มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน รวม 4 ครั้ง เป็นเงิน 92,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท) คิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP สิงคโปร์

ประธานาธิบดีสิงคโปร์ได้อนุมัติการใช้เงินทุนสำรอง (National Reserve Fund) รวม 52,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) ในงบประมาณเยียวยาฯ โดยแบ่งเป็นการประกาศเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 จำนวน 21,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และการประกาศเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 จำนวน 31,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นการนำเงินทุนสำรองมาใช้เป็นครั้งแรกหลังเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2552 และเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังได้แถลงงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนต่อรัฐสภาสิงคโปร์ รวม 4 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1: Unity Budget (18 กุมภาพันธ์ 2563) 6,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แบ่งเป็น (1) มาตรการ Stabilisation and Support Package เป็นเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการตกงานและการจ่ายส่วนลดทางภาษีแก่บริษัทของสิงคโปร์ และ (2) มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อุตสาหกรรม เป็นเงิน 2,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ได้แก่ การท่องเที่ยว การบิน อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีก และการคมนาคม (รถบัส รถแท็กซี่ รถเช่าส่วนบุคคล)

ครั้งที่ 2: Resilience Budget (26 มีนาคม 2563) 48,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แบ่งเป็นมาตรการสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ (1) ช่วยเหลือแรงงาน โดยอุดหนุนเงินเดือน 25 – 75% แก่คนชาติสิงคโปร์ 1.9 ล้านตำแหน่ง (2) ช่วยเหลือภาคเอกชน ได้แก่ การผ่อนผันเวลาการชำระภาษีเงินได้ การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การยกเว้นค่าเช่าแก่ร้านขายอาหารในศูนย์อาหาร (hawkers) และการให้เงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ โดยรัฐบาลร่วมประกันความเสี่ยงเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ถึง 90% (3) การเยียวยาประชาชน/ครัวเรือน และ (4) สนับสนุนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่การอัดฉีดเงินให้ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวยังสามารถจ้างงานได้ รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการรถบัสและรถรับจ้างส่วนบุคคล และ(5) ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยลงทุน 1,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ การสาธารณสุข และการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในภาคธุรกิจ SME

ครั้งที่ 3: Solidarity Budget (6 เมษายน 2563) 5,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อรองรับมาตรการ Circuit Breaker (ประกาศโดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อ 3 เมษายน 2563) ซึ่งประชาชนทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น (1) การช่วยเหลือเพื่อคงการจ้างงาน (Job Support Scheme)รัฐบาลสิงคโปร์ขอความร่วมมือนายจ้างให้คงการจ้างงานไว้ให้มากที่สุด โดยจ่ายเงินอุดหนุน 75% ของเงินเดือน 4,600 ดอลลาร์สิงคโปร์แรก ให้กับ workforce สิงคโปร์ทุกคน จำนวน 1.9 ล้านคน ในเดือนเมษายน 2563 และการยกเว้นภาษีการจ้างแรงงานต่างชาติ (foreign worker levy waiver) คนละ 750 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในเดือนมิถุนายน 2563 และคนละ 375 ดอลลาร์สิงคโปร์ในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งต่อมากระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้ประกาศงบประมาณเพิ่มเติมอีก 320 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อขยายการยกเว้นภาษีการจ้างงานแรงงานต่างชาติต่อไปอีก 2 เดือน โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง ซึ่งต้องการแรงงานต่างชาติอย่างมากและเกิดปัญหาการชะงักงัน นอกจากนี้ ยังมีการให้ความช่วยเหลือคนท้องถิ่นที่เป็น freelancer เดือนละ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือนเป็นเวลา 9 เดือน และเงินเยียวยาผู้ตกงาน (สัญชาติสิงคโปร์) เป็นเงิน 800 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือนด้วย (2) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน (Care and Support Package) 1,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์จะแจกเงินแบบให้เปล่าแก่คนสิงคโปร์ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปทุกคน คนละ 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ (2) มาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนและแรงงานเพิ่มเติม อีก 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงการยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ของรัฐสำหรับภาคเอกชน อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม (เมษายน 2563)

ครั้งที่ 4: Fortitude Budget (26 พฤษภาคม 2563) 33,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (รวมเงินช่วยเหลือ 3,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ที่ รองนายกรัฐมนตรีฯ ให้สัมภาษณ์สื่อในช่วงการประกาศขยาย Circuit Breaker อีก 1 เดือน เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563) เพื่อเตรียมการเปิดเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงหลัง Circuit Breaker ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 อย่างไรก็ตาม โดยที่ในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2563 รัฐบาลสิงคโปร์ยังไม่อนุญาตให้ธุรกิจส่วนใหญ่ (ร้านค้าปลีก ภาคบริการ และบริษัทที่ไม่อยู่ใน professional services) เปิดดำเนินการ รัฐบาลสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องเพิ่มเงินช่วยเหลือภาคเอกชนและแรงงานสิงคโปร์กลุ่มนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2563 นอกจากการขยายการจ่ายเงินเยียวยาเช่นเดียวกับงบประมาณ ครั้งก่อนแล้ว Fortitude Budget ยังได้เสนอ (1) SG United Jobs and Skills Package เพื่อ reskill และ upskill โดยจะสร้างงานและการฝึกงานกว่า 117,500 อัตรา (2) Boosting Transformation to Seize new Opportunity คือ การสนับสนุนภาคเอกชน เป็นเงินจำนวน 250 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นแบบดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการให้เงินจูงใจร้านค้าในศูนย์อาหารและตลาดสดที่เปลี่ยนการชำระเป็นแบบ e-payments เป็นเงิน 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นเวลา 5 เดือน และการจ่ายเงิน Digital Resilience Bonus สูงสุด 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ช่วยเหลือภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นดิจิทัล และ (3) การให้เงินเพื่อจ่ายค่าสาธารณูปโภคแก่คนชาติสิงคโปร์ ครัวเรือนละ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ ทุกครัวเรือน

การประกาศงบประมาณเยียวยาเพิ่มเติมในปี 2564

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศการกลับเข้าสู่การเปิดระยะที่ 2 (เฝ้าระวังอย่างยิ่ง) หรือ Phase 2 (Heightened Alert) – P2(HA) ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 13 มิถุนายน 2564  และ 22 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม 2564 โดยให้ทุกคนทำงานที่บ้าน (work from home as a default) ไม่ออกจากที่พักโดยไม่จำเป็น จำกัดจำนวนการรวมกลุ่มในที่สาธารณะไม่เกิน 2 คน และห้ามรับประทานอาหาร/เครื่องดื่มที่ร้านอาหาร รวมทั้งการปิดศูนย์กีฬาและศูนย์ฟิตเนสในอาคาร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ซึ่งติดต่อได้ง่ายและพบอาการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 และ 26 กรกฎาคม 2564 นาย Lawrence Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม เป็นเงินจำนวนมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน การยกเว้นการเก็บค่าเช่าสถานที่แก่ร้านอาหารใน hawker centres และการสนับสนุนธุรกิจบริการและการค้าปลีกซึ่งต้องหยุดกิจการในช่วงดังกล่าว

ผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์

เศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างยิ่ง ปี 2563 GDP ของสิงคโปร์หดตัว -5.8%  ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ (1) ภาคการก่อสร้าง (2) โรงแรมที่พักและอสังหาริมทัพย์ (3) บริการอาหาร และ (4) การค้าปลีก

กระทรวงแรงงานสิงคโปร์เปิดเผยอัตราการว่างงานตลอดทั้งปี 2563 ประมาณ 3% หรือ 186,600 ตำแหน่ง โดยเฉพาะในธุรกิจการบิน การคมนาคม การท่องเที่ยว โรงแรม และการค้าปลีก ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเฉพาะคนสิงคโปร์สูงถึง 4.2% หรือสูงที่สุดในรอบ 10 ปี สิงคโปร์จึงมีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานคนชาติมากขึ้น และขอความร่วมมือภาคเอกชนในสิงคโปร์ให้เร่งสร้างงานใหม่และพิจารณาจ้างงานคนชาติสิงคโปร์ก่อนคนต่างชาติ

รัฐบาลสิงคโปร์ใช้งบประมาณแบบขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในปีงบประมาณ 2563 คือ ขาดดุล 74,300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือ 15% ของ GDP เทียบกับปีงบประมาณ 2562 ที่ขาดดุลเพียง 0.3% ของ GDP)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์