การสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพ (Startups) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และของสิงคโปร์

ธุรกิจ Startup โดยเฉพาะด้านบริการการเงิน เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค นโยบายการสนับสนุน Startups และ SMEs ของสิงคโปร์ มีดังนี้

หน่วยงานพัฒนาศักยภาพ Startups และ SMEs

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้จัดตั้งหน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นหน่วยงานภาครัฐด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการของสิงคโปร์ทั้งในด้านการแข่งขันและการขยายตลาดในต่างประเทศ โดยให้บริการแบบ One Stop Agency ปัจจุบันมีบริษัทในสิงคโปร์ที่จดทะเบียนกับ ESG กว่า 200,000 บริษัท ซึ่งควบรวมหน่วยงาน International Enterprise Singapore (IE) และ SPRING Singapore

ESG มีความรับผิดชอบหลัก 3 ประการ คือ 1) พัฒนากลุ่มการค้า (cluster) หน่วยงานทำหน้าที่ดึงดูดผู้ประกอบการและวิสาหกิจทั่วโลกเพื่อทำการค้าในสิงคโปร์ ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าใน 3 กลุ่ม คือ โลหะและแร่ธาตุ สินค้าเกษตร และพลังงานและเคมีภัณฑ์ 2) ควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ESG กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย สุขอนามัยระดับชาติ ผ่านสภามาตรฐานสิงคโปร์ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก stakeholders ในหลายภาค เช่น ตัวแทนองค์กรวิชาชีพ สมาคมการค้าและผู้บริโภค สถาบันการศึกษา และหน่วยงานรัฐบาล 3) สนับสนุนภาคธุรกิจ ESG สนับสนุนธุรกิจทุกขนาด

โครงการสนับสนุน Startups และ SMEs

หน่วยงาน Startup SG ภายใต้ ESG มีโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพทั้งในการให้คำปรึกษาและเงินทุนมากถึง 7 โครงการ เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาเจาะลึกธุรกิจรายสาขา ดังนี้

1. Startup SG Talent แบ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการดึงดูดผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก มาก่อตั้งหรือมาทำงานใน Startups ที่สิงคโปร์

(1) EntrePass การออกใบอนุญาตทำงานให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ต้องการจะเริ่มต้นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมทุน หรือมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมในสิงคโปร์

(2) T-Up โครงการสนับสนุน SMEs ในการจัดสรรวิศวกรวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือในด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นระยะเวลา 2 ปี เช่น ด้านชีวการแพทย์ การจัดเก็บข้อมูล การวิจัยวัสดุและวิศวกรรม จีโนมิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพและนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น

(3) Global Ready Talent Programme (GRT) สนับสนุนกิจการในการขยายธุรกิจไป ต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ นักศึกษา บุคลากรในระยะเริ่มต้นทำงานของสิงคโปร์ ฝึกงานและทำงานในต่างประเทศ

(4) Tech@SG โครงการนี้อยู่ภายใต้การบริหารร่วมระหว่างคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ สิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB) ร่วมกับ ESG และกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ อำนวยความสะดวกกลุ่มบริษัทที่มีความเติบโตอย่างรวดเร็วให้สามารถสรรหาบุคลากรที่มีฝีมือมาร่วมงานได้ง่ายและตรงกับความต้องการจ้างงานยิ่งขึ้น

(5) Innovation & Enterprise Fellowship Programme เป็นโครงการพัฒนาบุคลากร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร (Researchers, Scientists and Engineers – RSEs) ที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมและธุรกิจ (I&E) โดย RSEs ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 6-18 เดือนกับองค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าตอบแทนรายเดือนของบุคลากรจำนวนร้อยละ 80 โดยภาคธุรกิจจะรับผิดชอบเพียงร้อยละ 20

2. Startup SG Founder เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์ประกาศว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุน Starups 2 ประเภท เป็นเงิน 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

(1) Train track เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ Startups ใหม่ๆ ซึ่ง Startup SG แต่งตั้งผู้ร่วมทุน (Venture Builder) และพันธมิตรผู้ให้คำปรึกษา (Accredited Mentor Partners) หรือ VB-AMPs ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เช่น NUS, SMU จัดโปรแกรมระยะเวลา 3 เดือนเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ Startups เช่น การวิเคราะห์ตลาด การวางแผนรูปแบบธุรกิจ การคิดกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน ให้ความรู้ในการระดมทุน เป็นต้น

(2) Start track เพื่อยกระดับ Startups ที่มีอยู่เดิม โดยสามารถนำเสนอแผนนวัตกรรมธุรกิจเพื่อขอรับเงินสนับสนุนการลงทุนจาก AMPs ซึ่งจะพิจารณาจากเอกลักษณ์ของธุรกิจ ความเป็นไปได้ รูปแบบของธุรกิจและความแข็งแกร่งของทีมผู้บริหาร และศักยภาพของมูลค่าตลาด ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติผ่านหลักเกณฑ์จะได้รับคำปรึกษา เรียนรู้ผ่านโปรแกรม และติดต่อ บริษัทหรือธุรกิจในเครือข่ายที่มีมาก เช่น Accelerators 180 ราย สตาร์ทอัพ 3,000 ราย และผู้ลงทุน 300 ราย ได้โดยตรง รวมทั้ง ESG จะให้เงินทุนเริ่มต้นจำนวน 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยบริษัทจะต้องระดมทุนให้ได้ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อเป็นกองทุนสมทบกับเงินสนับสนุน                         

 3. Startup SG Tech สนับสนุนเงินทุนแก่โครงการทางด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะใน 8 สาขา ได้แก่ (1) การผลิตขั้นสูง/หุ่นยนต์ (2) ชีวการแพทย์และกลุ่มสุขภาพ (3) เทคโนโลยีด้านความสะอาด (4) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (5) อุตสาหกรรมใหม่ (6) วิศวกรรมความแม่นยำ (7) วิศวกรรมการขนส่ง และ (8) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติจะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับขั้นตอน Proof-of-Concept (POC) สูงสุด 250,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และขั้นตอน Proof-of-Value (POV) สูงสุด 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

4. Startup SG Accelerator สนับสนุนเงินทุนเพื่อเร่งการยกระดับหรือการเพิ่มมูลค่าของ Startups เช่น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เงินเดือน เป็นต้น และให้คำปรึกษาแก่กลุ่มบุคลากรที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับ Startup ทั้ง Accelerator (ยกระดับ/เพิ่มมูลค่าสตาร์ทอัพ) และ Incubator ที่สนับสนุน Startups สัญชาติสิงคโปร์ และต่างชาติที่ต้องการทำธุรกิจในสิงคโปร์                             

5. Startup SG Equity สนับสนุนการลงทุนถือหุ้นร่วมกับภาคเอกชนสิงคโปร์ ที่สนใจลงทุน 2 แนวทาง คือ (1) Co-invest รัฐบาลถือหุ้นร่วมกับนักลงทุนอิสระที่มีคุณสมบัติเหมาะสมใน Startups ที่ผ่านเกณฑ์ (2) fund-of-funds ให้ทุนกับกลุ่มนักลงทุนภาคเอกชน (Venture Capital-VC) ที่จะลงทุนใน Deep Tech โดยเฉพาะด้านการผลิตขั้นสูง ยาและชีวการแพทย์ และเทคโนโลยี Agri-food โดยทุนขั้นต่ำเป็นจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์         

 6. Startup SG Infrastructure สนับสนุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน จัดสรรพื้นที่ให้แก่ Startups เพื่อทดลองและพัฒนาธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรพื้นที่ LaunchPad @one-north ซึ่งพัฒนาโดยหน่วยงาน JTC (สังกัด MTI) สำหรับ Startups ด้านชีวการแพทย์ ข้อมูลข่าวสาร สื่อมวลชน โซลูชั่นชุมชนเมืองอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมอุตสาหการ     

 7. Startup SG Loan สนับสนุนให้เงินกู้แก่สตาร์ทอัพและ SMEs ระหว่าง 1 – 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ข้อมูลเพิ่มเติม  

แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์ จะมีนโยบายสนับสนุน Startups และ SMEs โดยไม่จำกัดสัญชาติของผู้จดทะเบียนธุรกิจ แต่หากศึกษาในรายละเอียดหลักเกณฑ์แล้ว วิสาหกิจของไทยยังมีความท้าทายจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้วิสาหกิจต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นชาวสิงคโปร์ หรือผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร (PR) อยู่ในอัตราที่สูง ตัวอย่างเช่น โครงการ Train track ภายใต้โครงการ Startup SG Founder วิสาหกิจผู้สมัครจะต้องประกอบไปด้วยชาวสิงคโปร์ หรือ PR อย่างน้อย 3 คน และบริษัทจะต้องมีผู้ถือหุ้นที่เป็นชาวสิงคโปร์ หรือ PR อย่างน้อยร้อยละ 51 หรือโครงการ Startup SG Tech ซึ่งวิสาหกิจจะต้องมีผู้ถือหุ้นที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ อย่างน้อยร้อยละ 30 เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ และได้รับเงินทุนสนับสนุนตามโครงการของ ESG จะต้องจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบของการร่วมทุนกับผู้ลงทุนหรือวิสาหกิจของสิงคโปร์

สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและการขยายตลาดในประเทศไทย โดยได้จัดตั้งสำนักงาน ESG ประจำภูมิภาค CLMTV สังกัดสถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์และประเทศไทย ซึ่งสาขาความร่วมมือที่ประสงค์ส่งเสริมกับไทย ได้แก่ (1) การค้าปลีก (2) อาหาร (3) เทคโนโลยี Fintech (4) เทคโนโลยีสุขภาพ และ (5) นวัตกรรมและอุตสาหกรรมมการผลิต โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้จัดตั้งพันธมิตร Global Innovation Alliance (GIA) Bangkok เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านธุรกิจและนวัตกรรมกับภาคเอกชนไทยในลักษณะการแลกเปลี่ยน 2 ทาง โดยได้ร่วมมือกับกลุ่ม RISE (accelerator ของไทย) เพื่อแสวงหาหุ้นส่วนธุรกิจโดยเฉพาะในด้าน FinTech และธุรกิจสุขภาพในไทย

โดย ESG ได้เชิญผู้ประกอบการไทยและนักนวัตกรรมที่มีศักยภาพเข้าร่วมงาน Singapore Week of Innovation and Technology (SWITCH) และ Industrial Transformation Asia Pacific (ITAP) เป็นประจำทุกปี

Unicorn Startup คือ วิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจเพียง 1-3 ปี แต่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าบริษัทเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี Startups ที่ประสบความสำเร็จในระดับยูนิคอร์นแล้ว 14 ราย แบ่งตามการจดทะเบียนบริษัทในประเทศต่าง ๆ ดังนี้

1. สิงคโปร์ 6 บริษัท ได้แก่ (1) Grab (2) SEA (3) HyalRoute (4) Patsnap (5) Lazada และ (6) Trax

2. อินโดนีเซีย 6 บริษัท ได้แก่ (1) Tokopedia (2) Bukalapak (3) Traveloka (4) OVO (5) Gojek และ (6) J&T Express

3. เวียดนาม 1 บริษัท ได้แก่ VNPay

4. ไทย 1 บริษัท ได้แก่ Flash ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์การเป็น Unicorn Startup รายแรกของไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 โดยระดมทุนในซีรีส์อี 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,600 ล้านบาท) ได้สำเร็จ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง