กฎหมายแรงงานและการว่าจ้างแรงงานทั่วไป

กฎหมายจ้างงาน (Employment Act)

เป็นกฎหมายแรงงานหลักของสิงคโปร์ โดยจะให้ความคุ้มครองขั้นพื้นฐานแก่ลูกจ้างที่มีสัญญาการจ้างงานกับนายจ้าง ซึ่งผู้ที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง คือ ลูกจ้างทั้งท้องถิ่นและชาวต่างชาติ ซึ่งอาจจะจ้างงานทั้งแบบเป็นพนักงานเต็มเวลา (Full Time)  พนักงานที่ทำงานไม่เต็มเวลา (Part Time) พนักงานชั่วคราว (Temporary) หรือพนักงานตามสัญญาจ้างแต่ละครั้ง (Contract)

อนึ่ง ผู้ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานนี้ คือ ลูกจ้างระดับบริหาร (Manager or Executive) ที่มีเงินเดือนขึ้นต่ำมากกว่า 4,500 ดอลลาร์สิงคโปร์  กะลาสีเรือ (Seafarer)  คนรับใช้ (Domestic Worker) และข้าราชการและลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาจ้างงาน (Employment Contract) โดยสัญญาว่าจ้างดังกล่าวจะต้องมีเงื่อนไขและข้อตกลงไม่น้อยไปกว่าข้อกำหนดในกฎหมายว่าจ้างงาน

ทั้งนี้ ข้อมูลสำคัญๆ ในการจ้างงานจะแสดงถึงเงื่อนไขและข้อตกลง อาทิ

สัญญาจ้าง คือ ข้อผูกพันระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ในเรื่องเงื่อนไขของการจ้าง ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยข้อกำหนดในเงื่อนไขการจ้างจะต้องไม่น้อยกว่าที่กฎหมายแรงงานระบุไว้ ซึ่งส่วนประกอบสำคัญของสัญญาจ้างควรประกอบด้วย วันเริ่มต้นของสัญญาจ้าง ตำแหน่งงาน หน้าที่และความรับผิดชอบ ระยะเวลาทดลองงาน ชั่วโมงทำงาน ค่าจ้าง โบนัส  ค่าตอบแทน การทำงาน ล่วงเวลา วันหยุด วันลา  การสิ้นสุดสัญญา ผลตอบแทนเมื่อเลิกจ้าง เกษียณอายุ ลาคลอด ลาดูแลบุตร

การยกเลิกสัญญาจ้าง การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยกเลิกสัญญาจ้าง จะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระยะเวลาที่แจ้งล่วงหน้าขึ้นอยู่กับสัญญาจ้าง หากไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่ทำกันด้วยวาจาแทน ทั้งนี้ ตามการปฏิบัติทั่วไปจะแจ้งก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

นอกจากนี้ใน Part IV ของกฎหมายว่าจ้างนี้ ยังให้การคุ้มครองเพิ่มเติมในเรื่องของชั่วโมงทำงาน วันหยุดพักผ่อน วันหยุดประจำปีและผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ลูกจ้าง โดยครอบคลุมกลุ่มแรงงาน แบ่งออกได้ดังนี้

  • คนงาน (doing manual labour) ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 4,500 ดอลลาร์สิงคโปร์
  • ลูกจ้างที่มิใช่คนงานแต่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายจ้างงานและมีเงินเดือนขั้นต่ำไม่เกิน 2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์

 กรณีที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายการจ้างงาน ได้แก่ :

  • ผู้จัดการหรือผู้บริหารที่มีเงินเดือนขั้นต่ำรายเดือนมากกว่า 4,500 ดอลลาร์สิงคโปร์
  • กะลาสี
  • แรงงานในบ้าน
  • พนักงานตามกฎหมายหรือข้าราชการพลเรือน

ทั้งนี้หากไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัญญาการจ้างงาน

ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานที่นายจ้างต้องคำนึงถึง

การจ่ายเงินเดือนและเงินเพิ่มอื่น ๆ กฎหมายแรงงานสิงคโปร์ไม่มีการกำหนดขั้นต่ำของเงินเดือน ขึ้นอยู่กับอัตราตลาดการจ้างงานและ/หรือข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่อย่างไรก็ตามเงินเดือนจะต้องจ่ายภายใน 7 วันของเดือนถัดไป ส่วนเงินค่าล่วงเวลา จะต้องจ่ายภายใน 14 วันของเดือนถัดไป สำหรับการจ่ายโบนัสประจำปีโดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทต่าง ๆ ในสิงคโปร์จะจ่ายโบนัสเป็นเงินเท่ากับเงินเดือน 1 เดือนหรือที่เรียกกันว่า เงินค่าจ้างเดือนที่ 13 และอาจเพิ่มให้โบนัสพิเศษ หากบริษัทได้ผลกำไรมาก ซึ่งอัตราของโบนัสพิเศษตามแต่บริษัทพิจารณาเป็นกรณีไป

ชั่วโมงในการทำงาน ตามกฎหมายอนุญาตให้ทำงาน 8–9ชั่วโมงต่อวันหรือ 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และไม่อนุญาตให้ทำงานเกินวันละ 12 ชั่วโมง (รวมชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาด้วย) อีกทั้งไม่อนุญาตให้ลูกจ้างทำงานติดต่อกันเกิน 6 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาหยุดพัก ซึ่งช่วงเวลาพักอย่างน้อย 45 นาที   

การทำงานล่วงเวลา ในการทำงานล่วงเวลานั้น ทำได้สูงสุดไม่เกิน 72 ชั่วโมงต่อเดือน โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาสำหรับวันปกติในอัตรา 1.5 เท่าของอัตราวันปกติต่อชั่วโมง และสำหรับวันหยุดราชการหรือวันหยุดพิเศษ นายจ้างต้องจ่ายในอัตรา 2 เท่าของอัตราวันปกติต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาภายใน 14 วันของเดือนถัดไป

  • การเกษียณอายุและการต่อสัญญาการว่าจ้างใหม่ ภายใต้ระเบียบ Retirement and Re-employment Act (RRA) อายุขั้นต่ำของการเกษียณอายุคือ 62 ปี อย่างไรก็ดี นายจ้างจำเป็นที่จะ ต้องเสนอต่ออายุการจ้างงานให้แก่ลูกจ้างที่อายุครบ 62 ปี ต่อไปอีก ทุกปี จนลูกจ้างมีอายุครบ 65 ปี ซึ่งลูกจ้างที่สามารถได้รับการต่ออายุการจ้างงานจะต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้
  • เป็นชาวสิงคโปร์ หรือผู้ถือบัตรพำนักถาวรในสิงคโปร์
  • ทำงานในองค์กรนั้นๆ อย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะมีอายุครบ 62 ปี
  • ผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งได้รับการประเมินผลจากนายจ้าง
  • เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้

อนึ่ง กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษไว้ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม จะถือว่ามีความผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับและในภายหลังหากมีความผิดตามมาตราเดียวกันอีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 12  เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำและปรับ ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ต่ออายุการจ้างลูกจ้างฯ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินช่วยพิเศษครั้งเดียวให้แก่ลูกจ้างฯ โดยเป็นเงินรวมเท่ากับเงินเดือน 3 เดือน หรืออย่างต่ำ 4,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือสูงสุด 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ อีกทั้งนายจ้างต้องให้ความช่วยเหลือลูกจ้างฯเพื่อหางานทำใหม่อีกด้วย

แหล่งที่มา: http://www.mom.gov.sg/employment-practices/employment-act

ข้อกำหนดในการจ้างงานสำหรับพนักงานที่ทำงานไม่เต็มเวลา (Part-Time Employees Regulations)

พนักงานที่ทำงานไม่เต็มเวลา คือพนักงานที่ทำงานตามข้อตกลง/สัญญาจ้างที่มีชั่วโมงในการทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจ้างงาน และในสัญญาจ้างนั้นต้องระบุให้ชัดเจนในประเด็นดังต่อไปนี้

  • ค่าจ้างรายชั่วโมง (ไม่รวมค่าตอบแทนอื่น ๆ) 
  • ค่าจ้างรวม (รวมค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลา โบนัส และอื่น ๆ)
  • จำนวนชั่วโมงทำงานต่อวันหรือสัปดาห์
  • จำนวนวันทำงานต่อสัปดาห์หรือเดือน

ทั้งนี้ จะมีวิธีการคำนวณเรื่องวันหยุดงาน วันหยุดพักผ่อน การลาป่วย อัตราค่าล่วงเวลา ที่อยู่ในอัตราต่ำกว่าลูกจ้างเต็มเวลาประมาณร้อยละ 40

แหล่งที่มา: https://www.mom.gov.sg/employment-practices/part-time-employment

กฎหมายชดเชยเมื่อได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน (Work Injury Compensation Act-WICA)

เป็นกฎหมายที่ช่วยเหลือลูกจ้างในการร้องเรียน/เรียกร้องสิทธิการชดเชยจากการได้รับบาดเจ็บในการทำงานหรือการติดเชื้อโรคจากสถานที่ทำงาน โดยไม่ต้องหาทนายยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่ง ซึ่งกฎหมายจะให้ความคุ้มครองลูกจ้างทุกประเภทที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาจ้างงานหรือผู้ที่ทำสัญญาเป็นลูกมือฝึกงาน แต่จะไม่คุ้มครองผู้รับเหมาอิสระและผู้ประกอบอาชีพส่วนตัว คนรับใช้ ทหารในเครื่องแบบ ตำรวจ กองกำลังรักษาความปลอดภัย สำนักงานยาเสพติดกลาง และผู้ทำงานที่เรือนจำ

โดยการร้องเรียน/เรียกร้องสิทธิในการชดเชย สามารถทำได้แม้ว่าบุคคลนั้นไม่ได้ทำงานให้แก่นายจ้างแล้วหรือบัตรทำงานถูกยกเลิกแล้ว รวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานยังต่างประเทศแล้วประสบอุบัติเหตุ ทั้งนี้ในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน สมาชิกในครอบครัวสามารถเรียกร้องสิทธิในนามของลูกจ้างได้

ผลประโยชน์การชดเชยที่จะได้รับ ดังนี้

  • ค่าจ้างในช่วงที่ต้องหยุดงานจากการได้รับบาดเจ็บหรือติดเชื้อ หากเป็นคนไข้นอก ได้รับค่าจ้างต่ำสุด 14 วัน และสูงสุด 1 ปี  และหากเป็นคนไข้ใน ได้รับค่าจ้างต่ำสุด 60 วัน และสูงสุด 1 ปี
  • ค่ารักษาพยาบาล
  • เงินชดเชยช่วยเหลือเป็นเงินก้อนหนึ่งในกรณีทุพลภาพถาวรหรือเสียชีวิต

แหล่งที่มา: www.mom.gov.sg/workplace-safety-and-health/work-injury-compensation/what-is-wica

กฎหมายด้านสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน (Workplace Safety and Health Act : WSH)

เป็นกฎหมายที่คุ้มครองในด้านความปลอดภัย สุขภาพและสวัสดิการของพนักงานที่ทำงานอยู่ในสถานที่ทำงาน โดยผู้ที่มีสิทธิในบริษัทหรือเจ้าของกิจการจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างเหมาะสมแก่คนงานและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในงาน โดยกฎหมายนี้เป็นโครงสร้างที่จำเป็นในการช่วยปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีด้านความปลอดภัยให้แก่ตนเองตลอดจนสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กร

หลักสำคัญของกฎหมายแบ่งเป็น 3 ประการ คือ 1) ลดต้นเหตุของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยหาทางจำกัดหรือทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด 2) สร้างความตื่นตัวให้แก่สถานประกอบการในการใช้มาตรการความปลอดภัย และ 3) กำหนดบทลงโทษที่หนักขึ้นสำหรับการจัดการด้านความปลอดภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพ

แหล่งที่มา: www.mom.gov.sg/workplace-safety-and-health/workplace-safety-and-health-act