กฎหมายที่เกี่ยวข้องและระเบียบการลงทุนขั้นพื้นฐาน

กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในสิงคโปร์ ที่สำคัญประกอบด้วย 5 ฉบับ ได้แก่

  1. Business Registration Act (Chapter 32)
    เป็นกฎหมายที่กำหนดภาพรวมของระเบียบวิธีการในการจดทะเบียนธุรกิจ
  2. Company Act (Chapter 50)
    เป็นกฎหมายที่กำหนดข้อบังคับต่างๆของบริษัท การจัดการเรื่องหุ้นและเงินกู้ การบริหารจัดการและการกำกับดูแลบริษัท การตรวจสอบบัญชีบริษัท การควบรวม การเลิกกิจการ บริษัทต่างชาติ ตลอดจนข้อกำหนดอื่นๆที่เกี่ยวกับบริษัท
  3. Limited Liability Partnership Act (Chapter 163A)
    เป็นกฎหมายที่กำหนดลักษณะ การจดทะเบียน การแปรรูป การบริหารจัดการ การกำกับดูแลการเลิกกิจการ ตลอดจนข้อกำหนดอื่นๆที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ
  4. Limited Partnership Act (Chapter 163B)
    เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบวิธีการการจดทะเบียน หน้าที่ การตรวจสอบ การเลิกกิจการ และกฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด
  5. Partnership Act (Chapter 391)
    เป็นกฎหมายที่กำหนดภาระความรับผิดชอบ ระเบียบวิธีการต่างๆ การเลิกกิจการ ตลอดจนกฎระเบียบอื่นๆ ของห้างหุ้นส่วนสามัญ

กฎระเบียบการลงทุน

สิงคโปร์ไม่จำกัดในการลงทุนขั้นเริ่มแรก นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนกิจการ (Feasibility Study) อาทิ ประเภทของกิจการหรือธุรกิจที่สนใจ และเดินทางไปสำรวจลู่ทางการลงทุนด้วยตนเอง หรือรับคำแนะนำจากบริษัทที่ปรึกษา โดยปกติการลงทุนในสิงคโปร์ ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจว่าจะลงทุนเองทั้งหมด หรือลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น แล้วจึงจัดทำรายงานข้อเสนอโครงการ (Proposal) เพื่อยื่นขอจดทะเบียนบริษัทต่อกรมทะเบียนการค้าและธุรกิจ (Accounting & Corporate Regulatory Authority : ACRA) ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย Business Act Cap 32 โดย ACRA จะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติจัดตั้งบริษัทประมาณ 14-60 วัน เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงสามารถจัดตั้งบริษัทพร้อมจัดหาแรงงาน หากเป็นแรงงานต่างชาติต้องขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน (Ministry of Manpower) นอกจากนี้หากมีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า จะต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงาน International Enterprise Singapore (IE Singapore) ด้วย รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้ที่ http://www.acra.gov.sg

ข้อจำกัดในการลงทุน

สิงคโปร์เป็นประเทศที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก และเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งในรูปแบบต่างๆ เช่น บริษัทข้ามชาติ (multinational corporation/MNC) หรือการมาตั้งสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ ทั้งนี้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นบริษัทได้ 100% ในเกือบธุรกิจสาขา โดยไม่มีกำหนดขั้นต่ำของเงินลงทุน มีการอนุญาตให้ผู้ลงทุนสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในสิงคโปร์ ภายใต้อายุสัญญาเช่าซื้อไม่เกิน 99 ปี รวมถึงมีความเป็นอิสระในการโอนเงินตราต่างประเทศและผลกำไรในการประกอบธุรกิจกลับคืนประเทศผู้ลงทุน อย่างไรก็ตามถึงแม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่เปิดกว้างในการลงทุนจาก แต่จะมีธุรกิจบางประเภทที่จำกัดสัดส่วนการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ อาทิ ธุรกิจการกระจายเสียง และการจัดสรรคลื่นความถี่ (เข้ามาลงทุนสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 49) กิจการด้านหนังสือพิมพ์ (ไม่เกินร้อยละ 5) และกิจการที่ห้ามนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ได้แก่ ธุรกิจด้านกฎหมาย และการประกอบอาชีพทนายความ รวมถึงบางสาขาที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิสาหกิจของรัฐ