แผน 30 by 30 ด้านความมั่นคงทางอาหารของสิงคโปร์

ช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลก ปี 2551  สิงคโปร์ยังไม่มีความห่วงกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากนัก โดยเห็นว่า หากสิงคโปร์สามารถขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ทุกปี ก็จะมีความมั่งคั่งและสามารถนำเข้าอาหารจากต่างประเทศได้มากขึ้นและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดวิกฤตการเงินโลก ซึ่งประเทศผู้ผลิตอาหารหลายประเทศระงับการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรมายังสิงคโปร์ ทำให้สังคมสิงคโปร์เกิดความกังวลอย่างยิ่งว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารเรื่อยมา จนเกิด H1N1 ซึ่งมาเลเซียประกาศระงับการส่งออกปลามายังสิงคโปร์ และล่าสุด COVID-19 ช่วงกลางปี 2563 ซึ่งสิงคโปร์ก็เผชิญปัญหาเรื่อง Supply Shock อย่างชัดเจน รัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องเร่งเจรจากับต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหา และวางยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารอย่างจริงจัง

โดยที่สิงคโปร์ต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากถึงร้อยละ 90 แต่มีพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศน้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มดำเนินยุทธศาสตร์ “30 by 30” เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร คือ การผลิตอาหารภายในสิงคโปร์ให้ได้ร้อยละ 30 ของการบริโภคภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่งคงและความยืดหยุ่น (resilience) ด้านอาหารให้แก่สิงคโปร์ในระยะยาว ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหาร เพื่อป้องกันปัญหา Supply Shock โดยการกระจายแหล่งนำเข้าอาหารให้มากที่สุด ทำให้ในปัจจุบันสิงคโปร์นำเข้าอาหารจาก 170 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ประมาณ 30 ประเทศโดยแหล่งนำเข้าอาหารที่สำคัญที่สุดของสิงคโปร์ ได้แก่

(1) มาเลเซีย (ผัก ผลไม้ เนื้อไก่ และปลา
(2) บราซิล (เนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมู
(3) ออสเตรเลีย (เนื้อวัวและเนื้อหมู)
(4) อินโดนีเซีย (เนื้อหมูและปลา)
(5) จีน (ผักและผลไม้)
(6) สหรัฐฯ  (เนื้อวัวและเนื้อไก่)
(7) เวียดนาม (ปลา)
(8) แอฟริกาใต้ (ผลไม้) และ                   
(9) ไทย (ผักและข้าว)

การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 30 by 30          

เพื่อบรรลุเป้าหมาย 30 by 30 รัฐบาลสิงคโปร์มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีทางอาหารและการเกษตร (Food Tech and Agri Tech) โดยเฉพาะการผลิตโปรตีนจากพืช (plant-based/cell-based/alternative proteins) และเนื้อสัตว์ทางเลือก (impossible meat/lab meat)  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดพื้นที่ปศุสัตว์ในประเทศ ทั้งยังส่งเสริมการปลูกพืชและผักภายในอาคาร (Indoor Farming) ด้วยวิทยาการใหม่ ๆ ดังนี้          

การพัฒนาโปรตีนทางเลือก/เนื้อสัตว์ทางเลือก

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกของโลกที่อนุญาตให้ขายเนื้อสัตว์ทางเลือกอย่างถูกกฎหมาย เมื่อธันวา 2563 จนถึงปัจจุบัน สิงคโปร์มีบริษัทผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ทางเลือกจดทะเบียนและประกอบธุรกิจแล้ว จำนวน 15 บริษัท เช่น Eat Just, Next Gen, Perfect Day รวมถึง Shiok Meats และ Gaia Foods ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์

ในด้านการวิจัย รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสรรเงินทุน จำนวน 144 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อวิจัยและพัฒนาด้านอาหารภายในปี 2568 นอกจากนี้ หน่วยงาน Enterprise Singapore ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ร่วมมือกับบริษัทอาหารชั้นนำของโลก อาทิ Big Idea Ventures และจัดสรรกองทุน   50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อพัฒนาโปรตีนทางเลือกด้วย

ในด้านการศึกษา เมื่อเดือนเมษายน 2564 สิงคโปร์ได้จัดทำโครงการ Future Ready Food Safety Hub เพื่อศึกษาเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร รวมถึงสนับสนุนภาคเอกชนให้วิจัยเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม เช่นเดียวกับภาควิชาการ โดยมหาวิทยาลัย National Technology University (NTU) ร่วมกับ Good Food Institute Asia Pacific ได้จัดทำรายวิชาเกี่ยวกับอาหารและธุรกิจการผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือก ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี และสถาบัน Republic Polytechnique ซึ่งเป็นวิทยาลัยสายอาชีพได้จัดทำหลักสูตร Urban Agricultural Technology ในระดับอนุปริญญา

