NUS เปิดตัวศูนย์วิจัยไฮโดรเจนเพื่อส่งเสริมการวิจัยและการใช้งานเชิงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมไฮโดรเจน (Centre for Hydrogen Innovations – CHI) อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการวิจัยไฮโดรเจนและการใช้งานเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์
คำกล่าวของรัฐมนตรีแรงงานสิงคโปร์
นาย Tan See Leng รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีคนที่สองกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของ CHI ที่จะช่วยภาครัฐทำการศึกษาการใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำอย่างจริงจังเพื่อเป้าหมาย Net Zero 2050 ของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไฮโดรเจนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่อให้สามารถนำไฮโดรเจนไปใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และคุ้มทุน ทั้งนี้ การยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยีและความพร้อมสำหรับตลาดของเทคโนโลยีไฮโดรเจนต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในระบบนิเวศสิงคโปร์ โดยต้องสร้างกลุ่มบุคลากรที่พร้อมสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม ชุมชนนักวิจัย และหน่วยงานของรัฐ
แนวทางและเป้าหมายของศูนย์ CHI
ศูนย์ CHI ก่อตั้งขึ้นในรูปแบบศูนย์เสมือนจริงครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 โดยได้รับเงินลงทุนรวม 25 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ประกอบด้วยเงินบริจาค 15 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จาก Temasek Foundation และเงินสมทบ 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จากรัฐบาลสิงคโปร์ และเงินทุนเพิ่มเติมจาก NUS ศูนย์แห่งนี้เน้นการศึกษาวิจัยการจัดการไฮโดรเจน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การผลิตไฮโดรเจน (2) การจัดเก็บไฮโดรเจน (3) ระบบนำพาไฮโดรเจน (hydrogen carrier systems) และ (4) การใช้ไฮโดรเจน โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่หลากหลายภายใน NUS เพื่อการพัฒนาศูนย์ฯ ทั้งนี้ ศูนย์ CHI ได้คัดเลือกโครงการเพื่อจะทำการศึกษาวิจัยแล้วจำนวน 8 โครงการ ซึ่งมีขอบเขตการวิจัยที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ (1) การวิจัยเชิงปฏิวัติเพื่อบรรลุการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว และ (2) การวิจัยเพื่อปูทางสำหรับการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยของเศรษฐกิจไฮโดรเจนในอนาคตของสิงคโปร์และเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจ
ในระยะแรกศูนย์จะมุ่งเน้นไปที่ตัวพาไฮโดรเจนสำหรับการจัดเก็บและขนส่งเป็นหลัก รวมไปถึงห่วงโซ่อุปทานไฮโดรเจนทั่วโลก ซึ่งเป็นสาขาการวิจัยที่ค่อนข้างใหม่ แม้ว่าไฮโดรเจนสามารถนำเข้ามาได้ผ่านท่อส่งแต่สามารถทำได้เฉพาะในระยะทางสั้น ๆ เช่น จากมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ นอกจากการพิจารณาการขนส่งไฮโดรเจนแล้ว ศูนย์ฯ ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันการผลิตไฮโดรเจนในประเทศ เพื่อปกป้องความมั่นคงด้านพลังงานของสิงคโปร์ในกรณีที่ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเศรษฐกิจไฮโดรเจนในอนาคต CHI มุ่งเน้นการสร้างกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา โดยกำหนดหลักสูตรสำหรับนักเรียนผู้ใหญ่และนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อรองรับการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันศูนย์ CHI มีหัวหน้านักวิจัย 32 คนและนักศึกษาปริญญาเอก 4 คน และมีแผนที่จะรับสมัครนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านสหวิทยาการ 10 คน รวมทั้งการจัดฝึกอบรมนักศึกษาปริญญาเอก 10 คน
ข้อมูลเพิ่มเติม
CHI ถือเป็นศูนย์วิจัยไฮโดรเจนแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับรองรับสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเน้นการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาในด้านการผลิต การจัดเก็บ และการขับเคลื่อน solutions ที่ใช้ไฮโดรเจน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการบ่มเพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยในสาขาที่หลากหลายเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและเป็นผู้นำในการปฏิวัติไฮโดรเจนของสิงคโปร์ นอกจากนี้ CHI ยังจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดการมีส่วนร่วมของนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอื่น ๆ ของสิงคโปร์ อาทิ การจัดกิจกรรม Hydrogen Innovative Challenge เพื่อร่วมกันสำรวจว่า ไฮโดรเจนจะช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจพลังงานที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ได้อย่างไร
รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่าการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอาจคิดเป็นร้อยละ 50 ของความต้องการพลังงานของสิงคโปร์ภายในปี 2593 จากแผนพัฒนาไฮโดรเจนแห่งชาติ 2022 ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำจะเป็นทางเลือกหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยการจัดตั้ง CHI เป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะวางตำแหน่งของสิงคโปร์ให้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมไฮโดรเจนระดับโลก
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.straitstimes.com/singapore/environment/new-25-million-research-institute-to-bring-green-hydrogen-from-lab-to-society
- https://www.straitstimes.com/singapore/new-nus-lab-to-bring-hydrogen-research-from-lab-to-real-world-settings-tan-see-leng
- https://news.nus.edu.sg/nus-centre-for-hydrogen-innovations-facility-to-advance-hydrogen-research/
- Featured Image Source: Shutterstock