แผนวิจัย นวัตกรรม และธุรกิจ (RIE) 2025 (Research, Innovation and Enterprise 2025)

แผนการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

พัฒนาการสำคัญด้านนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของสิงคโปร์ 

สิงคโปร์ได้จัดตั้งคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (National Science and Technology Board – NSTB) และจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับแรก เมื่อปี 2534 (ค.ศ. 1991) โดยใช้ชื่อว่า National Technology Plan 19951 เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา   ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับห่วงโซ่มูลค่าเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และ    การพัฒนาบุคลากรทั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักเทคโนโลยี เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจในสิงคโปร์

แผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฉบับที่ 2 – 4 ใช้ชื่อว่า Science and Technology Plan (2000 2005 และ 2010) ต่อมาเมื่อปี 2553 สิงคโปร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนวิจัย นวัตกรรม และธุรกิจ (Research, Innovation and Enterprise – RIE) และจัดตั้งสถาบันการวิจัยแห่งชาติ (National Research Foundation – NRF) ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์รวมทั้งจัดทำโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีทางน้ำ และสื่อดิจิทัลแบบตอบโต้ ซึ่งแผน RIE 2015 ได้รวมยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมด้านการพาณิชย์เพื่อส่งเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการด้วย รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยี ที่สำคัญยิ่งในขณะนั้น ได้แก่ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และประเด็นด้านอาหาร

นอกจาก NRF ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนโยบายแล้ว สิงคโปร์ยังมีหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่ Agency for Science, Technology and Research (A*STAR) ศูนย์วิชาการด้านการแพทย์และโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึง The Campus of Research Excellence and Technological Enterprise (CREATE) ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำซึ่งมีความร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศ ทั้งยังได้จัดตั้งห้องทดลองและศูนย์วิจัยเพื่อรองรับแผน RIE อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึง   St John’s Island National Marine Laboratory และ National Supercomputing Centre และมุ่งพัฒนาบุคลากรในสาขาใหม่ ๆ ได้แก่ เทคโนโลยีควอนตัม ศูนย์วิจัยโรคต้อหินและเรตินา วัสดุสองมิติ และโฟโทนิกส์ รวมถึงการส่งเสริมการตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระดับนานาชาติ

แผน RIE 2025 (ฉบับปัจจุบัน)

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังของสิงคโปร์ และประธาน NRF แถลงว่า ที่ประชุมสภาวิจัย นวัตกรรม และธุรกิจ (RIE Council) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติงบประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 1% ของ GDP ต่อปี ในการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมตามแผน RIE 2025 (ปี 2564 – 2568)

ที่ประชุมสภา RIE (ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี และผู้นำด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และธุรกิจ) เห็นพ้องว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่เริ่มแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ฉบับที่ 1) การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ของสถาบันวิจัยและศูนย์การแพทย์ของสิงคโปร์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และกำลังมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อภาคธุรกิจ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับความท้าทายของโลก เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคระบาดครั้งใหม่ในอนาคต

แผน RIE 2025 ฉบับนี้จะต่อยอดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก และสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลสิงคโปร์ในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาขาเป้าหมาย ดังนี้
(1) การผลิต การค้า และความเชื่อมโยง (Manufacturing, Trade and Connectivity) โดยขยายศักยภาพของภาคการผลิตไปยังภาคการค้าและการสร้างความเชื่อมโยง เช่น การบิน การขนส่งทางทะเล โลจิสติกส์ และการค้าส่ง
(2) สุขภาพและศักยภาพของมนุษย์ (Human health and Potential) รัฐบาลสิงคโปร์เห็นว่าการพัฒนาสุขภาพและสาธารณสุขจะช่วยพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ด้วย โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาสุขภาพในช่วงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย การเพิ่มผลลัพธ์ในการเรียนรู้ และการสร้างภาวะอายุยืนอย่างแข็งแรงและมีคุณค่า
(3) การพัฒนาเมืองและความยั่งยืน (Urban Solutions and Sustainability)
เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนและความยืดหยุ่น ซึ่งรวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการลดการปล่อยคาร์บอน การสร้างเมืองสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น
(4) ชาติอัจฉริยะและเศรษฐกิจดิจิทัล (Smart Nation and Digital Economy) เป็นวาระแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ให้ความสำคัญ โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาบริการภาครัฐ การสร้างและปรับปรุงพื้นที่ดิจิทัลสำหรับภาคเอกชน รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค

นอกจากนี้ RIE 2025 ยังตั้งเป้าหมายที่จะสนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยและวิชาการระดับโลก การส่งเสริมการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เพียงพอต่อความต้องการ  ทั้งในภาครัฐและเอกชน และการสนับสนุนเงินทุนการวิจัยแก่ภาคเอกชนหรือบุคคลเพื่อสร้างสรรค์งานวิจัย (bottom-up research ideas) โดยเฉพาะการวิจัยแบบสหสาขาวิชาในด้านใหม่ ๆ เช่น วัสดุสารสนเทศ (materials informatics) นาโนอิเล็กทรอนิกส์ (nanoelectronics) และโภชนพันธุศาสตร์เหนือยีนส์ (nutri-epigenetics)

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของสิงคโปร์ ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพคือ วิสัยทัศน์ นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง โดยวางนโยบายการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมทั้งต่อภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของสิงคโปร์เน้นความเชื่อมโยงกับนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ และผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในการแถลงข่าววันแรงงาน 2564 (May Day Rally Speech) นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์เน้นว่า เรื่องดิจิทัลภิวัตน์ การใช้ระบบหุ่นยนต์ และความยั่งยืน จะเป็นกระแสการพัฒนาประเทศ ในช่วงต่อจากนี้ ซึ่งจะช่วยให้สิงคโปร์ไม่พลาดโอกาสในการเติบโตและช่วยส่งเสริมการสร้างงานแก่ประชาชน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 64 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังของสิงคโปร์ได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมสภา Future Economy Council ครั้งที่ 1 (FEC) ว่าจะบูรณาการแผน RIE 2025 กับแผน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ Industry Transformation Maps 2025 (ITM 2025) อย่างใกล้ชิด

คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB) เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของ Tech Talent อาทิ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เนื่องจากในเมืองหลวงของหลายประเทศ (รวมถึงกรุงเทพฯ และกรุงจาการ์ตา) ยังคงเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งถือเป็นโอกาสที่สิงโปร์จะขยายความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มชาติอัจฉริยะกับ ประเทศเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ EDB ยังได้จัดทำโครงการตรวจลงตราประเภททำงาน Tech.Pass เพื่อดึงดูดบุคลากรด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นการเฉพาะ อนึ่ง สิงคโปร์ประสงค์จะร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร การแพทย์ทางไกล และสาธารณสุขกับไทย


1 ใช้ปีสุดท้ายของแผนเพื่อบ่งบอกถึงปีที่แผนจะประสบความสำเร็จใกล้เคียงกับแผนต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ เช่น SDG 2030


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง