สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Registered designs)

ข้อมูลพื้นฐาน

1. กฎหมายที่ให้ความคุ้มครอง

พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์จดทะเบียน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 และข้อบังคับว่าด้วยแบบผลิตภัณฑ์จดทะเบียน ปี 2543

2. ระบบให้ความคุ้มครอง

ใช้ระบบจดทะเบียนสิทธิบัตรแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ยื่นขอจดทะเบียนจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ โดยยื่นขอจดทะเบียนต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสิงคโปร์ แผนกจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ (Registry of Designs, Intellectual Property Office of Singapore)

3. สิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง

แบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง ลักษณะต่างๆของรูปร่างและรูปทรงหรือรูปแบบหรือสิ่งประดับที่ใช้กับสิ่งของโดยกระบวนการทางอุตสาหกรรมใดๆ แต่ไม่รวมถึง

  1. วิธีการหรือหลักการก่อสร้าง หรือ
  2. ลักษณะต่างๆของรูปร่างและรูปทรงของสิ่งของซึ่ง
    – ถูกกำหนดเช่นนั้นด้วยหน้าที่การทำงานของตัวสิ่งของนั้นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
    – ต้องอาศัยรูปร่างภายนอกของสิ่งของอื่น ที่ผู้ออกแบบตั้งใจที่จะให้แบบผลิตภัณฑ์นั้นใช้เป็นส่วนประกอบ
    – ซึ่งทำให้สิ่งของถูกเชื่อมต่อหรือวางอยู่ในรอบๆหรือพิงกับสิ่งของอื่นๆ จนกระทั่งสิ่งของนั้นสามารถแสดงหน้าที่การทำงานของตนเองได้
    – แบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกันกับงานศิลปกรรม (corresponding design in relation to an artistic work) หมายถึง แบบผลิตภัณฑ์ซึ่งเมื่อใช้กับสิ่งของแล้วจะก่อให้เกิดการทำซ้ำงานนั้น
    – แบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (textile design) หมายถึง สินค้าประเภทสิ่งทอหรือชิ้นพลาสติก ผ้าเช็ดหน้า ผ้าคลุมไหล่ หรือจำพวกอื่นๆ ของสิ่งของที่มีลักษณะอย่างเดียวกันตามที่นายทะเบียนอาจกำหนดเป็นครั้งคราวซึ่งความคุ้มครองถูกจำกัดเฉพาะลักษณะของแบบและการประดับประดาเท่านั้น

4. อายุการคุ้มครอง

แบบผลิตภัณฑ์มีอายุความคุ้มครองสูงสุด 15 ปี โดยได้รับความคุ้มครองนับจากวันจดทะเบียนเป็นเวลา 5 ปี และสามารถขยายอายุการคุ้มครองได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 5 ปี

5. การต่ออายุความคุ้มครอง

การยื่นต่ออายุแบบผลิตภัณฑ์สามารถทำได้โดยการยื่นแบบฟอร์ม D8 และชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุภายใน 6 เดือนก่อนแบบผลิตภัณฑ์หมดอายุ

ทั้งนี้ภายใน 6 เดือนหลังจากครบกำหนดวันต่ออายุยังสามารถที่จะยื่นต่ออายุแบบผลิตภัณฑ์ได้โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมล่าช้า 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมกับคำขอต่ออายุล่าช้า

ขั้นตอนการขอรับความคุ้มครอง

1.  การเตรียมคำขอ

บุคคลและนิติบุคคลหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าวอาจยื่นจดทะเบียนแบบผลิตภัณฑ์ได้โดยมีที่อยู่สำหรับการติดต่อในประเทศสิงคโปร์

2.  เอกสารที่ใช้ในการขอรับความคุ้มครอง

2.1  แบบฟอร์มคำขอระบุข้อความเป็นภาษาอังกฤษ

2.2  ข้อถือสิทธิ อย่างไรก็ตาม หลังจากยื่นคำขอแล้ว ผู้ยื่นคำขอไม่สามารถ แก้ไขข้อถือสิทธิให้กว้างขึ้นได้

2.3  ตัวอย่างแบบผลิตภัณฑ์จำนวน 3 ชุดที่เหมือนกัน

2.4  รูปเขียนแบบผลิตภัณฑ์สามารถใช้รูปแบบไม่เป็นทางการ (informal drawing) ในการยื่นคำขอจดทะเบียนได้โดยสามารถยื่นเป็นรูปสีหรือขาวดำก็ได้ ทั้งนี้รูปเขียนจะต้องวาดอย่างถูกต้องบนกระดาษขาวคุณภาพดี ที่มีขนาดไม่เกินกว่าความยาว 15 เซนติเมตรและความกว้าง 13 เซนติเมตร ซึ่งแสดงโดยเส้นดำที่มีความคมชัดและขนาดเสมอกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมีสัญลักษณ์แสดงขนาดคำอธิบายส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของแบบผลิตภัณฑ์และเครื่องหมายการค้าในรูปเขียน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเพิ่มรูปเขียนแบบผลิตภัณฑ์ได้ ถ้าเป็นการเพิ่มขอบเขตการคุ้มครองของแบบผลิตภัณฑ์

2.5  คำพรรณนาแบบผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องระบุในคำขอจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับข้อที่ 15 กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอต้องยื่นคำแถลงแสดงความใหม่ที่บรรยายถึงลักษณะต่างๆของแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ยื่นคำขอเห็นว่ามีความใหม่ อาทิ รูปร่าง รูปทรง แบบแผนและ/หรือสิ่งประดับของสิ่งต่างๆที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์นั้น แต่ไม่จำเป็นต้องยื่นคำแถลงแสดงความใหม่ในกรณีของคำขอจดทะเบียนแบบหรือสิ่งประดับของแบบ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับสิ่งทอ วอลเปเปอร์ หรือวัสดุติดผนังอื่นๆ ลูกไม้ หรือชุดของสิ่งทอและลูกไม้

2.6  ประเภทแบบผลิตภัณฑ์ใช้ระบบ Locarno โดยชื่อประเภทและประเภทย่อยของแบบผลิตภัณฑ์มีอยู่ในตารางที่สามของข้อบังคับแบบผลิตภัณฑ์ปี พ.ศ. 2543

2.7  ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ
เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นจดทะเบียนไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการรับรองลายมือชื่อโดยกระทรวงการต่างประเทศหรือสถานทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย

3. การตรวจสอบคำขอ

 นายทะเบียนจะตรวจสอบคำขอภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน

4. การประกาศโฆษณา

แบบผลิตภัณฑ์จะได้รับการประกาศโฆษณาในหนังสือประกาศโฆษณาแบบผลิตภัณฑ์ในทันทีที่ได้รับการอนุมัติการจดทะเบียนจากนายทะเบียน โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี นับจากวันยื่นคำขอ ในกรณีที่นายทะเบียนตรวจสอบแล้วพบว่าคำขอถูกต้องตามแบบพิธี

5. การรับจดทะเบียน

เมื่อแบบผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายกำหนดผู้ตรวจสอบก็จะพิจารณารับจดทะเบียน

6.  การขอถือสิทธิย้อนหลัง ผู้ยื่นคำขอสามารถขอถือสิทธินับวันยื่นคำขอในประเทศไทยย้อนหลังเป็นวันยื่นคำขอในประเทศสิงคโปร์ได้ ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอภายใน 6 เดือนนับจากวันยื่นคำขอจดทะเบียนครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้แบบฟอร์ม D3 พร้อมชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้ง หนังสือรับรองคำขอจดทะเบียนแบบผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย ซึ่งออกโดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษซึ่งต้องรับรองคำแปลถูกต้องโดยกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