เมื่อวันที่ 8 – 12 พฤศจิกายน 2564 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งภาคเอกชนของสิงคโปร์จัดงาน Singapore FinTech Festival และ Singapore Week of Innovation and Technology ครั้งที่ 6 เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินค้า บริการ และเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินในสิงคโปร์ ซึ่งนาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ สิงคโปร์กล่าวเปิดงานและเปิดตัวโครงการ AI ด้านเทคโนโลยีการเงิน 2 โครงการ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติของสิงคโปร์ ดังนี้

โครงการ NovA!         

โครงการ NovA! เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารต่าง ๆ และบริษัทด้านฟินเทคในสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินในสิงคโปร์สามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า การจะบรรลุเป้าหมายตาม Paris Agreement ในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า ทั่วโลกจะต้องมีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (100 trillion USD) ดังนั้นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การลงทุนในด้านนี้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด

โครงการ NovA! ยังช่วยตรวจสอบการฟอกเขียว (greenwashing หรือการสื่อสารที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าองค์กรหนึ่งมีความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคม ทั้งๆ ที่เป็นเพียงการส่งเสริมภาพลักษณ์แต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติจริง) โดยจะใช้ระบบ AI ประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง

การใช้ระบบ AI เพื่อพัฒนาบริการภาครัฐ  

สิงคโปร์จะนำระบบ AI มาประมวลความเห็นจากประชาชน (feedback) ที่มีต่อบริการของภาครัฐ เพื่อพัฒนาการบริการของหน่วยงานและองค์กรภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของประชาชนยิ่งขึ้น อาทิ การนำระบบ AI มาใช้ในเว็บไซต์การหางานระดับชาติ (national jobs portal) เพื่อส่งเสริม job-matching หรือการจับคู่ในการจ้างงานและสมัครงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์คาดว่าเครื่องมือ AI ใหม่ ๆ นี้จะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานร้อยละ 20

นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์จะจัดตั้งกองทุนเพื่อเร่งการวิจัยด้าน AI (fundamental and translational AI research) เพิ่มเติมอีกจำนวน 180 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (จากเดิม 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) เพื่อพัฒนาระบบการวิจัยและพัฒนา AI ของสิงคโปร์ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเฉพาะต่อบริการของภาครัฐและการอำนวยความสะดวกภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาเครื่องจักรให้อ่านข้อมูลที่มีจำนวนน้อยแต่มีความซับซ้อนสูงสุด รัฐบาลสิงคโปร์หวังว่า การวิจัยและพัฒนา AI อย่างไม่หยุดยั้งจะช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้าน AI ของสิงคโปร์อย่างกว้างขวางและเป็นระบบต่อไป

นโยบายการเงินกับสิ่งแวดล้อมสีเขียว      

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้ภาษีคาร์บอนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันสิงคโปร์อยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับขึ้นภาษีคาร์บอน ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จและประกาศใช้ได้ภายหลังปี 2567 โดยรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ยอมรับว่าการขึ้นภาษีคาร์บอนไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจะกระทบต่อค่าครองชีพรวมถึงศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ของสิงคโปร์เองในระยะสั้น แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็จำเป็นต้องพิจารณาขึ้นภาษีเมื่อคำนึงผลประโยชน์ด้านการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในระยะยาว

สิงคโปร์เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่ง blue carbon stock ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งจะช่วยลดจำนวนคาร์บอนและสร้างความสมดุลเรื่องคาร์บอนให้กับทั่วโลกได้อย่างมาก ดังนั้น สิงคโปร์จึงจัดทำโครงการ Climate Impact X เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูงทั่วโลกที่ตั้งอยู่ในเอเชีย โดยปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำในด้านนี้เข้าร่วมการประมูลแล้ว 19 บริษัท และสิงคโปร์จะประกาศจัดตั้งตลาดการแลกเปลี่ยนคาร์บอนภายใต้โครงการนี้อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2565

ข้อมูลเพิ่มเติม

งาน Singapore FinTech Festival และ Singapore Week of Innovation and Technology เป็นมหกรรมด้านสินค้า บริการ และนวัตกรรมทางการเงินประจำปีที่สำคัญที่สุดของสิงคโปร์ โดยในปีนี้จัดแบบผสมผสาน (digital and physical event) และมีผู้เข้าร่วมงาน 60,000 คน จาก 130 ประเทศทั่วโลก ภายในงาน SFF MAS ได้ประกาศรางวัล Global Veritas Challenge 2021 แก่บริษัทที่เสนอโครงการ AI Solutions เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านในการธนาคาร ได้แก่ (1) Cylynx (2) Visa Inc และ (3) Visa Inc. & Demyst Data โดยแต่ละบริษัทจะได้รับเงินรางวัล 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง