การจ้างแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ และประเภทใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสาธารณรัฐสิงคโปร์

กฎระเบียบด้านการจ้างแรงงานต่างชาติในสาธารณรัฐสิงคโปร์

ผู้ต้องการทำงานในสิงคโปร์ควรศึกษาหรือมีความรู้เบื้องต้นในระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการจ้างงานในสิงคโปร์ ดังนี้

1) กฎหมายจ้างงาน (Employment Act) คุ้มครองลูกจ้างทั้งชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่อยู่ภายใต้สัญญาจ้าง  แต่มีข้อยกเว้นกรณีลูกจ้างระดับบริหาร (managerial, executive) ที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองเรื่องวันหยุดประจำสัปดาห์ ชั่วโมงทำงาน เป็นต้น  ส่วนคนทำงานบ้าน (domestic workers) ลูกเรือ (seamen) และข้าราชการ จะไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายฉบับนี้ แต่ยึดสัญญาจ้างงานเป็นหลัก ซึ่งสัญญาจ้างต้องครอบคลุมเนื้อหาดังต่อไปนี้ ชั่วโมงทำงาน ค่าจ้าง โบนัส  ค่าตอบแทน การทำงานล่วงเวลา วันหยุด วันลา  การสิ้นสุดสัญญา ผลตอบแทนเมื่อเลิกจ้าง เกษียณ ลาคลอด ลาดูแลบุตร

2) กฎหมายภาษี (Taxation) ชาวต่างชาติที่ทำงานในสิงคโปร์ทุกคนต้องยื่นแบบรายการเงินได้เพื่อเสียภาษีซึ่งจะคำนวณอัตราตามกฎหมาย ดังนี้
2.1)  ผู้ทำงานหรืออยู่ในสิงคโปร์เกิน 183 วันตามปีภาษี (มกราคม – ธันวาคม)โดยภายหลังหักค่าลดหย่อนแล้วต้องนำรายได้มาคำนวณอัตราภาษีตามตารางอัตราของผู้พำนักอาศัย (resident rate) ซึ่งอยู่ระหว่างร้อยละ 0 – 22
2.2)  ผู้ทำงานหรืออยู่ในสิงคโปร์ต่ำกว่า 183 วันตามปีภาษี จะได้รับการยกเว้นภาษี หากทำงานไม่เกิน 60 วัน (บางอาชีพไม่ได้รับยกเว้น เช่น นักแสดง) แต่หากทำงานเกิน 60 วันแต่น้อยกว่า 183 วัน เสียภาษีร้อยละ 15 โดยไม่มีการหักลดหย่อน การคำนวณภาษีของกลุ่มนี้ใช้อัตราของผู้พำนักอาศัยชั่วคราว (non-resident rate)1

3) กฎหมายเงินทดแทน (Work Injury Compensation Act – WICA) เป็นกฏหมายที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างทั้งชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่อยู่ภายใต้สัญญาจ้างและไม่คำนึงถึงรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือโรคที่เกิดจากการทำงานโดยไม่ต้องยื่นฟ้องในรูปแบบคดีแพ่ง ยกเว้นผู้ประกอบอาชีพส่วนตัว ผู้รับเหมาอิสระ คนทำงานบ้าน และข้าราชการในเครื่องแบบ กฎหมายฉบับนี้ให้ความคุ้มครอง ดังนี้ ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ค่าทดแทนระหว่างลาป่วยตามคำสั่งแพทย์ ค่าทดแทนกรณีพิการหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในงาน2

4) กฎหมายเข้าเมือง (Immigration Act) สิงคโปร์เข้มงวดเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือการอยู่ในสิงคโปร์เกินกำหนด หากถูกจับผู้กระทำผิดจะมีโทษปรับ จำคุก บางกรณีมีโทษเฆี่ยนด้วย ดังนั้น ผู้หางานควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าได้รับใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ก่อนเดินทางเข้าประเทศสิงคโปร์  หากแรงงานไทยที่สัญญาจ้างงานใกล้หมดอายุและไม่มั่นใจว่านายจ้างต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้หรือไม่ก็ควรปรึกษาสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ก่อน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสิงคโปร์จัดทำแอปพลิเคชัน SGWorkPass ให้แรงงานดาวน์โหลดเพื่อตรวจสอบรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานรวมถึงกำหนดวันที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อในประเทศสิงคโปร์อย่างถูกกฏหมาย

ตัวอย่างการตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานในแอปพลิเคชัน SGWorkPass

5) กฎหมายอื่น ๆ  ผู้เข้าทำงานในสิงคโปร์ต้องทราบและปฏิบัติตามกฎหมายของสิงคโปร์อย่างเคร่งครัดเพราะบทลงโทษแต่ละความผิดมีตั้งแต่จับ ปรับ จำคุก เฆี่ยน จนถึงประหารชีวิต ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์มีบทลงโทษนายจ้างที่ทารุณข่มเหงแรงงานต่างชาติทั้งจำคุก  ปรับ และเฆี่ยนเช่นกัน ดังนั้น หากแรงงานไทยไม่ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องจากนายจ้าง สามารถยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์เพื่อขอให้ช่วยเหลือ

ตัวอย่างการกระทำผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับการทำงานในสิงคโปร์ มีดังต่อไปนี้

การกระทำผิดบทลงโทษ
1. นายจ้างที่จ้างงานลูกจ้างชาวต่างชาติ
โดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน
ปรับระหว่าง 5,000-30,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ         โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำคุกและปรับ สำหรับความผิดที่กระทำซ้ำ – ต้องได้รับโทษจำคุก และปรับระหว่าง 10,000-30,000 เหรียญสิงคโปร์
2. ลูกจ้างฝ่าฝืนเงื่อนไขใบอนุญาตทำงานโทษปรับไม่เกิน 10,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ จำคุกไม่เกิน  1 ปี หรือทั้งจำคุกและปรับ
3. ลูกจ้างให้ข้อมูลเท็จในการขอใบอนุญาตทำงานหรือต่อใบอนุญาตการทำงานโทษปรับไม่เกิน 20,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำคุกและปรับ
4. นายจ้างได้รับเงินที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานของลูกจ้างชาวต่างชาติโทษปรับไม่เกิน 30,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำคุกและปรับ
5. นายจ้างขอใบอนุญาตการทำงานให้ลูกจ้างชาวต่างชาติ โดยไม่ได้ประกอบกิจการจริงหรือไม่จำเป็นต้องใช้ลูกจ้างชาวต่างชาติโทษจำคุก 6 เดือนและปรับไม่เกิน 6,000 เหรียญสิงคโปร์ และอาจมีโทษเฆี่ยนด้วย
6. ลูกจ้างต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต การทำงานโทษปรับไม่เกิน 20,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำคุกและปรับ

ข้อแนะนำ : ผู้เข้ามาทำงานในสิงคโปร์และถือใบอนุญาตทำงานประเภท Work Permit (WP)  ควรศึกษาข้อปฏิบัติที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ห้ามทำงานกับนายจ้างอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ห้ามหารายได้พิเศษ ห้ามมีความสัมพันธ์ด้านชู้สาวหรือมีบุตรกับชาวสิงคโปร์หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่สิงคโปร์แบบถาวร (Permanent Resident : PR) หากเป็นหญิงห้ามตั้งครรภ์หรือให้กำเนิดบุตรระหว่างถือใบอนุญาตทำงานต้องพกใบอนุญาตทำงานตัวจริงกับตัวเพื่อพร้อมให้ตรวจสอบ3

ประเภทใบอนุญาตทำงาน

สิงคโปร์มีใบอนุญาตทำงานหลายประเภท แรงงานไทยที่เข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะได้รับใบอนุญาตทำงาน 4 ประเภท ดังนี้

