การบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service)

ภาพรวมยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลของรัฐบาลสิงคโปร์

นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์มีที่มาจากวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ประกาศแผนพัฒนางานด้านชาติอัจฉริยะและรัฐบาลดิจิทัล (Smart Nation and Digital Government – SNDG)  ตั้งแต่ปี 2557 โดยแบ่งเป็นงานด้านดิจิทัลของภาครัฐที่กำกับดูแลโดยนาย Vivian Balakrishnan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการ SNDG ซึ่งเมื่อปี 2559 รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งหน่วยงาน GovTech เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการดิจิทัลของภาครัฐ โดยขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และ Infocomm Media Development Authority (IMDA) เพื่อพัฒนาระบบงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (Ministry of Communications and Information – MCI)

รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดให้การพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และระบบเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัล รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการสร้าง Smart Nation ของสิงคโปร์โดยนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง เห็นว่า “ยุทธศาสตร์ชาติด้าน AI เป็นกุญแจสำคัญในการสร้าง Smart Nation และสะท้อนถึงแผนการนำเทคโนโลยี AI มาเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่จำกัดแค่การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ แต่เป็นการคิดแผนทางธุรกิจใหม่ ๆ และสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (productivity gains) และสร้างการเติบโตในมิติใหม่ ๆ (create new areas of growth) (https://www.smartnation.sg/docs/default-source/default-document-library/national-ai-strategy.pdf)

การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้ประเทศขนาดเล็ก เช่น สิงคโปร์ รวมถึงส่งเสริมให้สิงคโปร์สามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกในอนาคตได้ ทั้งนี้ สิงคโปร์เน้นการนำกลไกทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ AI และเทคโนโลยีระดับสูงมาพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลภายในสิงคโปร์ โดย ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 สิงคโปร์จะเป็นผู้นำในการพัฒนาและการใช้ scalable and impactful AI solutions โดยเชื่อมโยงกับภาคประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งหน่วยงาน AI Singapore (AISG) เพื่อการวิจัยและพัฒนา AI เป็นการเฉพาะ

แนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบการ e-Services ของสิงคโปร์

หน่วยงานภาครัฐของสิงคโปร์ได้กำหนดกฎข้อบังคับสำหรับผู้ประกอบการ e-Commerce และ e-Services ซึ่งเป็นกฎข้อระเบียบสำหรับการดำเนินธุรกิจออนไลน์และธุรกิจ สรุปรายละเอียด ดังนี้

1. ใบอนุญาตผู้ค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ (e-Retailers) เนื่องจากการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตถือเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อประเภทหนึ่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการออนไลน์จึงต้องมีใบอนุญาตจาก Singapore Broadcasting Authority (SBA – เทียบเท่ากรมประชาสัมพันธ์) ภายใต้พระราชบัญญัติ SBA Act ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการประชาสัมพันธ์และกระจายเสียงทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการประชาสัมพันธ์ออนไลน์โดยใช้คอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Providers – ISPs) และ ผู้ให้บริการเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ต (Internet Content Providers – ICPs) จะต้องมีใบอนุญาต ซึ่งรวมถึงเจ้าของเว็บไซต์ e-Commerce และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ต่าง ๆ ในสิงคโปร์ด้วย

 2. กฎระเบียบสำหรับเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ต ผู้รับใบอนุญาตทั้งหมด (รวมถึง e-Merchants) ต้องปฏิบัติตาม Internet Code of Practice โดยห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ขัดกับศีลธรรม ความสงบเรียบร้อย ประโยชน์และความมั่นคงของสาธารณะ หรือเนื้อหาที่ไม่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เซิร์ฟเวอร์และ ICPs ภายนอกสิงคโปร์จะไม่อยู่ในขอบเขตการดูแลของ SBA

3. กฎระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจออนไลน์ กฎระเบียบบังคับใช้ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและบริการ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับกฎระเบียบของสินค้าและบริการทางกายภาพ ตัวอย่างเช่น

ผู้ให้บริการพนันออนไลน์ การให้บริการการพนันออนไลน์ถูกควบคุมภายใต้พระราชบัญญัติ Betting Act และพระราชบัญญัติ Common Gaming Houses Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการพนันในสถานที่จร

– การให้บริการด้านการเงินและสินค้าออนไลน์การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทางเว็บไซต์ถูกควบคุมภายใต้พระราชบัญญัติ Companies Act และต้องปฏิบัติตาม Guidelines on Offer of Securities made through the Internet//Guidelines on Electronic Offers of Securities, Securities-based Derivatives Contracts or Units in Collective Investment Schemes

– การจำหน่ายสินค้ามือสองออนไลน์ผู้จำหน่ายสินค้ามือสองออนไลน์จะถูกคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติ Second Hand Dealers Act

กิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์: กิจกรรมบางประเภทอาจต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ Common Gaming Housing Act และ Public Entertainment Act

การโฆษณาทางเว็บไซต์ โฆษณาออนไลน์ต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ Singapore Code of Advertising Practice และแนวทางการโฆษณาภายใต้ SBA ทั้งนี้ ผู้ให้บริการ/เจ้าของเว็บไซต์ต้องปฏิบัติตาม Consumer Protection (Trade Descriptions and Safety Requirements) Act ซึ่งระบุข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับคำอธิบายของสินค้าที่จำหน่ายในสิงคโปร์

4. กรอบการกำกับดูแลสำหรับสัญญาบนเว็บไซต์ สัญญาออนไลน์ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติ Electronic Transactions Act (ETA) เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ e-Commerce รวมถึงการรองรับด้านกฎหมายของสัญญาบนเว็บไซต์ ซึ่งครอบคลุมถึง (1) ข้อกำหนดด้านการเขียนและการลงนามของ e-Commerce (2) การถ่ายเอกสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานของรัฐบาลสิงคโปร์ (3) ลดการปลอมแปลงและการฉ้อโกงในธุรกรรม e-Commerce และ (4) กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการรับรองความถูกต้องของบันทึกอิเล็กทรอนิกส์ (electronic records)

5. กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายตามและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติ Unfair Contract Terms Act (UCTA) ซึ่งควบคุมข้อกำหนดยกเว้น และความรับผิดชอบหนี้สินแบบจำกัดในสัญญา ไม่รวมสัญญาระหว่างประเทศ (2) พระราชบัญญัติ Sale of Goods Act (SOGA) ซึ่งกำกับสัญญาของการจำหน่ายสินค้าในสิงคโปร์ โดยระบุสิทธิ์ในการปฏิเสธสินค้า หรือสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายของผู้ซื้อสินค้า ในกรณีที่สินค้าไม่ตรงกับเงื่อนไขที่ระบุไว้ และ (3) ในกรณีที่เว็บไซต์ระบุข้อความเท็จก่อนเข้าสู่การทำสัญญา ผู้ค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์อาจถูกดำเนินคดีภายใต้พระราชบัญญัติ Misrepresentation Act

6. การคุ้มครองและความปลอดภัยของข้อมูลดิจิทัล ตามพระราชบัญญัติ Computers Misuse Act คุ้มครองคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เมื่อมีการเข้าถึง การแก้ไข และการแทรกแซงโดยไม่ได้รับอนุญาต แบ่งเป็น (1) ความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ ผู้ค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีนโยบายการจัดการข้อมูลผู้ใช้งานเว็บไซต์เพื่อปกป้องข้อมูลจากการเปิดเผยโดยไม่ได้ตั้งใจ อาทิ การเข้ารหัสลับ (Encryption) และ (2) ความปลอดภัยในการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต: ข้อมูลการชำระเงินทางออนไลน์ได้รับการป้องกันโดยการเข้ารหัส (Encryption) ก่อนจะเผยแพร่สู่อินเทอร์เน็ต

7. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทาง Cyberspace ลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (Copyright Act) คุ้มครองลิขสิทธิ์ของผลงานที่จับต้องได้เป็นบันทึกหรือลายลักษณ์อักษร เช่น ด้านวรรณกรรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ดนตรี และภาพวาด เป็นต้น รวมถึงชิ้นงานที่ส่งผ่านอินเตอร์เน็ต  เจ้าของผลงานจะได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์โดยไม่ต้องทะเบียน ทั้งนี้ การละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นเมื่อมีผู้คัดลอก แจกจ่าย หรือแสดงผลงานทั้งหมดหรือบางส่วนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

8. ลิขสิทธิ์และอินเตอร์เน็ต พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี ค.ศ. 1999 ได้ระบุเพิ่มเติมเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล เพื่อคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อเกิดการทำสำเนาผลงานอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังให้การคุ้มครองผลงานที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ  และลงนามในอนุสัญญาที่สำคัญ อาทิ Paris Convention Berne Convention และ Madrid Protocol เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสิงคโปร์ (Intellectual Property Office of Singapore) ได้จัดทำเอกสาร ‘copyright and internet infosheet’ เพื่อรวบรวมประเด็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต

9. เครื่องหมายการค้าและอินเตอร์เน็ต ผู้ค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ Meta-tags (คำหลักที่ฝังอยู่ใน code ของหน้าเว็บไซต์) เนื่องจากผู้ใช้งานเว็บไซต์จะไม่สามารถมองเห็น Meta-tags บนเว็บไซต์ได้ ดังนั้น เจ้าของเว็บไซต์บางรายอาจลักลอบใส่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงที่ไม่ใช่ของบนเว็บไซต์ ในกรณีเช่นนี้ภายใต้กฎหมายของสิงคโปร์ เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงสามารถดำเนินการกับผู้ละเมิดได้

อุปสรรคหรือข้อจำกัดในการกำกับดูแลผู้ประกอบการ e-Services ของสิงคโปร์

ก่อนปี 2563 รัฐบาลสิงคโปร์มีข้อจำกัดในการเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax – GST เทียบเท่ากับ VAT ของ ประเทศไทย) จากบริษัทผู้ขายและผู้ให้บริการออนไลน์ที่จดทะเบียนว่าเป็นผู้จำหน่ายจาก ตปท. (Overseas Vendor) ซึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการท้องถิ่นในสิงคโปร์ กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์จึงเรียกเก็บภาษี GST จาก Overseas Vendor ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

จากข้อมูลของเว็บไซต์ https://www.guidemesingapore.com/ ของบริษัท Hawksford ความท้าทายของการบังคับใช้กฎหมายในคดีไซเบอร์ประการหนึ่งคือความยากในการระบุตัวผู้ละเมิด (ผู้ละเมิดสามารถหลบหนีได้โดยใช้ที่อยู่ IP ปลอม) และความยากลำบากในการระบุตำแหน่งที่ตั้งของการละเมิด เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายเนื้อหาไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลต่างประเทศ

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลสิงคโปร์

IMDA ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Framework for Action ดูเพิ่มใน https://www.imda.gov.sg/-/media/Imda/Files/SG-Digital/SGD-Framework-For-Action.pdf) โดยมีภารกิจ 3 เสาหลัก คือ

(1) Accelerate รัฐบาลสิงคโปร์ได้เผยแพร่เอกสาร Industry Transformation Maps (ITMs) จำนวน 23 ฉบับ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้กับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เช่น (1.1) แนวทางการสร้างระบบ e-invoicing เพื่อเพิ่มความเร็วในการทําธุรกรรมและลดข้อผิดพลาดทางธุรกิจ และ (1.2) วิธีการ/แนวนโยบายเพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล เนื่องจาก SMEs ถือว่าเป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจสิงคโปร์ (มากกว่าร้อยละ 90 ของธุรกิจในสิงคโปร์เป็นธุรกิจ SMEs) ซึ่งมีมูลค่า GDP เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ อีกทั้งร้อยละ 70 ของการจ้างงานทั้งหมดในสิงคโปร์ มาจากการจ้างงานในกลุ่มธุรกิจ SMEs

(2) Compete คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ และการสนับสนุนให้บริษัทท้องถิ่นของสิงคโปร์ ขยายตลาดสู่สากล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระแสข้อมูล (data flows) นั้นมีจำนวนมหาศาลมาก รัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องช่วยสร้างโอกาส/จำกัดขอบเขต/หาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ พัฒนารูปแบบธุรกิจของตนเองได้ตรงตามความสามารถ รวมถึงการกําหนดเป้าหมายตลาดใหม่ในต่างประเทศ ประโยชน์จากแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัล

(3) Transform คือ การส่งเสริม/สนับสนุน อุตสาหกรรม Infocomm Media (ICM) ให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อน การเติบโตที่สําคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์ เช่น การเพิ่มตำแหน่งงานด้าน ICM จำนวน 13,000 ตําแหน่ง ภายในปี 2563 เพื่อยกระดับให้สิงคโปร์ มีฐานะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลของเอเชีย และการส่งเสริมศักยภาพทางเทคโนโลยีที่สำคัญ 4 ด้านในสิงคโปร์ ได้แก่ (3.1) AI และ Data science (3.2) Cybersecurity (3.3) Immersive Media และ (3.4) Internet of Things และ Future Communications Infrastructure

IMDA กำหนดทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์ที่สำคัญ 4 ประการ คือ (1) การผลิตและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัล (2) การวิจัยและพัฒนารัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลในประเทศ เช่น Research Innovation and Enterprise 2020 จำนวน 400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ National AI Strategy จำนวน 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา AI ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า(3) การจัดทำกฎระเบียบและมาตรฐานที่เป็นสากลและสามารถสนับสนุนการแข่งขันในโลกดิจิทัล ซึ่งรวมถึงธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) และ (4) โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล คือ การลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ เช่น โครงการ Wireless@SG และ Nationwide Broadband Network ทั่วประเทศ แผนโครงข่าย 5G และเคเบิ้ลใต้น้ำ เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม

สิงคโปร์มีปัจจัยบวกที่จะเสริมสร้างศักยภาพความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์ ได้แก่  (1) ระบบสาธารณูปโภคที่มีมาตรฐานระดับโลก (2) บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ/กำลังแรงงานที่มีทักษะ (3) รบ. มีเสถียรภาพ และ (4) การมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการเป็นจุดเชื่อมต่อการค้าที่สำคัญของภูมิภาค อีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ยังสนับสนุนเติบโตด้านดิจิทัลผ่านโครงการ/ความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น การจัดสรรงบประมาณจำนวน 250 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เพื่อผลักดันนวัตกรรม/พัฒนาศักยภาพด้าน FinTech ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ

สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ใน 2018 IFZ Global FinTech Rankings รายงาน Akamai’s State of the Internet Report 2017 และ Waseda-IAC International Digital Government Ranking 2017 เป็นอันดับที่ 2 ของโลกใน IMD World Digital Competitiveness Ranking และ Doing Business 2018 และอันดับที่ 3 ของโลกใน Bloomberg’s 2018 Innovation Index

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ร่วมกับนาย David Parker รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าฯ นิวซีแลนด์ และนาย Teodoro Ribera Neumann รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศชิลี ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement – DEPA) ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัล ลดต้นทุนด้านการดำเนินการ เพิ่มประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและขยายการเข้าถึงตลาดโลก

อนึ่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย (ดศ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล กับกระทรวง MCI ผ่านระบบทางไกล ในช่วงก่อนการลงนาม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการ ดศ. และนาง Josephine Teo รัฐมนตรีว่าการ MCI ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านดิจิทัลข้ามพรมแดน การสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อต่อการค้าการลงทุน การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลและนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ภาคธุรกิจ และประชาชนของสองประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัล