แผนสิงคโปร์สีเขียว (SGP) 2030

แผนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนของสิงคโปร์ในระยะเวลา 10 ปี (2564 – 2573)

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างมาก อันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านภูมิประเทศ เช่น การขาดแคลนแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และการมีพลังงานทางเลือกที่จำกัด เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาของ Singapore Green Plan 2030 ซึ่งเป็นวาระระดับชาติของสิงคโปร์ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ในระยะเวลา 10 ปี (2564 – 2573)ให้สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 (SDG) และความตกลงปารีส (COP21) ภายใต้การกำกับดูแลด้านนโยบายและแผนการปฏิบัติของกระทรวงสำคัญ 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม   และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม

เป้าหมายสำคัญของแผนฉบับนี้ คือ 1) การยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในโอกาสแรก 2) การลดการปล่อยมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 3) การเสริมสร้างบทบาทการเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนและเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Global City of Sustainability) ของสิงคโปร์ 4) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก รวมถึงการลดการใช้พลังงาน 15% และ 5) การลดปริมาณขยะ 30% และ 6) การส่งเสริมการผลิตอาหารภายในประเทศ 30% ภายในปี 2573 (30 by 30)

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 นาง Grace Fu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ กล่าวในการบรรยายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในสารคดี “A Wicked Problem” ของ Channel News Asia ว่า แผนการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้นโยบายการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนของสิงคโปร์เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนจะต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนแผนดังกล่าว กล่าวคือ รัฐบาลจะต้องให้บริการสาธารณะโดยบริหารการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ภาคเอกชนต้องส่งเสริมการดำเนินธุรกิจสีเขียว (อาทิ Zero Waste) และการเงินสีเขียว ส่วนภาคประชาชนจะต้องมีความตระหนักรู้ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและประหยัด เพื่อให้สิงคโปร์พัฒนาไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้วย 

แผนการดำเนินงาน

Singapore Green Plan 2030 ประกอบด้วยแผนการและเป้าหมาย 5 สาขา ได้แก่

1) City in Nature ได้แก่ 1.1) การจัดสรรพื้นที่สวนสาธารณะและอุทยานธรรมชาติ ทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นอีก 50% หรือประมาณ 200 เฮกตาร์ (1,250 ไร่) ซึ่งทุกครัวเรือนสามารถเดินถึงสวนสาธารณะได้ภายใน 10 นาที 1.2) การปลูกต้นไม้จำนวน 1 ล้านต้น ซึ่งจะช่วยจำกัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 78,000 ตัน และ 1.3) การพัฒนาโครงการแนวทางอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าและการอนุรักษ์สัตว์ของภาครัฐ-เอกชน

2) Sustainable Living ได้แก่ 2.1) Circular Economy มุ่งให้สิงคโปร์เป็น Zero Waste Nation โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงในกระบวนการผลิตใหม่ เพื่อใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ระบบการบำบัดน้ำเสียจากทุกครัวเรือนและทุกอตสาหกรรมในประเทศเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (NEWater) การนำขยะมูลฝอยเข้าสู่นวัตกรรม Upcycling เพื่อแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ (NEWSand) และการตั้งเป้าหมายลดการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบลง 30% ภายในปี 2573 2.2) Green Commute เช่น โครงการพัฒนาเมืองใหม่ Tengah ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ บนพื้นที่กว่า 4,300 ไร่ มีเป้าหมายคือการเป็นเมืองต้นแบบสีเขียว ศูนย์ First car-free HDB town centre การติดตั้งเซลล์สุริยะและระบบหล่อเย็นในที่พักอาศัยในโครงการรัฐทั้งหมดเพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ และการติดตั้งระบบท่อส่งขยะจากอาคารตรงไปรวมกันที่ศูนย์จัดการขยะส่วนกลาง เป็นต้น กอปรกับแผนการขยายการคมนาคมสีเขียว ได้แก่ เส้นทางรถไฟใต้ดิน (MRT) จาก 230 กิโลเมตร ในปัจจุบันเป็น 360 กิโลเมตร ช่องทางจักรยาน จาก 460 กิโลเมตร ในปัจจุบันเป็น 1,320 กิโลเมตร การปรับปรุงพื้นที่ทางเท้า และจูงใจให้ชาวสิงคโปร์ใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นจาก 64% ในปัจจุบัน เป็น 75% ภายในปี 2573 และ 2.3) Greener Efforts in Schools หรือการปลูกฝังเยาวชนผ่านการศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงค่านิยม วิถีชีวิต ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และเรียนรู้วิธีการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ในครัวเรือนผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Eco Stewardship Programme เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคโรงเรียนอย่างมีนัยสําคัญ และศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งใหม่ที่ Jurong Lake District ซึ่งกำหนดเปิดทำการในปี 2568

3) Energy Reset ได้แก่ 3.1) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อีก 4 เท่าภายในปี 2568 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือน 5 เท่า การลงทุน/สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาน้ำ เช่น การพัฒนาคุณภาพโรงงานผลิตน้ำจืด การติดตั้ง Floating Solar Farms และการก่อสร้างโครงการโรงงานบำบัดน้ำเสียและขยะมูลฝอยแบบบูรณาการแห่งแรกของสิงคโปร์ที่เขต Tuas ในปี 2568 3.2) การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินเพิ่มขึ้นทุกปีที่ 2% จนถึงปี ค.ศ. 2050 (หรือ พ.ศ. 2593) 3.3) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งระหว่างประเทศให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2593 3.4) การกำหนดมาตรการการใช้หลอดไฟ Smart LED และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ใน HDB ทุกแห่ง เพื่อลดการใช้พลังงานเหลือ 15% ภายในปี 2573 3.5) การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ภายในปี 2573 และ 3.6)การลดการใช้พลังงานในที่พักอาศัยในโครงการรัฐ (HDB) 15%

4) Green Economy แผนการดำเนินงาน ได้แก่ 4.1) เตรียมการ/เร่งผลักดันให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางชั้นนําด้านการเงินสีเขียวในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก (Leading Centre for Green Finance) 4.2) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมสีเขียวในสิงคโปร์ภายใต้โครงการ Research, Innovation & Enterprise Plan 2025 (พ.ศ. 2568) เพื่อดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการลดคาร์บอนและการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonisation Technology) รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) เพื่อสนับสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

5) Resilience Future ได้แก่ 5.1) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งรอบประเทศใน 4 พื้นที่ ได้แก่ East Coast, Lim Chu Kang, Sungei Kadut และ Jurong Island 5.2) การริเริ่มการใช้สีโทนอ่อนทาอาคารเพื่อลดอุณหภูมิและลดการดูดซับความร้อน 5.3) นโยบายความมั่นคงทางอาหาร 30 by 30 โดยรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านการเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกษตรในอาคาร (Indoor Farming) และการเกษตรเเนวตั้ง (Vertical Farming) ทั้งยังมีนโยบายดึงดูดสตาร์ทอัพด้าน FoodTech และ AgriTech จากทั่วโลก

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังส่งเสริมให้ภาครัฐเน้นความยั่งยืนมากขึ้น (Green Government) โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ในช่วงปี 2568 หรือก่อนที่ตั้งเป้าหมายไว้ 5 ปี และจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและประชาชนใช้แนวปฏิบัติที่ยั่งยืน อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (green procurement) 

ข้อมูลเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ ได้ร่วมงาน Lianhe Zaobao Singapore Budget 2021 Business Forum และมีความเห็นว่า 1) ผู้ประกอบการในสิงคโปร์ควรปรับตัวเข้าสู่ Green Business เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน (go green to stay competitive) และ 2) รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเข้าสู่ Green Business เช่น กองทุน Energy Efficiency Fund เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทุนติดตั้งเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานในสถานประกอบการ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นาง Grace Fu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ของสิงคโปร์ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน Singapore Fintech Awards Night ว่า ภาคการเงินคือหัวใจสำคัญของ เศรษฐกิจสีเขียว และสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์การเป็นศูนย์กลางชั้นนําด้านการเงินสีเขียวในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก โดยจะเร่งพัฒนาตลาดการเงินสีเขียวที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ Green FinTech รวมถึง AI และ machine learning เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และสามารถแจ้งการตัดสินใจหรือแนวทางการบริหารความเสี่ยงได้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์