การพัฒนาสู่ต้นแบบรัฐบาลดิจิทัลของสิงคโปร์

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานภาครัฐทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญในการนำบริการสาธารณะและหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลเข้าสู่ยุคดิจิทัล เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 นาย Syed Munir Khasru ประธานร่วมของคณะทำงานในการปฏิรูปดิจิทัล กลุ่ม G-20 (G-20 Task Force on Digital Transformation) และประธานสถาบัน Institute for Policy, Advocacy and Governance ได้แสดงความเห็นว่า สิงคโปร์มีศักยภาพและสามารถเป็นต้นแบบของรัฐบาลดิจิทัล (digitizing government) หรือการบริหารประเทศโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(e-governance) ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยสามารถใช้ G-20 เป็นเวทีสำหรับการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดต่อประเทศกำลังพัฒนา

ความท้าทายในการจัดตั้ง e-governance นั้นเกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดได้บีบบังคับให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกต้องเปลี่ยนโฉมสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว หลายประเทศที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยกว่าต้องเผชิญความท้าทาย เช่น 1) การรับมือกับความไร้ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น 2) ความสามารถในการปรับตัวที่อ่อนแอลง 3) ความล่าช้าในการกำหนดกฎหมายใหม่ในการเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล 4) รัฐบาลบางประเทศต้องเผชิญกับการต่อต้านจากข้าราชการเมื่อพยายามรวมเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

จากข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Communication Union – ITU) เมื่อปี 2562 มีเพียงร้อยละ 47 ของครัวเรือนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เมื่อเทียบกับร้อยละ 87 ของครัวเรือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (least developed country-LDC) มีเพียงร้อยละ 19 ของครอบครัวที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

สิงคโปร์กับการก้าวสู่ต้นแบบรัฐบาลดิจิทัล

รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มผลักดันการใช้คอมพิวเตอร์ในระบบราชการตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยมุ่งเน้นการปรับแนวคิดให้พนักงานของรัฐยอมรับและเข้าใจประโยชน์ของนวัตกรรม รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์ของการพัฒนาสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-governance ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถลดเวลาการส่งมอบบริการและสามารถเข้าถึงได้เสมือนจริงอย่างปลอดภัยตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ เมื่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเร่งปรับการให้บริการสาธารณะสู่รูปแบบดิจิทัล สิงคโปร์ที่มีความพร้อมในระบบอยู่แล้วจึงได้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น

1) ภาวะโรคด้านสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) ที่พัฒนาโดยกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ (Ministry of Health – MOH) ช่วยให้ผู้ป่วยที่บ้านสามารถวัดสัญญาณชีพ เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ผ่านนาฬิกาที่ติดตั้ง Bluetooth หรืออุปกรณ์อื่น ๆ อีกทั้งการติดตั้งหุ่นยนต์เพื่อลาดตระเวนหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐ ได้ช่วยรับมือกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด

2) สิงคโปร์ร่วมมือกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ปรับปรุงบริการตรวจคนเข้าเมืองให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น เช่น การใช้แอปพลิเคชันโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการจดจำใบหน้า และเครื่องมือดิจิทัลอื่น ๆ แทนที่เอกสารที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้พลเมืองและนักเดินทางสามารถเดินทางผ่านสนามบินและจุดผ่านแดนได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น  

3) บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ช่วยให้พลเมืองมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการทางออนไลน์ ซึ่งยังเป็นแนวคิดที่แปลกใหม่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก แผนปฏิบัติการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันของสิงคโปร์ช่วยให้บริการสาธารณะเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพ โดยเน้นที่การโต้ตอบแบบดิจิทัลระหว่างหน่วยงาน พลเมือง ธุรกิจ และพนักงานของรัฐ

การส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัลจากกลุ่ม G-20

กลุ่ม G-20 ได้ส่งเสริม e-governance ภายใต้แผน “อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน” ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยในปี 2560 ผู้นำในกลุ่มประเทศให้คำมั่นที่จะลดความแตกแยกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระหว่างประเทศที่มีทรัพยากรเทคโนโลยีและประเทศที่มีรายได้ต่ำให้ได้ภายในปี 2568 รวมทั้งส่งเสริมมาตรฐานสากลสำหรับการก้าวสู่ดิจิทัลภายใต้หลักการความเปิดกว้าง ความโปร่งใส และความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความร่วมมือทางดิจิทัลระหว่างประเทศ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยให้โลกไซเบอร์ปลอดภัย และธรรมาภิบาลทั่วโลกมีความรับผิดชอบและโปร่งใสมากขึ้น  

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G-20 ปี 2564 ที่เมือง Trieste ประเทศอิตาลี รัฐมนตรีเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มต่างเห็นด้วยกับการประกาศสรุปว่า รัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบควรให้บริการดิจิทัลเชิงรุก เน้นที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนโดยผู้ใช้ ปลอดภัย ใช้งานง่าย และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน รวมทั้งควรเสริมสร้างความมั่นใจให้ประชาชนด้วยการสนับสนุนการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของพลเมืองและธุรกิจ

ทั้งนี้ นาย Khasru มองว่า ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์จะสามารถเป็นตัวอย่างช่วยกลุ่ม G-20 ในการขยายวาทกรรมสู่วงกว้าง โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ในการเปลี่ยนไปใช้ธรรมาภิบาลดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สถาบัน Chandler Institute of Governance ซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ปัจจุบัน ถือเป็นอันดับที่ 3 ของโลกในด้านการปกครองที่มีประสิทธิภาพ (10 อันดับแรก เป็นประเทศในยุโรปตะวันตก และนิวซีแลนด์ อันดับที่ 9)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง

https://asia.nikkei.com/Opinion/Singapore-has-lessons-to-offer-the-world-on-digitizing-government