ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – สิงคโปร์

ปี 2565 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – สิงคโปร์ ยังมีพลวัตที่ดีและต่อเนื่อง โดยสิงคโปร์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย มูลค่าการค้าขยายตัวร้อยละ 23.87 จากปี 2564 และเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอันดับที่ 5 ของไทย มูลค่าการลงทุนขยายตัวร้อยละ 50 จากปี 2564 นักธุรกิจและประชาชนของ สิงคโปร์ชื่นชอบประเทศไทยและนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้สายการบินต่าง ๆ เพิ่มเที่ยวบิน ทั้งนี้ ชาวสิงคโปร์เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวลำดับต้นของไทย ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2565 ที่ไทยเพิ่งเริ่มฟื้นฟูการเดินทางระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship (STEER) ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คนที่ 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (นายแพทย์ Tan See Leng) เป็นประธานร่วมกัน โดยสองฝ่ายได้หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใน 6 สาขาหลัก ได้แก่ (1) สินค้าเกษตร (2) การเพิ่มพูนโอกาสการลงทุน (3) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (4) การท่องเที่ยว (5) การบินและการเดินทางทางอากาศ และ (6) ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ซึ่งความร่วมมือที่รัฐบาลสิงคโปร์สนใจและได้ทาบทามที่จะร่วมมือกับไทยในหลายโอกาส ได้แก่ พลังงานสะอาด เศรษฐกิจดิจิทัล และการท่องเที่ยว

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย – สิงคโปร์ ปี 25651

สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย – สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ล้านบาท (18,534 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 23.87 แบ่งเป็นการส่งออก 354,557 ล้านบาท (10,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 23.83 และการนำเข้า 289,825 ล้านบาท (8,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 23.91 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 64,732 ล้านบาท (2,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.48

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยมายังสิงคโปร์ ได้แก่ (1) น้ำมันสำเร็จรูป 65,724.54 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 61.61) (2) อัญมณีและเครื่องประดับ 63,464.85 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 9.37) (3) แผงวงจรไฟฟ้า 44,557.17 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 43.26) (4) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 32,930.74 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 1.14) และ (5) สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ 22,734.74 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 207.45) ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียห้ามส่งออกเนื้อไก่ในช่วงกลางปี 2565 การส่งออกเนื้อไก่แปรรูปจากไทยไปยังสิงคโปร์จึงขยายตัวร้อยละ 37.53 มูลค่า 3,856.16 ล้านบาท 

สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากสิงคโปร์ ได้แก่ (1) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 42,772.28 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 11.08 จากปีก่อนหน้า) (2) เคมีภัณฑ์ 41,559.38 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 9.30) (3) น้ำมันสำเร็จรูป 37,350.26 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 80.24) (4) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 29,000.12 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 85.35) (5) แผงวงจรฟ้า 27,058.95 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 35.67) (6) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 18,815.07 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 16.29) (7) เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ 15,692.08 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 585.61) และ (8) ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ 10,662.76 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 18.62)

อนึ่ง ตัวเลขสถิติการค้าที่จัดทำโดยหน่วยงานฝ่ายไทยแตกต่างจากตัวเลขที่จัดทำโดยฝ่ายสิงคโปร์ ซึ่งจากการตรวจสอบกับกระทรวงพาณิชย์ทราบว่า สถิติการค้าของสิงคโปร์นับการส่งออกซ้ำ (re-export) จึงทำให้ตัวเลขมูลค่าการค้าสูงกว่าของฝ่ายไทย โดยจากเว็บไซต์ของกรมสถิติสิงคโปร์ (www.singstat.gov.sg) การค้าไทย – สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่า 1.06 ล้านล้านบาท (42,100 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์) ซึ่งสูงกว่าสถิติของฝ่ายไทยที่กล่าวข้างต้น

การลงทุนของสิงคโปร์ในไทยปี 2565

สิงคโปร์เป็นแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญของไทยอันดับที่ 52 (รองจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และไต้หวัน) ซึ่งแม้จะมีอันดับลดลงจากเมื่อปี 2564 ที่อยู่ในลำดับที่ 3 (รองจากจีนและญี่ปุ่น) แต่ปริมาณคำขอลงทุนของสิงคโปร์ในไทยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในรูปแบบมูลค่าของเงินลงทุนและจำนวนโครงการ โดยมีมูลค่า 44,286 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 29,669 ล้านบาทเมื่อปี 2564 (ขยายตัวร้อยละ 50) และมีโครงการจำนวน 178 โครงการ จากเดิมเพียง 96 โครงการ (เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว)

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนโดยตรงของสิงคโปร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง2 เพิ่มจาก 12,273 ล้านบาท เมื่อปี 2562 เป็น 44,286 ล้านบาทในปี 2565 โดยสิงคโปร์เพิ่มการลงทุนในภาคการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง การเงินและประกันภัย และการผลิตสินค้าอาหารในช่วงปี 2564 – 2565 ต่อเนื่องจากการขยายการลงทุนด้านเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อปี 2561 – 2562

การลงทุนใน EEC3 ในช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 94 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนในไทยทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 44,948 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินลงทุนในไทยทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์ 8 ราย มูลค่าการลงทุน 2,006 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อนึ่ง สำหรับปี 2564 สิงคโปร์ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC เป็นอันดับที่ 3 (รองจากญี่ปุ่นและจีน) จำนวน 27 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 5,605 ล้านบาท แต่ยังตามหลังญี่ปุ่นและจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยญี่ปุ่นมีจำนวน 70 โครงการ มูลค่า 45,309 ล้านบาท ส่วนจีนมี 65 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 24,494 ล้านบาท

สำนักงาน Enterprise Singapore (ESG) (หน่วยงานภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์) เห็นว่า ภาคเอกชนสิงคโปร์มีศักยภาพและโอกาสที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการประเภทโซลูชั่นอัตโนมัติและหุ่นยนต์ Cloud Computing  Internet of Things (IoT) นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตได้พบปะผู้แทนระดับสูงของภาคเอกชนสิงคโปร์ ซึ่งหลายบริษัทแสดงความสนใจจะขยายการลงทุนในไทย อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ. Fulcrum Ventures Asia ประสงค์จะลงทุนในจังหวัดเมืองรองของไทยเพิ่มเติม


1 ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

2 ข้อมูลจากกองความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ BOI

3 ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์