นักลงทุนสิงคโปร์รุ่นใหม่กับการเป็นผู้นำการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน

การลงทุนด้านความยั่งยืน (sustainability investment) มีบทบาทอย่างมากในโลกการลงทุนปัจจุบัน ทั้งในสิงคโปร์และทั่วโลก สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการลงทุนหรือการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ซึ่งสอดคล้องกับแผนสิงคโปร์สีเขียว ค.ศ. 2030 (Singapore Green Plan 2030) ซึ่งเป็นวาระระดับชาติและแผนแม่บทด้านความยั่งยืนของสิงคโปร์ในทศวรรษนี้ สิงคโปร์ยังวางแผนที่จะปล่อยพันธบัตรสีเขียว (green bond) โดยเฉพาะกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กระแส ESG ส่งผลให้นักลงทุนสิงคโปร์รุ่นใหม่มีค่านิยมที่เปลี่ยนไป โดยถือเป็นวาระของคนรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงความเห็นและลงมือทำเพื่อให้โลกดีขึ้นและเติบโตไปอย่างยั่งยืน

Generation ของนักลงทุนสิงคโปร์กับความสนใจในการลงทุน ESG

บริษัท Amundi และสำนักข่าว The Business Times ได้จัดทำผลสำรวจสอบถามความคิดเห็นของนักลงทุนในสิงคโปร์ จำนวน 1,046 คน ช่วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนที่ร่วมทำแบบสำรวจเกินครึ่งเริ่มลงทุนด้าน ESG แล้ว โดยสัดส่วนของการลงทุน ESG ของคน Gen Z (ผู้เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1997 – 2012) สูงเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับนักลงทุนกลุ่ม Gen X (ผู้เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1965 – 1980) และ Baby Boomers (ผู้เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1946 – 1964) คือ 82% ต่อ 41% กลุ่มคน Gen Z ยังมีสัดส่วนเป็นสองเท่า ในการขอคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนที่ยั่งยืนจากที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน ขณะเดียวกัน พบว่านักลงทุนกลุ่ม
Gen Z และกลุ่ม Millennials (ผู้เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1981 – 1996) เกินครึ่งหนึ่งมีการลงทุนโดยคำนึงถึงพื้นฐานของความยั่งยืนมากกว่ากลุ่ม Gen X และ Baby Boomers ที่มีเพียง 35% และคน Gen Z ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG ในการพิจารณาประกอบการลงทุนมากกว่า Gen X และ Baby Boomersอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ผลสำรวจจะแสดงว่า นักลงทุนทุกช่วงวัยให้ความสำคัญในการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle waste) แต่คนสิงคโปร์ Gen Z นั้นมีพฤติกรรมการรักษ์โลกมากกว่ากลุ่มคนอายุอื่น โดยเฉพาะการเลือกการเดินทางและการขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการเลือกซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่ผลิตภายในประเทศ อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า นักลงทุนสิงคโปร์ Gen X และ Baby Boomers มากกว่าครึ่งจะหันมาสนใจการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้นอีกภายใน 1 – 2 ปีข้างหน้านี้

ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนสิงคโปร์รุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจการลงทุน ESG มากขึ้น

จากการสำรวจพบว่า การที่นักลงทุนสิงคโปร์รุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจเรื่องการลงทุนที่มีความยั่งยืนมากขึ้น มีปัจจัยมาจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคม ดังนี้ (1) ภาวะโลกร้อน (global warming) เป็นเรื่องที่นักลงทุนทุกช่วงอายุให้ความสำคัญมากที่สุด (2) ความยากจนทั่วโลก เป็นเรื่องที่นักลงทุนรุ่นใหม่แสดงความกังวลสูงกว่ากลุ่มอื่น (Gen Z: 56%, Millennials: 40%, Gen X และ Baby Boomers: 35%) (3) ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะจากวิกฤตโควิดที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น

จากผลสำรวจ 48% ของนักลงทุน Gen Z และ 44% ของนักลงทุนอายุน้อยของกลุ่ม Millennials รู้สึกว่าความไม่เท่าเทียม การแบ่งแยกชนชั้น และการเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เทียบกับ 39% ของนักลงทุนอายุมากของกลุ่ม Millennials และ 33% ของนักลงทุน Gen X และ Baby Boomers ส่วนในด้านสังคม (social risks) ถึงแม้ตัวชี้วัดความเสี่ยงด้านสังคมในบริบทของ ESG จะยังไม่ค่อยพัฒนามากนักเมื่อเทียบกับการวัดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม แต่จากผลสำรวจพบว่า นักลงทุนสิงคโปร์รุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจความเสี่ยงด้านสังคมมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่พลังงานมีราคาสูงขึ้นมากในปัจจุบัน (ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน) และแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (global recession) ทำให้นักลงทุนกังวลที่จะขยายการลงทุน การลงทุนด้าน ESG จึงลดน้อยลงไป นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการฟอกเขียว (greenwashing) ของบริษัท Goldman Sachs และธนาคาร Deutsche สร้างความไม่มั่นใจแก่นักลงทุนสหรัฐฯ และทั่วโลกอย่างยิ่ง ทำให้แรงผลักดันในการลงทุนแบบ “do good” มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ESG ยังคงเป็นกระแสการลงทุนเชิงบวกที่คนรุ่นใหม่สนใจ และหากผู้ประกอบการออกผลิตภัณฑ์เพราะตระหนักเรื่อง ESG อย่างแท้จริงและมีการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่นักลงทุน ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสของการลงทุน ESG มากขึ้น เพื่อความยั่งยืนของโลกในระยะยาว

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

ปัจจุบัน สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการฟอกเขียวอย่างยิ่ง และกำลังเร่งรัดการจัดทำกฎระเบียบและข้อกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง สิงคโปร์มีแผนจะเปิดโครงการ ESG Impact Hub ใจกลางเมืองเพื่อเป็นศูนย์รวมของความร่วมมือของหลาย ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทสตาร์ทอัพ ฟินเทค สถาบันการเงินและการลงทุน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่าง ๆ รวมทั้งเป็นทึ่ตั้งของโครงการ Project’s Point Zero ด้านการเงินที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของบริษัท Google และ ESG Business Foundry ของบริษัท KPMG เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศน์ความยั่งยืน (sustainability ecosystem) นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการลงทุน ESG เช่น การใช้ภาพจากดาวเทียม อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และ AI เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูล ESG มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทย นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจนำข้อมูล ESG มาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อย่างไรก็ตาม ความสนใจของนักลงทุนไทยในเรื่องนี้ยังมีไม่มากเท่าที่ควร สัดส่วนการลงทุนใน ESG ในประเทศไทยมีเพียง 3.4% หรือ 60,000 กว่าล้านบาทของมูลค่าการลงทุนกองทุนรวมหุ้นในประเทศทั้งหมด 1.8 ล้านล้านบาท1 ที่ผ่านมา การลงทุนด้าน ESG ยังค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ส่วนการปฏิบัติตามหลัก ESG ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ สำหรับนักลงทุนรายย่อย ขณะนี้มีโมเมนตัมมากขึ้นในการลงทุนในกองทุน ESG แต่ยังต้องมีการประชาสัมพันธ์ การสื่อสาร ชักชวนให้นักลงทุนเห็นภาพมากขึ้น การดำเนินการด้าน ESG ถือเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน โลกที่ยั่งยืน และตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป


1 ข้อมูลจาก Global Sustainable Review ปี 2563 และบริษัทหลักทรัพย์การกองทุน กสิกรไทย จำกัด


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง