
โอกาสทางธุรกิจในอาเซียน: แนวโน้มการลงทุนและสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 สิงคโปร์ได้จัดการประชุมสำคัญเพื่อแนะนำโอกาสทางธุรกิจในอาเซียน ได้แก่ การประชุม World Bank Special Event: Is ASEAN Ready for Business? Insights from World Bank Business Ready Report ซึ่งจัดโดย Asia Competitiveness Institute และ Lee Kuan Yew School of Public Policy และการประชุม ASEAN Private Sector Executive Programme ซึ่งจัดโดย Centre for International Law (CIL-NUS) ซึ่งทั้งสองการประชุมเน้นเสนอแนวทางสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยมีข้อแนะนำหลัก ดังนี้
ภาพรวมด้านต่าง ๆ ของภูมิภาคอาเซียน
เศรษฐกิจของอาเซียน
อาเซียนเป็นศูนย์เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับโลก (Connector Economy) และมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยผู้แทน World Bank คาดว่า GDP รวมของอาเซียนจะเติบโตเป็น 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 (จาก 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567)
ความท้าทายของอาเซียน
กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ยังคงเป็นความท้าทายหลักของหลายประเทศในอาเซียน จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป (Shifting Geopolitical Climate) การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจและความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการทหารส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนขึ้นและจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรอบคอบ
การแข่งขันระดับโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นเพื่อดึงดูดเงินทุนและบุคลากร (Intensifying Global Competition for Capital and Talent) ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจผลักดันให้หลายประเทศเร่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) และบุคลากรที่มีความสามารถ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ระบบคะแนน B-READY และความพร้อมทางธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน
B-READY (Business Ready) เป็นระบบคะแนนที่จัดทำโดย World Bank เพื่อประเมินความพร้อมของแต่ละประเทศในการดำเนินธุรกิจ โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์และให้คะแนนด้านเศรษฐกิจผ่าน 10 ปัจจัยสำคัญที่ครอบคลุมตลอดวงจรของธุรกิจ ได้แก่ การเข้าสู่ธุรกิจ ที่ตั้งธุรกิจ การเชื่อมต่อสาธารณูปโภค แรงงาน บริการทางการเงิน การค้าระหว่างประเทศ การจัดเก็บภาษี การระงับข้อพิพาท การแข่งขันทางการตลาด และการล้มละลายทางธุรกิจ ระบบคะแนนนี้มีเกณฑ์การคัดเลือกประเทศที่เข้าร่วมการประเมินโดยต้องมีประชากรอย่างน้อย 100,000 คน และสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและบริษัทต่าง ๆ ได้ตามกระบวนการของ B-READY
B-READY ใช้ 3 เสาหลักเป็นแนวทางในการประเมิน ได้แก่ Regulatory Framework (กฎระเบียบภาครัฐ) เพื่อวิเคราะห์กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ Public Services (บริการสาธารณะ) เพื่อประเมินคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานและบริการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และ Operational Efficiency (ประสิทธิภาพเชิงปฏิบัติการ) เพื่อประเมินความสะดวกและความคล่องตัวของภาคธุรกิจในการดำเนินงาน
รายงาน B-READY ปี 2567 ซึ่งเป็นฉบับเปิดตัวได้ทำการประเมินครอบคลุม 50 เขตเศรษฐกิจ และมีเป้าหมายที่จะขยายขอบเขตการประเมินเป็น 180 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในระดับสากล
สำหรับภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์ได้รับคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนในทุกปัจจัย ยกเว้นด้านแรงงาน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมแรงงานต่างชาติที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการจ้างงานและความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน ในขณะที่เวียดนามตามมาเป็นอันดับสอง โดยมีแนวโน้มว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 2568 การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออก
สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทราบในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ
จากการประชุม ASEAN Private Sector Executive Programme ได้มีการเสนอแนวทางสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจระหว่างประเทศ โดยหนึ่งในปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสำคัญคือ การปฏิบัติตามกฎระเบียบของแต่ละประเทศอย่างเคร่งครัด หากไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอ อาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมาย เช่น การถูกปรับ หรือแม้กระทั่งถูกระงับการดำเนินธุรกิจในบางประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในตลาดเป้าหมายอย่างครบถ้วน เช่น HS Code (รหัสศุลกากรของสินค้า) Local Content (ข้อกำหนดด้านแหล่งกำเนิดสินค้า) และ Country of Origin (ประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า) รวมถึงติดตามกระแสการค้า ค่าใช้จ่ายและการจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์จากกรอบการค้าเสรีและความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ และควรใช้ประโยชน์จากความแตกต่าง ด้านต้นทุน แรงงาน และจุดแข็งของแต่ละประเทศ พร้อมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบ นโยบาย และสถานการณ์การค้า อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม นอกจากนี้ การบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ โดยธุรกิจควรมีแผนสำรอง (Contingency Plan) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและภาวะเศรษฐกิจ เช่น การใช้ Scenario Planning (การวางแผนสถานการณ์ล่วงหน้า) Stress Test (การทดสอบความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยง) และ Business Resilience Plan (แผนความยืดหยุ่นทางธุรกิจ)
อีกแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่นคือ กำหนดฝ่ายรับผิดชอบด้านการปฏิบัติตามกฎการค้า (Trade Compliance) อย่างชัดเจน เพื่อให้ธุรกิจสามารถวางกลยุทธ์ทางการค้าได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศไม่ใช่เพียงแค่โอกาสในการขยายตลาด แต่ยังต้องอาศัยความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับกฎระเบียบ ความเสี่ยง และการวางแผนเชิงกลยุทธ์อย่างรอบคอบเพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
แนวโน้มการลงทุนและยุทธศาสตร์ของอาเซียนในบริบทเศรษฐกิจโลก
จากทั้งสองการประชุมพบว่ามีแนวโน้มของบริษัทข้ามชาติที่กำลังย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะภายใต้กลยุทธ์ CHINA+1 (China Plus One) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนเป็นฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ภาคการส่งออกของเวียดนามมีการเติบโตสูงขึ้นมาก ในปี 2567 ภาคการส่งออกของเวียดนามขยายตัวถึงร้อยละ 13.8 จากปีก่อนหน้า นำหน้ามาเลเซียซึ่งเติบโตที่ร้อยละ 5.6 และไทยที่เติบโตร้อยละ 5.4
นอกจากนี้ สิงคโปร์และมาเลเซียก็ได้รับประโยชน์จากการโยกย้ายฐานการผลิตตามกลยุทธ์ CHINA+1 โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (The Johor-Singapore Special Economic Zone: JS-SEZ) ซึ่งมีแนวโน้มดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่ต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลยุทธ์ CHINA+1 จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่การพิจารณาถึงความคุ้มค่าเชิงธุรกิจของการย้ายฐานการผลิตก็ยังคงขึ้นอยู่กับต้นทุนในการประกอบธุรกิจ กฎระเบียบและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ความต่อเนื่องทางการเมือง อุตสาหกรรมสนุบสนุนทั้งต้นน้ำ-ปลายน้ำ โครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ และสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งรวมถึงความตกลงการค้าเสรี ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลของประเทศอาเซียนต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา
สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีความพร้อมสูง ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและอินเทอร์เน็ตที่เสถียรความมั่นคงทางการเมือง นโยบายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม การเข้าถึงาินเชื่อและการลงทุนจากต่างชาติ ประกอบกับสถานะของศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ทำให้สิงคโปร์ยังคงยุทธศาสตร์สำคัญของนักลงทุนในอาเซียน
ในภาพรวม อาเซียนควรมุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและขยายขอบเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อสร้างกลไกที่สามารถรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ซับซ้อนและมีผลกระทบข้ามพรมแดน การพัฒนาความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จะช่วยให้ภูมิภาคสามารถปรับตัวต่อความท้าทายในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมั่นคง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ
- https://www.worldbank.org/en/businessready
- https://policywatch.thaipbs.or.th/article/government-43
- https://asia.nikkei.com/Economy/Trade/Vietnam-outpaces-Malaysia-and-Thailand-in-2024-export-growth
- https://asia.nikkei.com/Opinion/ASEAN-s-Tiger-economies-have-lost-their-roar
- Cover Image : shutterstock
การประชุม