1) Employment Pass (EP)  เป็นใบอนุญาตทำงานสำหรับคนต่างชาติระดับวิชาชีพ (Professional) และระดับบริหาร (Executive) โดยกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้กำหนดคุณสมบัติชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในระดับนี้ จะต้องมีวุฒิการศึกษาจากสถาบันที่ได้มาตรฐาน มีประสบการณ์การทำงานที่เป็นที่ยอมรับ และได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 4,500 เหรียญสิงคโปร์ (ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2563)

2) S Pass เป็นใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้ชำนาญงานคนต่างชาติระดับกลาง ซึ่งจะพิจารณาคุณสมบัติหลายด้าน ทั้งค่าจ้าง การศึกษา ลักษณะงาน ประสบการณ์และความชำนาญพิเศษ เช่น ผู้ชำนาญงานสาขาต่างๆ ช่างเทคนิคต่างๆ เป็นต้น โดยจะต้องมีเงินเดือนประจำขั้นต่ำ 2,500 เหรียญสิงคโปร์ มีการศึกษาระดับปริญญาหรืออนุปริญญา (Degree or Diploma) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิคหลักสูตรเต็มเวลาอย่างน้อย 1  ปี และมีประสบการณ์ทำงานในสาขานั้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง4

3) Work Permit เป็นใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างชาติกึ่งฝีมือ (Semi-skilled worker) และแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled worker) อายุระหว่าง 18-50 ปี รัฐบาลสิงคโปร์มีการกำกับดูแลและควบคุม โดยการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้แรงงานต่างชาติ (Levy) จากนายจ้าง   การกำหนดสัดส่วนของแรงงานท้องถิ่นกับแรงงานต่างชาติ โดยกำหนดสัดส่วนแรงงานท้องถิ่น 2 คน แรงงานต่างชาติ 1 คน การกำหนดระยะเวลาการทำงานในประเทศสิงคโปร์ของแรงงานต่างชาติ รวมถึงกลุ่มประเทศที่อนุญาตให้ทำงานในแต่ละภาคธุรกิจแรงงานไทยส่วนใหญ่จะถือใบอนุญาตการทำงานประเภท Work Permit อยู่ในภาคก่อสร้าง (Construction) งานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (Process) งานสร้างและซ่อมบำรุงเรือ (Marine) โดยถือใบอนุญาตการทำงานประเภท Work Permit เป็นส่วนใหญ่ และหากมีความชำนาญพิเศษเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน  และมีประสบการณ์การทำงานในประเทศสิงคโปร์เป็นระยะเวลานานก็จะได้รับการพิจารณาใบอนุญาตการทำงานประเภท S Pass

4) Work Permit (Migrant domestic worker) เป็นใบอนุญาตทำงานสำหรับคนทำงานบ้านที่จะต้องทำงานในบ้านตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับกระทรวงแรงงานเท่านั้น โดยจะต้องมาจากประเทศต้นทางที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ มีอายุระหว่าง 23-50 ปี (คนทำงานบ้านที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสามารถต่ออายุใบอนุญาตการทำงานได้จนอายุครบ 60 ปี) และมีการศึกษาอย่างน้อย 8 ปี (สำหรับลูกจ้างที่มาจากประเทศไทยต้องจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นอย่างต่ำ

นโยบายการจ้างแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายด้านแรงงานที่จะตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวเพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของประเทศให้สูงขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 2-3 ใน 10 ปีข้างหน้า โดยมีการปรับปรุงเกณฑ์การจ้างแรงงานต่างชาติอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ พิจารณาจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพและการเติบโตของธุรกิจในสิงคโปร์ รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นในสิงคโปร์ เมื่อต้นปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างมากเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ในกลุ่มแรงงานต่างชาติประเภทกึ่งฝีมือหรือไร้ทักษะ โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในสิงคโปร์ ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์บางส่วนมีความกังวลและเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการขอสิทธิเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในสิงคโปร์ (Permanent Residents : PRs) ประชาชนสิงคโปร์ (Citizens) และการได้รับใบอนุญาตทำงาน Employment Pass (EP) โดยอัตโนมัติ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องออกมาแถลงข่าวว่าไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้สิทธิพิเศษอัตโนมัติแก่ชาวต่างชาติที่เดินทางมายังสิงคโปร์แต่อย่างใด นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์มีมาตรการเพื่อควบคุมหรือจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสิ่งคโปร์ ดังนี้

1) มาตรการการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Consideration Framework :FCF) เมื่อปี 2559 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์มีการออกมาตรการจ้างงานที่เป็นธรรม เพื่อกำหนดให้นายจ้างต้องพิจารณาจ้างแรงงานอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติทั้งในด้านอายุ เพศ สัญชาติ หรือเชื้อชาติ โดยในประกาศรับสมัครงานสำหรับใบอนุญาตทำงานประเภท Employment Pass (EP) และ S Pass นายจ้างต้องทำประกาศบนเว็บไซต์ MyCareersFuture.sg เพื่อการเข้าถึงกลุ่มแรงงานท้องถิ่นในสิงคโปร์ เป็นเวลา 28 วัน ก่อนจึงจะรับสมัครแรงงานต่างชาติได้

2) นโยบายการปรับลดเพดานอัตราส่วนของแรงงานต่างชาติ (The Dependency Ratio Ceiling :DRC) ในภาคบริการ ประกาศเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแบ่งการปรับลดออกเป็น 2 รอบ คือ

รอบที่ 1 อัตราส่วนของแรงงานต่างชาติโดยรวมปรับลดลงจาก 40% เป็น 38% และสัดส่วนของแรงงานต่างชาติที่ถือใบอนุญาตทำงาน S Pass ปรับลดลงจาก 15% เป็น 13% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

รอบที่ 2 อัตราส่วนของแรงงานต่างชาติโดยรวมปรับลดลงจาก 38% เป็น 35% และสัดส่วนของแรงงานต่างชาติที่ถือใบอนุญาตทำงาน S Pass ภาคก่อสร้างปรับลดลงจาก 18%
ในปัจจุบัน เป็น 15% ภาคการผลิตปรับจาก 20% ลดลงเป็น 15% ในวันที่ 1 มกราคม 2566

ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2564 และ 1 มกราคม 2566 หากบริษัทใดที่ยังคงมีผู้ถือ S Pass เกินโควตา หรือเกินอัตราส่วน DRC กระทรวงแรงงานสิงคโปร์จะอนุโลมให้บริษัทสามารถรักษาแรงงาน S Pass จำนวนนั้นไว้ก่อนเพื่อความต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจ  แต่จะไม่อนุมัติ S Pass ให้กับแรงงานใหม่ รวมถึงไม่ต่ออายุ S Pass ให้แรงงานรายเดิม

3) นโยบายการปรับเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับการออกใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาติที่มีทักษะประเภท Employment Pass (EP) และ S Pass ประกาศเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม  2563 การปรับเพิ่มเกณฑ์เงินเดือนขั้นต่ำของการออกใบอนุญาตทำงานประเภท EP และประเภท S Pass อย่างสม่ำเสมอทำให้อัตราการเติบโตของจำนวนแรงงานต่างชาติประเภท EP และ S Pass  ชะลอตัวลงอย่างมาก แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวก็ตาม โดยในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ผ่านมาจำนวนเฉลี่ยของแรงงานต่างชาติประเภท EP มีประมาณ 13,000 คน/ปี  และในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษลดลงเหลือเพียงประมาณ 3,000  คน/ปี ส่วนแรงงานต่างชาติประเภท S Pass มีประมาณ  17,500 คน/ปี และในช่วงครึ่งทศวรรษหลังลดลงเหลือประมาณ 6,000 คน/ปี