Silicon Valley of Food Tech ผู้ประกอบการในสิงคโปร์ เชื่อมั่นว่าสิงคโปร์กำลังพัฒนา ecosystem ด้านเทคโนโลยีอาหารรูปแบบใหม่ ไปสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการผลิตอาหารและการเกษตรของโลก  แม้จะมีขนาดเล็ก โดยธุรกิจเนื้อสัตว์ทางเลือกในสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ บริษัท Next Gen ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจาก Temasek International 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ก็มีแผนจะขยายกำลังการผลิตและตลาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงไทย มาเลเซีย ฮ่องกง และมาเก๊า        

การพัฒนา Indoor Urban Farming

สิงคโปร์ได้จัดทำ Indoor Urban Farming (IUF) แล้ว จำนวน 31 แห่ง โดย 28 แห่งเป็นแปลงปลูกพืชผัก และอีก 3 แห่งเป็นฟาร์มเลี้ยงปลา โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้นในพื้นที่ที่จำกัด (Grow More with Less) โดยสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตมากกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม 10 – 15 เท่า

เทคโนโลยีที่นำมาใช้ใน IUF เช่น การเร่งการเจริญเติบโตด้วยแสง LED การควบคุมอุณหูภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำ ระดับ CO2 และความเป็นกรด-ด่างด้วยระบบเทคโนโลยีการเกษตรและ Internet of Things ซึ่งผู้ประกอบการสิงคโปร์ เรียกว่า crop recipe หรือสูตรในการปลูกพืชผักเพื่อการค้าด้วยเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาแนวคิดการปลูกพืชบนเรือ

ข้อมูลเพิ่มเติม

เมื่อปี 2562 องค์การสหประชาชาติประเมินว่า ภูมิภาคเอเชียมีผู้ขาดสารอาหารมากกว่า 350 ล้านคน และมีประชาชนที่เผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารระดับปานกลางและรุนแรง จำนวนสูงถึง 1,000 ล้านคน

Economist Intelligence Unit (EIU) ได้จัดทำข้อมูลดัชนีความมั่นคงอาหารโลก (Global Food Security Index) ธันวาคม 2563 โดยสำรวจข้อมูลจาก 113 ประเทศ ด้วยหลักเกณฑ์ 5 ประการ ได้แก่ (1) Affordability คือ ความสามารถของผู้บริโภค ในการซื้ออาหาร และความอ่อนไหวต่อ price shocks (2) Availability คือ ปริมาณอาหาร ความเสี่ยงจากผลกระทบต่าง ๆ และการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนผลผลิต (3) Quality and Safety คือ คุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ และ (4) Natural Resources/resilience  คือ ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติด้านอาหาร ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยืดหยุ่น

ประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ โดยสิงคโปร์มีความมั่นคงทางอาหารสูงที่สุดในประเทศในอาเซียน โดยอยู่อันดับที่ 19 ของโลก มาเลเซีย อันดับที่ 43 ไทย อันดับที่ 51 เวียดนาม อันดับที่ 63 อินโดนีเซีย อันดับที่ 65 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 73 กัมพูชา อันดับที่ 81 และลาว อันดับที่ 90 

แหล่งที่มา: Economist Intelligence Unit

ผู้ประกอบการด้านอาหารในสิงคโปร์คาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคว่ามีแนวโน้มจะรับประทานอาหารที่สะอาดและปลอดภัยยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนธันวาคม 2563 YouGov Omnibus ได้สำรวจความเห็นของคนสิงคโปร์จำนวน 1,068 คน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 42 ไม่ประสงค์จะบริโภคเนื้อสัตว์ทางเลือก และผลสำรวจของ Euromointor เมื่อปี 2563 พบว่า ผู้บริโภคในเอเชีย-แปซิฟิก ร้อยละ 36.5 เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ธรรมชาติล้วน (all-natural products) เช่นเดียวกับผู้บริโภคในยุโรป ร้อยละ 33.3 และผู้บริโภคในอเมริกาเหนือ ร้อยละ 28.4 ซึ่งสะท้อนว่า ผู้บริโภคประมาณ 1 ใน 3 ของแต่ละภูมิภาคยังไม่เห็นว่าเนื้อสัตว์ทางเลือกเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่สะอาดและปลอดภัย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง