สิทธิบัตร

ข้อมูลพื้นฐาน

1. กฎหมายที่ให้ความคุ้มครอง

พระราชบัญญัติสิทธิบัตร บทที่ 221 พ.ศ. 2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2551

2. ระบบให้ความคุ้มครอง ใช้ระบบการจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์

3. สิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง/นิยามการประดิษฐ์ที่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ จะต้องเป็นการประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และกรรมวิธี การประดิษฐ์ที่จะได้รับความคุ้มครอง จะต้องครบองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

  • จะต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
  • จะต้องเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และ
  • จะต้องเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม

4. อายุความคุ้มครอง

สิทธิบัตรการประดิษฐ์จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศรับจดทะเบียนได้รับการโฆษณาในหนังสือประกาศโฆษณาสิทธิบัตร (Gazette) และมีผลใช้บังคับในระยะเวลา 20 ปี นับจากวันที่ขอจดทะเบียน ทั้งนี้ไม่มีการต่ออายุการคุ้มครอง

การขอรับความคุ้มครอง

1. เอกสารที่ใช้ในการขอรับความคุ้มครอง

เอกสารที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรประกอบด้วย คำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรที่จะต้องระบุผู้ขอรับสิทธิบัตร การบรรยายถึงรายละเอียดการประดิษฐ์ และรูปเขียน (ถ้ามี) และเอกสารดังต่อไปนี้

  1. แบบคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับยื่นคำขอรับสิทธิบัตร
  2. แบบคำขอสำหรับแต่งตั้งตัวแทนสิทธิบัตร
  3. รายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิและบทสรุปการประดิษฐ์ รวมทั้งรูปเขียน จำนวน 3 ชุด
  4. แบบคำขอสำหรับหนังสือแสดงสิทธิการเป็นผู้ประดิษฐ์ และสิทธิในการรับสิทธิบัตร ซึ่งจะต้องยื่นภายใน 16 เดือน นับแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเป็นครั้งแรก
  5. เอกสารแสดงสิทธิในการขอถือสิทธิย้อนหลัง (priority document) ฉบับรับรองโดยสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในกรณีที่เอกสารไม่ใช่ภาษาอังกฤษ จะต้องจัดทำคำแปลฉบับภาษาอังกฤษ และรับรองคำแปลถูกต้องด้วย

ทั้งนี้เอกสารข้างต้นตามข้อ 1-5 จะต้องจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่ต้องมีการรับรองเอกสารโดยโนตารีพับลิค (Notary Public) หรือกระทรวงการต่างประเทศ

2. การตรวจสอบคำขอ

การตรวจสอบเบื้องต้น
สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศสิงคโปร์ จะดำเนินการตรวจสอบคำขอเบื้องต้น เมื่อครบกำหนด 18  เดือน นับแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรือนับแต่วันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเป็นครั้งแรก (ในกรณีที่มีการขอถือสิทธิย้อนหลัง) ทั้งนี้ คำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะได้รับการประกาศโฆษณาสิทธิบัตร            

การตรวจสอบการประดิษฐ์
ผู้ขอจดทะเบียนสามารถยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทันทีที่ได้รายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ภายในระยะเวลา 28 เดือน นับแต่วันที่ขอให้ถือสิทธิย้อนหลังหรือนับแต่วันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ทั้งนี้ระยะเวลาในการยื่นขอตรวจสอบการประดิษฐ์สามารถขยายได้ แต่ไม่เกิน 3 เดือน

ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT : Patent Cooperation Treaty) ดังนั้น ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลไทย จึงมีสิทธิยื่นคำขอระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพียงคำขอเดียวโดยไม่จำเป็นต้องยื่นผ่านสำนักงานตัวแทนในประเทศดังกล่าว

บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ แต่ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ จะต้องมีตัวแทนในประเทศสิงคโปร์เพื่อใช้ในการติดต่อกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Office of Singapore : IPOS)  คำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรต่างประเทศที่ยื่นภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางสิทธิบัตร (The Patent Cooperation Treaty) สามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรได้กับนายทะเบียนในฐานะสำนักงานรับคำขอ (Receiving Office) ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติหรือถิ่นที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์