วิสัยทัศน์ Singapore Economy 2030 ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์

นายกาน คิม ยอง (H.E. Mr. Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้แถลงวิสัยทัศน์และแผนงานของ MTI ประจำปีงบประมาณ 2566 ในหัวข้อ “Singapore Economy 2030: Building a Vibrant Economy, Nurturing Enterprises” ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในระยะยาว ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือภาคเอกชนสิงคโปร์ที่เผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจของสิงคโปร์ให้เข้มแข็ง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

แผนวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี ค.ศ. 2030 (Singapore Economy 2030)

รัฐมนตรีกานฯ เห็นว่าปี 2566 ไม่น่าจะเป็นปีที่ง่ายสำหรับภาคเอกชน ในขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์พยายามสนับสนุนภาคธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็ต้องขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวไปด้วย การบรรลุวิสัยทัศน์ Singapore Economy 2030 ต้องอาศัยความทุ่มเทและการเสียสละ โดยบริษัทต่าง ๆ และพนักงานต้องมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่สิงคโปร์เผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทรัพยากรที่จำกัดยิ่งขึ้น และสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่ท้าทายยิ่งขึ้น

MTI สิงคโปร์จะเดินหน้าขับเคลื่อนแผน Singapore Economy 2030 ใน 4 ภารกิจสำคัญ ดังนี้

(1) ภาคการผลิต (Manufacturing 2030)  สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมทางธุรกิจและแหล่งรวมผู้มีศักยภาพสูง (talent) ในภาคการผลิตขั้นสูงของโลก และตั้งเป้าหมายจะขยายภาคการผลิตในปี 2573 เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2563 ทั้งนี้ มูลค่าของภาคการผลิตสิงคโปร์ในปี 2565 เพิ่มขึ้นแล้วร้อยละ 15 จากปี 2563 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีมูลค่ารวม 17,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสร้างงานมากกว่า 4,600 ตำแหน่ง โดยใช้มาตรการดึงดูดการลงทุน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การสนับสนุนให้วิสาหกิจดึงดูดและพัฒนาเส้นทางอาชีพของ talents จากทั่วโลก และการแสวงหาโอกาสในสาขาใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและหุ่นยนต์/AI

(2) ภาคบริการ (Services 2030) สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยว โดยเน้นความยั่งยืนและการเปลี่ยนสู่ดิจิทัล อาทิ การใช้เทคโนโลยี light-touch experiences และการเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ MTI สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าของภาคบริการที่ทันสมัย ทั้งภาคการเงิน การสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการมืออาชีพอย่างน้อยร้อยละ 50 และสร้างงานกว่า 100,000 ตำแหน่ง รวมถึงส่งเสริมสถานะของสิงคโปร์ในการเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถกระตุ้นการเติบโตของทั้งบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจท้องถิ่นของสิงคโปร์เอง นอกจากนี้ สิงคโปร์จะขยายเครือข่ายการจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียวกับต่างประเทศ และมุ่งพัฒนาภาคบริการตามแผน Industry Transformation Map (ITM) 2025 ด้วย

(3) ภาคการค้า (Trade 2030) สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางการค้าโลกและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกต่อไป โดยเจริญความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาประเทศ ทั้งนี้ สิงคโปร์จะดึงดูดผู้ค้าจากทั่วโลกให้มาดำเนินธุรกิจการค้ากับบริษัทในสิงคโปร์ และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความตกลงการค้าเสรี (FTA) 27 ฉบับ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าใหม่ ๆ รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นทางการค้า และใช้ประโยชน์จากธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโต เช่น สินค้าที่ส่งเสริมความยั่งยืน

(4) ภาคธุรกิจ (Enterprise 2030) สิงคโปร์วางกลยุทธ์ที่จะสร้างและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในสิงคโปร์ให้มีความพร้อมและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เช่น ข้อริเริ่ม Singapore Global Enterprises โดยเน้นการส่งเสริมให้วิสากิจและผู้ประกอบการของสิงคโปร์มีศักยภาพใน 4 ด้านสำคัญ คือ ความยั่งยืน ความเป็นสากล การเปลี่ยนสู่ดิจิทัล และนวัตกรรม

แผนการสนับสนุนภาคธุรกิจของสิงคโปร์ระยะสั้นและระยะยาว

การสนับสนุนในระยะสั้น เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนรับมือกับความตึงเครียดทางการเงินและราคาพลังงานที่สูงขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์จะขยายระยะเวลาโครงการการจัดหาสนับสนุนเงินแก่ภาคธุรกิจไปจนถึงมีนาคม 2567 รวมทั้งสนับสนุนเงินสูงสุดร้อยละ 70 แก่ธุรกิจภาคบริการด้านอาหาร การผลิตอาหาร และการค้าปลีก ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การเสริมสร้างการได้เปรียบทางการแข่งขัน ได้แก่ (1) การดึงดูดนักลงทุนและบรรษัทข้ามชาติ โดยเพิ่มเงินสนับสนุนจำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในกองทุนเพิ่มผลผลิตของชาติ (National Productivity Fund) (2) การสนับสนุนธุรกิจในการลดคาร์บอน โดยขยายเวลาโครงการ Enterprise Development Grant (EDG) จนถึงมีนาคม 2567 และ (3) สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวแบบครบวงจรตามข้อริเริ่ม Green Economy Regulatory Initiative (GERI) เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการอนุมัติสำหรับธุรกิจที่ต้องการใช้และพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน แต่เผชิญอุปสรรคด้านกฎระเบียบ

การสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ เพื่อก้าวสู่ระดับสากล การเปลี่ยนสู่ดิจิทัล และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เช่น การเพิ่มเงิน 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในกองทุน Co-Investment Fund แก่ธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นผ่านโครงการฝึกอบรม Heartland Innovation and Transformation (HIT) Programme และการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อภาคเอกชนในการทดลองหรือทดสอบแผนธุรกิจและการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและพนักงานเอกชน

การขจัดข้อจำกัดด้านทรัพยากร โดยเน้น (1) ด้านแรงงาน คือ การเพิ่มขีดความสามารถ ทักษะของแรงงาน โดยใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลผลิต และ (2) การเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ควบคู่กับการสรรหาแหล่งพลังงานทางเลือก/พลังงานทดแทน และการสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับพันธมิตร ทั้งในระดับภูมิภาคและโลก

การกระชับความร่วมมือกับต่างประเทศในทุกระดับ โดยการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจและการค้า กับพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน รวมถึงในระดับสมาคมและหอการค้าต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขยายการเข้าถึงโอกาสใน ต่างประเทศของธุรกิจสิงคโปร์

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

MTI ประกาศการจัดทำวิสัยทัศน์ Singapore Economy 2030 เมื่อมีนาคม 2565 และมีพัฒนาการชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2566 ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า นอกจากความพยายามส่งเสริมสถานะของสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางทั้งในด้านการผลิต การบริการ และการดำเนินธุรกิจของโลกแล้ว ประเด็นหลักที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวคือ ความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดังนั้น การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศในช่วงต่อจากนี้จึงจะเน้น 2 ประเด็นนี้เป็นหลัก

ในปี 2565 สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับในดัชนี Transparency International’s Corruption Perceptions Index – CPI)  ให้เป็นประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นประเทศในเอเชียเพียง ประเทศเดียวที่ติด 10 อันดับแรก ซึ่งระดับการทุจริตที่ต่ำนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของสิงคโปร์เช่นกัน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง