยวของสิงคโปร์น่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้ แต่จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้รวดเร็วนัก โดยนาย Jesper Palmqvist ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของบริษัทวิจัยตลาด STR ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวสิงคโปร์จะเติบโตเทียบเท่าระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ในปี 2566 เนื่องจากผู้เดินทางจากตลาดต้นทางที่สำคัญของสิงคโปร์ เช่น อาเซียนและจีนยังมีไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด -19 ที่รุนแรงในนครเซี่ยงไฮ้ จนทำให้เกิดการล็อกดาวน์  

สำหรับประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเตรียมแผนสำหรับปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวโดยเน้นคุณภาพและความยั่งยืน (high-value & sustainable tourism) ภายใต้แผน 3R ประกอบด้วย 1. Reopen (ไตรมาสที่ 3/2564) ซึ่งเป็นช่วงทดลองเปิดภายใต้นโยบาย Phuket Sandbox 2. Recover (ไตรมาสที่ 4/2565) เป็นช่วงการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และ 3. Resilient (ปี 2566-2570) เป็นช่วงการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและความยั่งยืน  ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของไทยที่มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่เพียบพร้อมและอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังสอดคล้องแผนการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศยังคงต้องติดตามพัฒนาการเรื่องการกลายพันธุ์ของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการเปิดเมืองและภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง