เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 สื่อท้องถิ่นสิงคโปร์รายงานเรื่องศักยภาพของสิงคโปร์ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทร่วมทุน (Venture Capital – VC)1 ทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นในภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

การเติบโตของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการที่บริษัทเทคโนโลยีในจีนกำลังเผชิญความท้าทายจากการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับพฤติกรรมการผูกขาดและสร้างความเป็นธรรมให้กับตลาด โดยหน่วยงาน State Administration for Market Regulation (SAMR) ของจีน นักลงทุนต่างชาติจึงย้ายฐานการลงทุนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียมากยิ่งขึ้น โดยเห็นว่าเป็นตลาดแห่งศักยภาพและแหล่งการลงทุนที่น่าเหมาะสมต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ 

บริษัท DealStreetAsia เปิดเผยสถิติว่า เฉพาะในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 บริษัทสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก VC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเติบโตเป็นยูนิคอร์นได้มากถึง 15 ราย ทำให้ภูมิภาคนี้มียูนิคอร์นสตาร์ทอัพ จำนวนถึง 27 ราย ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของอินเดียที่มียูนิคอร์นรายใหม่ในปีนี้แล้วจำนวน 30 ราย

ทั้งนี้ การระดมเงินทุนจาก VC และนักลงทุนในสตาร์ทอัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นจาก 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนยูนิคอร์นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับราคาหุ้นและการประเมินมูลค่าของบริษัทสตาร์ทอัพขนาดใหญ่ในภูมิภาคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนนักลงทุนรายใหม่ ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์เห็นว่า ความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับอินเดีย จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ VC เลือกที่จะมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งความสำเร็จของสตาร์ทอัพในภูมิภาค เช่น Sea และ Grab ก็สร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทเทคโนโลยีของจีนและ VC จำนวนมากสนใจที่จะลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าอินเดีย

กลยุทธ์การปรับตัวของ VC ในภูมิภาค

ตัวอย่างของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับความสนใจและสนับสนุนจากนักลงทุนทั่วโลก อาทิ บริษัท Nium สตาร์ทอัพในสิงคโปร์ที่มีมูลค่ารวม 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้รับเงินทุนจาก VC สหรัฐ บริษัท Riverwood Capital ทั้งนี้ VC ระดับโลกอาศัยความได้เปรียบทั้งด้านความรวดเร็ว มูลค่าการลงทุน ฐานข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์การลงทุนได้อย่างทันท่วงที และความชำนาญ/ประสบการณ์จากรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายมาเป็นแต้มต่อในการขยายการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉลี่ย VC ระดับโลกใช้เวลาเจรจาจัดทำเอกสารข้อตกลงเบื้องต้น (Termsheet)2 เพียงประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ในขณะที่ VC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่งใช้เวลานานถึง 1-2 เดือน

แหล่งที่มา: BT

ถึงแม้ว่า VC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีข้อได้เปรียบในด้านประสบการณ์และการมีส่วนร่วมในภูมิภาค รวมถึงเครือข่ายในท้องถิ่นที่แข็งแกร่งและครอบคลุมมากกว่า แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นจากคู่แข่งภายนอกภูมิภาค ดังนั้น VC ในภูมิภาคจึงต้องปรับตัว พัฒนา และปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อรักษาความเป็นผู้นำ เช่น 1) VC สิงคโปร์ บริษัท Insignia มุ่งเน้นการสร้างกลุ่มเฉพาะในท้องถิ่น (localised niches) โดยการว่าจ้างผู้มีความสามารถเพื่อจัดตั้งทีมเฉพาะเป็นรายประเทศ หรือท้องถิ่น รวมทั้งใช้เครือข่ายของบริษัทฯ มาสร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นกับนักลงทุนที่เน้นการเติบโตจากทั่วโลก 2) VC อินโดนีเซีย เช่น บริษัท East Ventures/บริษัท Alpha JWC สร้างความแตกต่างด้วยการสร้างเครือข่ายท้องถิ่นที่แข็งแกร่งและลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นในอินโดนีเซีย 3) VC. สิงคโปร์/มาเลเซีย บริษัท 500 Startups South-east Asia ได้จัดตั้งโครงการสำหรับกลุ่ม Accelerator3  หรือกลุ่ม Incubator4 เพื่อช่วยให้พวกเขาก้าวเข้าสู่ธุรกิจและร่วมมือกับผู้ก่อตั้งในภูมิภาคนี้ได้อย่างรวดเร็ว  

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

บริษัท Facebook ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคในสิงคโปร์ และบริษัทที่ปรึกษา Bain รายงานว่าตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจของ 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม มีผู้บริโภคสินค้าและบริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นจาก 280 ล้านคน เป็น 350 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 70 ล้านคน  ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจและตลาดการค้าปลีกออนไลน์โดยรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีขนาดที่ใหญ่กว่าอินเดียมาก แม้ว่าจะมีประชากรและผู้บริโภคยุคดิจิทัลน้อยกว่าอินเดีย สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชากรอินเดียยังมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มผู้บริโภคแบบดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับผู้ประกอบการ/สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถสร้างโอกาสจากการที่ภูมิภาคเป็นจุดสนใจในการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก และการแข่งขันสูงระหว่าง VC ในการระดมทุน การเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาที่ VC มีให้ต่อผู้ประกอบการ รวมทั้งการทำความรู้จักกับกลุ่มคนหรือเชื่อมต่อเครือข่ายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ

สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ได้จัดทำบทสัมภาษณ์นักธุรกิจชาวไทยที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ ชื่อ WeGoWhere เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจสตาร์ทด้านเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจ สามารถรับชมได้ที่ https://thaibizsingapore.com/multimedia/videos/the-business-journey-ep-1-wegowhere/


1 Venture Capital หรือ VC เป็นกองทุนที่รวบรวมเงินลงทุนมาจากผู้ลงทุนอื่นๆ ที่สนใจร่วมทุน โดยทั่วไป VC จะมีระยะเวลาลงทุนประมาณ 3-5 ปีและจะมีการลงเงินเป็นรอบๆ ตาม Stage ของธุรกิจ VC จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงที่ธุรกิจมีความต้องการด้านเงินทุนที่สูง เช่น สำหรับสตาร์ทอัพ VC จะเข้ามาลงทุนตั้งแต่ระดับ Series A (Growth / Survival Stage) ขึ้นไป ระยะนี้เป็นระยะที่ธุรกิจเริ่มมีรายได้เข้ามาแล้ว เป็นช่วงที่มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อต้องการขยายกิจการหรือขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น หรือเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ นอกจากการให้เงินลงทุนแล้ว VC ยังให้คำปรึกษาทางด้านการเงินและการบริหารกิจการ

2 Termsheet คือ ข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างนักลงทุนกับสตาร์ทอัพเพื่อกำหนดเงื่อนไขการลงทุน โดยเริ่มแรกจะยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ร่างเอกสารออกมาพูดคุยเจรจากันก่อนที่จะทำสัญญาการลงทุนอย่างเป็นทางการต่อไป Term sheet จะมีรายละเอียดต่าง ๆ มากมาย เช่น การประเมินมูลค่าของกิจการ สิทธิหน้าที่ของผู้ลงทุน คณะกรรมการบริษัท และข้อพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ

3 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ/ธุรกิจที่สนับสนุนและช่วยเร่งอัตราการเติบโตและเพิ่มมูลค่าธุรกิจที่มีอยู่แล้วแก่สตาร์ทอัพ

4 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ/ธุรกิจที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่สตาร์ทอัพตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง