แผนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์

สำนักสารสนเทศ การสื่อสาร และการพัฒนาสื่อ (Infocomm Media Development Authority – IMDA) ของสิงคโปร์ได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Singapore Digital Economy Framework for Action หรือ SG:D Framework for Action) เมื่อปี 2561 ต่อเนื่องจากการจัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม Industry Transformation Maps (ITMs) 23 สาขา ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรม S-Curve ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เต็มรูปแบบ โดยแผน SG:D Framework for Action ตั้งเป้าหมายการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลแก่แรงงาน (2) การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ภาคเอกชนในสิงคโปร์มีศักยภาพในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตลอดเวลา (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพและเชิงดิจิทัล โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และ (4) การสร้างหลักธรรมาภิบาล นโยบาย และมาตรฐานด้านดิจิทัล เช่น กฎหมายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการปกป้องข้อมูล เป็นต้น

สัดส่วนของดิจิทัลต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์

จากการศึกษาของบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ประเมินว่าตั้งแต่ปี 2560 สินค้าและบริการดิจิทัล คิดเป็นประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์ จนถึงปี 2564 การเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ได้สร้างมูลค่าแก่ GDP สิงคโปร์แล้วประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโต 0.6% ทุกปี และคาดว่าภายในปี 2568 สินค้าและบริการดิจิทัลจะคิดเป็นประมาณ 60% ของ GDP สิงคโปร์ ซึ่งการดำเนินการตามแผนเศรษฐกิจดิจิทัลจะส่งผลดีต่อสิงคโปร์ใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) สัดส่วนกำไรในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น (2) ผลิตภาพรวมสูงขึ้น (3) รายได้จากสินค้าและบริการใหม่สูงขึ้น (4) คุณภาพการบริการลูกค้าดีขึ้น และ (5) ต้นทุนต่ำลง โดยบริษัทไมโครซอฟท์ประเมินว่า ปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนในสิงคโปร์ประมาณ 98% อยู่ระหว่างการเปลี่ยนเป็นดิจิทัล

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ให้ข้อมูลว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีส่วนเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัลในสิงคโปร์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาคการวิจัยและพัฒนาและในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เมื่อปี 2551 ภาคการผลิตสิงคโปร์มีอัตราการใช้หุ่นยนต์ 1 ตัวต่อแรงงาน 1,000 คน แต่ปัจจุบันมีอัตราการใช้หุ่นยนต์ 45 ตัวต่อแรงงาน 1,000 คน เมื่อปี 2560 การค้าอีคอมเมิร์ซคิดเป็นร้อยละ 0.3% ของ GDP สิงคโปร์ เมื่อปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 0.7% ของ GDP lสิงคโปร์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เช่นเดียวกับการขายออนไลน์ (e-sales) เพิ่มขึ้นร้อยละ 32% ในปี 2563 เนื่องจากมาตรการทางสาธารณสุขและล็อกดาวน์ในสิงคโปร์

การจัดทำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกับต่างประเทศ

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ตระหนักถึงแนวโน้มดิจิทัลที่กำลังเติบโต ปัจจุบันได้จัดทำ (1) ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลทวิภาคี (Digital Economy Agreements – DEA) กับ 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ และ (2) ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลพหุภาคี (Digital Economy Partnership Agreement) 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ชิลี และนิวซีแลนด์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากความตกลงเพื่อพัฒนาธุรกิจสู่ดิจิทัล รวมถึงภาคการธนาคาร ทั้งธนาคาร DBS Bank ธนาคาร Emirates NBD และธนาคาร Standard Chartered ซึ่งได้ใช้ประโยชน์จาก DEA โดยร่วมกับสำนักงาน IMDA และธนาคารกลางสิงคโปร์ ในการจัดทำโครงการนำร่องการจัดหาเงินทุนเพื่อการค้าทางดิจิทัลข้ามพรมแดนกับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  (หน่วยงานกำกับดูแลบริการทางการเงิน FSRA ของ Abu Dhabi Global Market)

ความร่วมมือกับประเทศไทย สิงคโปร์ได้แสดงความสนใจที่จะจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลกับประเทศไทยในหลายโอกาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ และการส่งเสริมความเชื่อมโยงของกระแสข้อมูล ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (MCI) ของสิงคโปร์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย อย่างไรก็ตาม บันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวเน้นด้านการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงเทคนิคแนวปฏิบัติ และการแลกเปลี่ยนบุคลากร จึงมิใช่ DEA ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ของสิงคโปร์

เมื่อปลายปี 2564 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ได้เสนอเอกสารข้อเสนอของฝ่ายสิงคโปร์ ว่าด้วยการจัดทำ DEA ทวิภาคีกับไทยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไทยพิจารณาแล้ว ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมชทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. / ETDA) จัดการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กต. พณ. และหน่วยงานความมั่นคงของไทยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ DEA กับสิงคโปร์ โดยที่ประชุมเห็นว่าฝ่ายไทยควรเริ่มพิจารณาเฉพาะในสาขาที่เป็นประโยชน์กับไทยและไทยมีความพร้อม


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.imda.gov.sg/-/media/Imda/Files/SG-Digital/SGD-Framework-For-Action.pdf

https://news.microsoft.com/en-sg/2018/02/21/digital-transformation-contribute-us10-billion-singapore-gdp-2021/

https://www.mas.gov.sg/-/media/MAS/EPG/MR/2021/Oct/
MROct21_Box_A.pdf?la=en&hash=FF464D2E8E34357B55FBD90C8F85D63BC7DBC7B9

https://www.mti.gov.sg/Trade/Digital-Economy-Agreements