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ทำให้โครงการงานก่อสร้างต่าง ๆ หยุดชะงัก โครงการก่อสร้างของภาคเอกชนลดลง ส่วนโครงการของรัฐบางโครงการถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2564 และเมื่อสิงคโปร์เข้าสู่มาตรการปลอดภัยระยะที่ 1 กิจกรรมงานก่อสร้างเริ่มกลับมาดำเนินการต่อ แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังถือว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

ในปี 2564 คาดว่าโครงการในภาครัฐจะทำให้ความต้องการแรงงานภาคก่อสร้างกระเตื้องขึ้น โดยมีมูลค่าระหว่าง 15 ถึง 18 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ที่มาจากโครงการที่พักอยู่อาศัยของรัฐและงานโครงสร้างพื้นฐาน โครงการสำคัญของภาครัฐที่กำลังจะมีขึ้นในปี 2564 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายจูร่ง Cross Island MRT Line เฟส 1 และระบบท่อระบายน้ำในอุโมงค์ลึกเฟส 2 ส่วนโครงการภาคเอกชนคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 8 ถึง 10 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยมาจากการพัฒนาพื้นที่ที่อยู่อาศัย (en-bloc residential sites) การปรับปรุงพื้นที่สำคัญเพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์และการก่อสร้างอาคารอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ

การคาดการณ์สำหรับปี 2565 ถึง 25665

Building and Construction Authority (BCA) คาดว่าความต้องการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง คาดว่าจะถึงระหว่าง 25 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ถึง 32 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ต่อปีจากปี 2565 ถึงปี 2566

คาดว่าภาครัฐจะเป็นผู้นำด้านอุปสงค์และมีส่วนร่วม 14 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ถึง 18 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปีตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2568 โดยมีสัดส่วนความต้องการใกล้เคียงกันซึ่งมาจากโครงการก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธา นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนแล้ว ความต้องการก่อสร้างภาครัฐในระยะกลางจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงการสถาบัน เช่น MRT สาย Cross Island (ระยะที่ 2 และ 3) ส่วนต่อขยายสาย Downtown ไปยัง Sungei Kadut เครือข่ายเส้นทางจักรยาน การย้ายศูนย์วิทยาศาสตร์ของสิงคโปร์ การพัฒนาแบบบูรณาการของ Toa Payoh การพัฒนาขื้นใหม่ของโรงพยาบาลอเล็กซานดรา และโรงพยาบาลแบบบูรณาการแห่งใหม่ที่ Bedok

ความต้องการก่อสร้างของภาคเอกชนคาดว่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะกลางที่จะถึงระหว่าง 11 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์และ 14 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปีตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2568 ซึ่งอยู่ในความคาดหมายว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จ การใช้งานและประสิทธิผลของการรักษาและวัคซีนโควิด-19 รวมถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดการล็อกดาวน์

ความต้องการจ้างแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์

ผลจากความขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้าง มีบริษัทก่อสร้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานไทย แต่ประสบปัญหาจากกรณีมาตรการการปิดน่านฟ้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ทำให้บริษัทก่อสร้างไม่สามารถรับสมัครและคัดเลือกแรงงานที่มีทักษะตามที่ต้องการได้ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังใช้มาตรการจำกัดแรงงานต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อการเข้าไปทำงานของแรงงานไทยเนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์มีการแบ่งกลุ่มประเทศในการออกใบอนุญาตทำงานประเภท Work Permit ซึ่งจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ Non Traditional Sources6 ทำงานได้เฉพาะงานก่อสร้าง อู่ต่อเรือ โรงกลั่นน้ำมัน และแม่บ้านเท่านั้น ไม่สามารถทำงานบริการหรืองานในสายการผลิตอื่น ๆ ได้

คุณสมบัติของแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์

แรงงานในภาคก่อสร้าง

การก่อสร้างอาคารทุกประเภท สร้างถนน  ถมทะเล งานรถไฟใต้ดิน ในตำแหน่งต่างๆ เช่น แรงงานทั่วไป ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างปูน พนักงานขับรถเครน พนักงานขับรถหัวเจาะ โฟร์แมน หัวหน้าคนงาน เป็นต้น โดยจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) แรงงานต่างชาติประเภท Work Permit จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่เกิน 50 ปีขณะที่ยื่นขอใบอนุญาตการทำงาน
2) ก่อนเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ต้องผ่านการทดสอบฝีมือแรงงาน Skill Evaluation Certificate (SEC) หรือ Skill Evaluation Certificate (Knowledge) (SEC(K)) ซึ่งจัดประเภทเป็นช่างฝีมือพื้นฐาน (Basic Skilled) จากศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานที่ Building and Construction Authority (BCA) รับรอง

แรงงานในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (Process)

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สารเคมีชนิดพิเศษ และผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม แรงงานต่างชาติที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง  การป้องกันและการบำรุงรักษาอุปกรณ์โรงงาน ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่เข้ามาในงานก่อสร้าง  ติดตั้งและซ่อมแซมบำรุงในโรงงาน ตำแหน่งช่างเชื่อม ช่างประกอบ ผู้ช่วยช่างและแรงงานทั่วไป
ก)  แรงงานต่างชาติประเภท Work Permit จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่เกิน 50 ปีขณะที่ยื่นขอใบอนุญาตการทำงาน
ข)  ระยะเวลาที่จะได้รับอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตทำงานในประเทศสิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติกรณีเป็นช่างฝีมือพื้นฐาน ระยะเวลาสูงสุด  14 ปี  หรือช่างฝีมือระดับสูง (Higher Skilled) ระยะเวลาสูงสุด  26 ปี   

แรงงานในงานสร้างและซ่อมบำรุงเรือ (Marine)

งานสร้าง ซ่อม บำรุงรักษาเรือทุกประเภท รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเรือนอกชายฝั่ง
ก)  แรงงานต่างชาติประเภท Work Permit จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่เกิน 50 ปีขณะที่ยื่นขอใบอนุญาตการทำงาน
ข)  ระยะเวลาที่จะได้รับอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตทำงานในประเทศสิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติกรณีเป็นช่างฝีมือพื้นฐาน (Basic Skilled) ระยะเวลาสูงสุด 14 ปี  หรือช่างฝีมือระดับสูง (Higher Skilled) ระยะเวลาสูงสุด  26 ปี   

ข้อควรระวังในการเข้ามาทำงานในสิงคโปร์

1) เมื่อเดินทางถึงประเทศสิงคโปร์ ควรรายงานตัวต่อสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์

2) นายจ้างต้องส่งแรงงานไปตรวจสุขภาพจากคลีนิคหรือโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรอง เพื่อยื่นขอใบอนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ และโดยทั่วไปควรได้รับใบอนุญาตการทำงานภายใน 14 วัน  หากเกินกำหนด ควรแจ้งสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ เพื่อช่วยประสานงานและตรวจสอบ  และสำหรับแรงงานที่ต้องมีใบอนุญาตอื่นๆ ที่ใช้ในการทำงาน เช่น ใบขับขี่  ใบอนุญาตขับรถเครน ใบผ่านการทดสอบความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น ใบอนุญาตเหล่านั้นต้องยังไม่หมดอายุ

3) แรงงานต่างชาติต้องปฏิบัติตามระเบียบของใบอนุญาตการทำงาน เช่น แรงงานต่างชาติจะต้องทำงานตามตำแหน่งงานและบริษัทนายจ้างที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงานเท่านั้น ต้องพักตามที่อยู่ที่นายจ้างจัดให้หรือที่อยู่ที่แจ้งไว้กับนายจ้าง ห้ามแต่งงานกับชาวท้องถิ่น และต้องพกใบอนุญาตการทำงานติดตัวเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้เสมอ เป็นต้น มิฉะนั้นกระทรวงแรงงานสิงคโปร์สามารถยกเลิกใบอนุญาตทำงานและถูกส่งตัวกลับประเทศไทย รวมถึงต้องปฏิบัติตามกฏหมายอื่นๆของประเทศสิงคโปร์

4) นายจ้างจะลดค่าจ้างได้ก็ต่อเมื่อลูกจ้างยินยอมเท่านั้น ดังนั้น อย่าเซ็นสัญญาใดๆ ถ้าไม่เห็นด้วยกับนายจ้าง สัญญาจ้างต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร หากไม่มั่นใจให้ติดต่อสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์เพื่อขอคำปรึกษาก่อนลงนามในเอกสารใดๆ ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

5) ลูกจ้างและนายจ้างสามารถขอยกเลิกสัญญาจ้างก่อนกำหนดได้  โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างและกฏหมายของประเทศสิงคโปร์  และเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง แรงงานต่างชาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อในประเทศสิงคโปร์เพื่อหางานใหม่  หากแรงงานต่างชาติหลบหนีระหว่างการจ้างงาน  นายจ้างสามารถยกเลิกใบอนุญาตการทำงาน และแรงงานต่างชาติอาจถูกดำเนินคดี กรณีอยู่เกินกำหนด ซึ่งจะมีโทษปรับ จำคุกหรือเฆี่ยนได้

6) การทำงานกับนายจ้างอื่น หรือหารายได้พิเศษ ถือว่ามีความผิดตามกฏหมาย

7) ลูกจ้างที่ยกเลิกสัญญาจ้างและเดินทางกลับประเทศก่อน 183 วัน จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 15 ของค่าจ้างทั้งหมด7

8) นายจ้างจะต้องทำประกันสุขภาพ (Medical Insurance) ให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับอนุญาตทำงานประเภท Work Permit จากรัฐบาลสิงคโปร์ โดยความคุ้มครองของประกันสุขภาพ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 เหรียญสิงคโปร์ หากไม่ดำเนินการมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 เหรียญสิงคโปร์หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ8


1 หมายเหตุ  :   สามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากรสิงคโปร์ที่ www.iras.gov.sg  ทั้งนี้ กรณีแรงงานไทยที่ทำงานในสิงคโปร์ สามารถติดต่อสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์เพื่อปรึกษาการคำนวณภาษี และการขอคืนภาษีที่นายจ้างหักไว้ระหว่างการจ้าง

2 หมายเหตุ :  สามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ที่ www.mom.gov.sg ทั้งนี้ สำหรับแรงงานไทยที่ทำงานในสิงคโปร์ สามารถติดต่อสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์ภายใต้กฎหมายนี้

3 ที่มา :  ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ https://www.mom.gov.sg/

4 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563  เป็นต้นไป ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะจ้างผู้ชำนาญการชาวต่างชาติ (Professionals) ใบอนุญาตทำงานประเภท Employment และ Pass S Pass ต้องประกาศตำแหน่งใน MyCareersFuture.sg เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 28 วัน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการมีงานทำของชาวท้องถิ่นก่อนการจ้างงานแรงงานต่างชาติ

5 ที่มา : https://www1.bca.gov.sg/about-us/news-and-publications/media-releases/2021/01/18/public-sector-construction-demand-to-support-the-sector’s-recovery

6 สิงคโปร์แบ่งกลุ่มประเทศที่อนุญาตให้เข้าไปทำงานระดับ Work Permit เป็น 3 กลุ่มประเทศ ได้แก่
(1) กลุ่มประเทศ Traditional Sources (TS) ได้แก่ มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย
(2) กลุ่มประเทศ Non- Traditional Sources (NTS) ได้แก่ ไทย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน
(3) กลุ่มประเทศ North Asian Sources (NAS) ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ และไต้หวัน

7 ที่มา : https://www.iras.gov.sg/irashome/Individuals/Foreigners/Learning-the-basics/Individuals–Foreigners–Required-to-Pay-Tax/

8 ที่มา : https://www.mom.gov.sg/passes-and-permits/work-permit-for-foreign-worker/sector-specific-rules/medical-insurance