การจัดตั้งเครือข่ายสถานีเติมไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ครอบคลุมสิงคโปร์-มาเลเซีย-ไทย และความคืบหน้าของธุรกิจรถสาธารณะ EV ในสิงคโปร์และภูมิภาค

จากการที่รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้ายุติการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปล้วน (Internal Combustion Engine – ICE) ภายในปี 2583 นั้น ภาครัฐบาลและเอกชนสิงคโปร์ต่างเร่งดำเนินการรองรับเป้าหมายดังกล่าวโดยการจัดตั้งสถานีเติมไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าในปี 2573 จำนวนสถานีเติมไฟฟ้าสำหรับ EVs ในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 แห่ง จากในปี 2564 จำนวน 1,800 แห่ง นอกจากนี้ ในปี 2564 จำนวน EVs ในประเทศมีถึง 2,942 คัน (เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าจากปี 2563) และรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 3.8% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด

ล่าสุด (กรกฎาคม 2565) วิสาหกิจด้านพลังงานทั้งในสิงคโปร์และต่างประเทศดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายสถานีเติมไฟรถยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยคาดว่าจะมีการขยายตลาดอย่างรวดเร็วและดำเนินไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค ได้แก่

1) บริษัท City Energy ซัพพลายเออร์ก๊าซ (ภายใต้กลุ่มบริษัท Keppel Corp. ที่รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุน) ร่วมมือกับบริษัทมาเลเซีย EV Connection บุกตลาดการชาร์จ EVs ด้วยการเปิดใช้แอปพลิเคชัน Go ที่ผู้ขับขี่สามารถค้นหาสถานีชาร์จไฟ กำหนดเวลาการชาร์จ และชำระเงินได้ไม่ว่าจะอยู่ในสิงคโปร์หรือมาเลเซีย ถือเป็นแอปพลิเคชันข้ามพรมแดนแห่งแรกสำหรับทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ บริษัท City Energy จะลงทุนประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (72.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จนถึงปี 2573 (ค.ศ. 2030) นี้ โดยเริ่มจากการติดตั้งสถานีชาร์จไฟในย่านที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์ 13 แห่ง สำหรับมาเลเซีย บริษัท EV Connection จะติดตั้งสถานีชาร์จไฟในจุดที่ขนานไปกับทางพิเศษ North-South ของประเทศ โดยคาดว่าจะเติบโตเป็นประมาณ 70 แห่งภายในสิ้นปี 2565

ปลายปี 2565 บริษัท City Energy จะเริ่มเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟกว่า 70 สถานีในมาเลเซีย
แหล่งที่มา: NIKKEI Asia (Photo courtesy of City Energy)
(https://asia.nikkei.com/Business/Automobiles/Cross-border-networks-charge-EVs-across-Thai-Singapore-Malaysia-corridor#)

2) บริษัท Shell กำลังเร่งสร้างเครือข่ายการชาร์จไฟรถ EVs ที่เร็วเป็นพิเศษ เมื่อเดือนมกราคม 2565 บริษัทได้ติดตั้งเครื่องชาร์จขนาด 180 กิโลวัตต์ที่สถานีเติมน้ำมันทางใต้สุดของคาบสมุทรมาเลย์ ถือเป็นเครื่องชาร์จไฟที่เร็วที่สุดในภูมิภาค โดย Shell จะติดตั้งที่ชาร์จความเร็วสูง 12 เครื่องบนทางหลวงในมาเลเซีย และจะเพิ่มในไทยและสิงคโปร์อย่างเร็วที่สุดภายในสิ้นปี 2565 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้มีรายได้สูงที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรู (luxury car) ซึ่งสถานีที่ชาร์จไฟได้เร็วเป็นพิเศษนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี เป็นเงิน 835 ริงกิต (190 ดอลลาร์สิงคโปร์) เพิ่มเติมจากค่าบริการชาร์จไฟปกติราคา 20 ริงกิต (ประมาณ 4.5 ดอลลาร์สิงคโปร์) ต่อ 5 นาที (ขณะที่ค่าบริการชาร์จไฟรถยนต์ EVs ทั่วไปมีราคาประมาณ 0.50 ดอลลาร์สิงคโปร์/กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

การสนับสนุน EVs ของภาคส่วนรถรับจ้างในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธุรกิจบริการรถรับจ้างและจัดส่งกำลังเฟื่องฟูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปี 2564 ธุรกิจนี้มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ผู้ให้บริการต่างตระหนักถึงความสำคัญของการสัญจรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตั้งเป้าหมายที่จะปรับใช้ EVs ที่ปล่อยมลพิษต่ำให้มากขึ้น ดังนี้ 1) บริษัท Grab สิงคโปร์จะเปลี่ยนรถให้บริการในประเทศให้เป็น EVs ภายในปี 2573 สอดคล้องกับเป้าหมายรัฐบาลในการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำเพื่อลดคาร์บอนภายในปี 2583 2) บริษัท ComfortDelGro ผู้ให้บริการแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ที่เผชิญกับต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้น 10% และปรับขึ้นค่าโดยสารเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565 จะเปิดตัวรถแท็กซี่ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ 400 คัน และในปี 2566 ปริมาณรถแท็กซี่ไฟฟ้าจะมากถึง 1,000 คันและรถแท็กซี่แบบไฮบริดอีก 7,000 คัน และ 3) บริษัทอินโดนีเซีย GoTo ซึ่งควบรวมกิจการของสตาร์ทอัพ Gojek และ e-commerce Tokopedia เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพกลุ่มแรกในภูมิภาคที่ประกาศเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ โดยจะเปลี่ยนรถให้บริการในประเทศเป็นรถ EVs ภายในปี 2573 ผ่านโครงการนำร่องกับบริษัทพลังงานในท้องถิ่น TBS Energi Utama รวมทั้งการร่วมมือกับพันธมิตรอย่างบริษัท Gogoro ผู้ผลิตสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของไต้หวันและบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น Mitsubishi Motors ด้วย

Grab ร่วมทีมกับ Hyundai Motor Group เพื่อเปลี่ยนเป็น EVs ในภูมิภาคเอเชียตะออกเฉียงใต้
แหล่งที่มา: NIKKEI Asia (Photo courtesy of Grab)
(https://asia.nikkei.com/Business/Startups/Southeast-Asian-ride-hailing-services-race-toward-green-mobility)

สตาร์ทอัพสิงคโปร์กับโอกาสทางธุรกิจในการรีไซเคิลแบตเตอรี่สำหรับ EVs

เบื้องหลังรถยนต์ไฟฟ้าที่สะอาด แต่แบตเตอรี่ลิเธียมซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของ EVs นั้นไม่สามารถรีไซเคิลได้ง่าย กระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมใช้พลังงานมาก มีค่าใช้จ่ายสูง และผลิตสารที่ก่อมลพิษ หลายบริษัทจึงเลือกที่จะไม่รีไซเคิลโดยทั่วโลกมีเพียง 5% ของแบตเตอรี่ลิเธียมในโลกที่ได้รับการรีไซเคิล ประเด็นนี้จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถคิดหาทางเลือกที่สะอาดกว่าและคุ้มค่ากว่า จากข้อมูลของบริษัทวิจัย Fortune Business Insights ระบุว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจนี้จะสูงถึง 6,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571

ในสิงคโปร์ สตาร์ทอัพ 2 รายเริ่มขยายธุรกิจดังกล่าว ได้แก่ 1) NEU Battery Materials ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 ได้ใช้ไฟฟ้าในการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยของรองศาสตราจารย์ Wang Qing แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) โดย NEU ได้ยื่นขอสิทธิบัตรครอบคลุมตลาดหลักหลายแห่ง เช่น สิงคโปร์ จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป นอกจากนี้ยังสร้างพื้นที่นำร่องขนาด 100 ตารางเมตรในสิงคโปร์ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ Temasek ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และ 2) Green Li-ion ก่อตั้งเมื่อปี 2563 ใช้กระบวนการชุบตัวแบตเตอรี่ โดยผลิตเครื่องจักรที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน มีสิทธิบัตรที่รอดำเนินการอยู่ 5 ฉบับ ครอบคลุมสิงคโปร์และตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก จนถึงปัจจุบัน สตาร์ทอัพรายนี้สามารถขายเครื่องจักรจำนวน 8 เครื่อง ให้กับบริษัทรีไซเคิลแบตเตอรี่และผู้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2565 Green Li-ion สามารถเริ่มต้นระดมทุนได้ถึง 11.6 ล้านเหรียญสหรัฐในรอบ Series A

Kenneth Palmer (ซ้าย) และ Bryan Oh บริษัท NEU Battery Materials กับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียม
แหล่งที่มา: The Business Times (Photo: NEU Battery Materials)
(https://www.businesstimes.com.sg/garage/singapore-startups-taking-a-crack-at-recycling-lithium-batteries)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

จากการสำรวจของบริษัท Deloitte สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยครองสามอันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีจำนวนผู้บริโภคที่กำลังพิจารณาซื้อรถยนต์พลังงานใหม่เป็นรถยนต์คันต่อไปสูงที่สุด แต่ความกังวลเกี่ยวกับความจุของแบตเตอรี่และการบำรุงรักษาที่ชาร์จให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น การขยายการจัดตั้งเครือข่ายสถานีชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย รวมถึงการมีแอปพลิเคชันเป็นการเฉพาะ จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจและยอดขาย EVs ในภูมิภาค นอกจากนี้ สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรีไซเคิลแบตเตอรี่ พัฒนาสายชาร์จรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มช่องทางและมูลค่าทางธุรกิจได้ แม้ว่าไทยจะไม่มีข้อได้เปรียบด้านแหล่งทรัพยากรลิเธียมหรือข้อได้เปรียบด้านค่าแรงเท่ากับบางประเทศในภูมิภาคก็ตาม


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง