ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย – สิงคโปร์

ไทยและสิงคโปร์มีความผูกพันกันยาวนาน มาตั้งแต่ก่อนที่สิงคโปร์จะประกาศเอกราช โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการที่มีส่วนช่วยสร้างความต่อเนื่องทางนโยบายและความร่วมมือระหว่างกัน เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่งที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ เยือนสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2413 ก่อนจะเสด็จเยือนอังกฤษซึ่ งในขณะนั้นสิงคโปร์ยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ถือเป็นครั้งแรกที่พระประมุขของไทยได้เสด็จฯ ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศด้วยพระองค์เอง โดยได้ทรงศึกษาความเจริญก้าวหน้าและวิทยาการในด้านต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศให้มั่นคงและเข้มแข็ง  ทั้งนี้ ในการเสด็จฯ เยือนสิงคโปร์ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 – 23 มีนาคม 2414 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรูปปั้นช้างสำริดแก่สิงคโปร์  ซึ่งปัจจุบันทางการสิงคโปร์ได้เชิญไปประดิษฐานบนแท่นอนุสาวรีย์ด้านหน้าอาคารดิ อาร์ท เฮาส์  (The Arts House) ด้วย 

ภายหลังสิงคโปร์ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2508 ไทยและสิงคโปร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2508 และได้ขับเคลื่อนพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

ด้านการเมือง

ไทยกับสิงคโปร์ไม่มีประเด็นทางประวัติศาสตร์ระหว่างกัน และมีมุมมองในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์และด้านการเมืองระหว่างประเทศที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะประเด็นระดับภูมิภาค โดยทั้งสองประเทศได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อปี 2510 (ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ไทยกับสิงคโปร์ได้พัฒนาความสัมพันธ์ด้านการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกัน

การเสด็จพระราชดำเนินและเสด็จเยือนสิงคโปร์ของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยหลายพระองค์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นรากฐานสำคัญที่ได้ส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์แน่นแฟ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร) เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสิงคโปร์เพื่อทรงร่วมการประชุมระดับนานาชาติต่าง ๆ อาทิ การประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก (Global Young Scientists Summit – GYSS) อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ นางฮะลีมะฮ์ ยาคอบ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ พร้อมด้วยคู่สมรส ได้เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 และตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เมื่อปี 2547 นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้เดินทางเยือนประเทศไทยแล้ว 6 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2562 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 การประชุมที่เกี่ยวข้องที่ไทยเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานอาเซียน และเมื่อวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ในขณะที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 – 12 มิถุนายน 2558 และเดินทางเยือนสิงคโปร์เพื่อเข้าร่วมการประชุม IISS Shangri-La Dialogue 15th Asia Security Summit เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 32 และ 33 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 27 – 28 เมษายน 2561 และ 13 – 15 พฤศจิกายน 2561 ตามลำดับ

ไทยและสิงคโปร์ดำเนินความสัมพันธ์ภายใต้กรอบ Singapore – Thailand Enhanced Partnership (STEP) ตั้งแต่ปี 2540 โดยมีกลไกทวิภาคีที่สำคัญคือ การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรี (Leader’s Retreat) โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการไทยกับสิงคโปร์ (Civil Service Exchange Program – CSEP) และการปรึกษาหารือทางการเมือง (Political Consultation) ระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย – สิงคโปร์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของสองประเทศอยู่ระหว่างการหารือเรื่องการจัดการประชุม CSEP ครั้งที่ 14 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ

ด้านการทหารและความมั่นคง

ไทยและสิงคโปร์ได้พัฒนาความร่วมมือด้านการทหารอย่างต่อเนื่อง จนเป็นหนึ่งในความร่วมมือระหว่างกันที่มีพลวัตสูง ในช่วงที่ผ่านมา ไทยและสิงคโปร์ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้บังคับบัญชาระดับสูงของทั้งสามเหล่าทัพอย่างสม่ำเสมอ มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการบริหารร่วมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างกองทัพ และคณะทำงานร่วมกองทัพเรือไทย – สิงคโปร์ มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการฝึกบุคลากรด้านความมั่นคงและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ รวมถึงมีการฝึกร่วมทางทหารระหว่างกันทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับมิตรประเทศต่าง ๆ 

ด้านเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่สิงคโปร์ประกาศเอกราชในปี 2508 สิงคโปร์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและการเงินที่สำคัญ รวมถึงได้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีมูลค่ามากขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญอันดับต้นของไทยทั้งในอาเซียนและในระดับโลก โดยการลงทุนของสิงคโปร์ในไทยส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่ อาทิ กิจการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ รถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็ก ชิ้นส่วนยานยนต์ หัวฉีดเชื้อเพลิง และกิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ 

ไทยละสิงคโปร์ได้จัดการประชุม Singapore Thailand Enhanced Economic Relationship (STEER) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจทวิภาคีที่สำคัญ จำนวน 6 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดฝ่ายสิงคโปร์เจ้าภาพเมื่อปี 2560 สำหรับข้อมูลด้านเศรษฐกิจและมูลค่าการค้าและการลงทุนของปีล่าสุด และความร่วมมือด้านการเงินและการธนาคาร (โปรดดูหัวข้อ “ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – สิงคโปร์”)

ความร่วมมือด้านการเงินและการธนาคารไทย – สิงคโปร์มีความใกล้ชิด โดยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ไทยและสิงคโปร์ได้เปิดใช้ระบบการโอนเงินที่เชื่อมระหว่างระบบ PromptPay ของไทย และระบบ PayNow ของสิงคโปร์ ผ่าน mobile banking แบบ real-time ซึ่งถือเป็นความร่วมมือลักษณะนี้เป็นครั้งแรกของโลก ในระยะต่อไป ไทยและสิงคโปร์จะปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับแนวทางสร้างความร่วมมือไปสู่การทำความตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมมากขึ้น

สิงคโปร์ได้ริเริ่มจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Agreement – DEA) ทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อหารือถึงการกำหนดกฎเกณฑ์การรองรับการดำเนินเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศ  โปรดดูเพิ่มเติมในหัวข้อ “ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล” ใน “นโยบายและความตกลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ”  

ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ชาวสิงคโปร์นิยมมาท่องเที่ยวในไทย โดยในแต่ละปี จะมีชาวสิงคโปร์มาเที่ยวไทยเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์เป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวในระดับที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ไทยและสิงคโปร์มีความร่วมมือในด้านงานอนุรักษ์และพิพิธภัณฑ์ อาทิ การแลกเปลี่ยนศิลปวัตถุเพื่อนำไปจัดแสดง และการแลกเปลี่ยนบุคลากรและองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ระหว่างกัน

ในด้านการศึกษา สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนสองภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษและภาษาประจำเชื้อชาติ (มาเลย์ จีน และทมิฬ) ทั้งนี้ ไทยและสิงคโปร์มีความร่วมมือด้านการศึกษาภายใต้โครงการ CSEP โครงการโรงเรียนคู่พัฒนาไทย – สิงคโปร์ (School Twinning Programme) และโครงการค่ายเยาวชนไทย – สิงคโปร์ (Singapore – Thailand Enhanced Partnership (STEP) Camp) ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการของทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้จัดตั้งโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพ (Singapore International School of Bangkok – SISB) เมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งแรกที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรสิงคโปร์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ขยายสาขารวม 5 สาขา


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์