ภาพรวมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจในสิงคโปร์ ประจำปี 2564

ด้วยคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB เทียบเท่า BOI ของไทย) สำนักงาน Enterprise Singapore (ESG) และกรมสถิติ (Department of Statistics – DOS ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องภาพรวมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจในสิงคโปร์ ประจำปี 2564 และสถิติการค้าปลีกประจำเดือนธันวาคม 2564 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

แม้ว่าทั่วโลกจะยังคงเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ EDB ประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังสิงคโปร์ และสอดคล้องกับเป้าหมายระยะกลางถึงระยะยาว โดยในปี 2564 EDB สามารถดึงดูดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investments – FAI) ในสิงคโปร์ คิดเป็นมูลค่า 11,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ประเทศและภูมิภาคที่เข้ามาลงทุน FAI สูงที่สุด 2 อันดับแรก ได้แก่ (1) สหรัฐฯ ร้อยละ 67.1 และ (2) ยุโรป ร้อยละ 13.1 ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศในปี 2564 ทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ในสิงคโปร์ 17,376 อัตรา มากกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนจากต่างประเทศในสิงคโปร์เป็นการลงทุนจากบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุน FAI ในสิงคโปร์สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ภาคอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 42.3 [ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะการเพิ่มอุปสงค์เซมิคอนดักเตอร์ และการลงทุนจากโรงงานผลิตวงจรแผ่นเวเฟอร์ซิลิคอน (Silicon wafer fabrication) ของบริษัท Siltronic จากเยอรมนี มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 25 ของมูลค่า FAI ทั้งหมด) และทำให้สิงคโปร์เป็นฐานการผลิตวงจรซิลิคอนระดับสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก] (2) เทคโนโลยีชีวภาพ ร้อยละ 15 โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพของประชากรสูงวัย และ (3) ภาคการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 12.3 ทั้งยังมีการลงทุนใหม่ ๆ จากภาคเกษตรและอาหาร เคมีภัณฑ์และวัสดุ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  

ในปี 2564 สิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายในภาคธุรกิจรวม (Total Business Expenditure – TBE) คิดเป็นมูลค่า 5,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ อุตสาหกรรมที่มี TBE สูงที่สุด 3 อันดับแรกส่วนใหญ่มาจากภาคเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ (1) สำนักงานใหญ่และบริการ professional service ร้อยละ 27.2 (2) การสื่อสารและมีเดีย ร้อยละ 20 และ (3) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 18.9 ทั้งนี้ TBE ปี 2564 อยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยหนึ่งมาจากความผันผวนทาง เศรษฐกิจทั้งนี้ ประเทศและภูมิภาคที่มี TBE สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) สหรัฐฯ ร้อยละ 40.9 2) ยุโรป ร้อยละ 14.3 และ 3) ญี่ปุ่น ร้อยละ 4.5

การสร้างมูลค่าเพิ่มของบริษัทในสิงคโปร์ต่อ GDP ของสิงคโปร์  (Value-Added – VA) มีมูลค่า 16,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในปี 2564 อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้แก่สิงคโปร์สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 27.8 EDB ให้การสนับสนุนพัฒนางานวิจัย และระบบนิเวศของนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง โดยการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา การร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐ ซึ่งภาคธุรกิจในสิงคโปร์ได้ใช้ประโยชน์และนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ตนเอง นอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพแล้วยังส่งผลถึงการสร้างธุรกิจและสินค้าใหม่ ๆ เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมของสิงคโปร์ และโอกาสการจ้างงานใหม่ให้แก่คนชาติสิงคโปร์ด้วย 2) ภาคการสื่อสารและการผลิตสื่อ ร้อยละ 26.3  และ 3) สำนักงานใหญ่และบริการ professional service ร้อยละ 17 ทั้งนี้ ประเทศและภูมิภาคที่มี VA สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) สหรัฐฯ ร้อยละ 61 2) ยุโรป ร้อยละ 6.2 และ 3) จีน ร้อยละ 4.4

โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่า FAI ทั้งหมดในปี 2564
 แหล่งที่มา: PHOTO: APPLIED MATERIALS

EDB จะยังรักษาเป้าหมายการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวยาว ดังนี้ FAI ที่ 8,000 – 10,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และมูลค่า TBE 5,000 – 7,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และคาดการณ์การจ้างงาน ที่ 16,000 – 18,000 อัตรา EDB เห็นว่า เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามองในระยะ 10 ปีนี้ และภายในปี 2573 การเติบโตของธุรกิจในเอเชียจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 60 ของการเติบโตของธุรกิจโลก นอกจากนี้ สิงคโปร์จะเน้นการส่งเสริมภาคธุรกิจจากต่างชาติที่สนับสนุนการเติบโตของ GDP สิงคโปร์ และก่อให้เกิดผลดีต่อโอกาสการจ้างงานและการเพิ่มพูนศักยภาพของผู้ประกอบการสิงคโปร์ โดยอุตสาหกรรมที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล สาธารณสุข และความยั่งยืน

การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในสิงคโปร์เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 นายกาน คิม ยอง (H.E. Mr. Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ได้กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของสำนักงาน ESG ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในสิงคโปร์ ในการขยายการค้าและการลงทุนในต่างประเทศโดย ESG ได้จัดตั้งโครงการกู้เงินแก่ภาคธุรกิจ Temporary Bridging Loan Programme และ Enterprise Financing Scheme-Trade Loan เป็นเงิน 8,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์แก่บริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในสิงคโปร์จำนวน 12,000 ราย สิงคโปร์ตระหนักดีว่า แม้เศรษฐกิจสิงคโปร์จะเติบโตประมาณร้อยละ 7.2 เมื่อปี 2564 แต่กลุ่มอุตสาหกรรมหลายกลุ่ม เช่น การท่องเที่ยว การบิน การค้าปลีก และบริการอาหารและเครื่องดื่มยังคงได้รับผลกระทบและยังไม่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ESG จึงได้จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจเหล่านี้ อาทิ Food Delivery and E-Commerce Booster Packages เพื่อช่วยเหลือธุรกิจกว่า 10,000 ราย นอกจากนี้ ESG ยังได้สนับสนุนบริษัทกว่า 22,000 ราย ในโครงการพัฒนาผลผลิต นวัตกรรม และการส่งเสริมความเป็นสากล สร้างมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 44 และสร้างงานแบบทักษะ 23,300 อัตรา

ในปี 2565 ESG จะดำเนินการ (1) จับทิศทางการลงทุนในต่างประเทศให้สอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดโลก รวมทั้งจะเน้นการส่งเสริมด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ ซึ่งปี 2564 เป็นปีที่การลงทุนของบริษัทสตาร์ทอัพในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวคิดเป็นมูลค่า 11,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (จาก 5,500 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ในปี 2563) (2) เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในสาขาใหม่ ๆ ทั้งด้านสุขภาพดิจิทัล อุตสาหกรรม 4.0 เทคโนโลยีการศึกษา AI และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Immersive Technology – IMT) และ (3) การลงทุนเพิ่มเติมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์ได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าของภูมิภาค และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ESG จะมุ่งมั่นเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในสิงคโปร์ให้เป็นผู้นำด้านการค้าในภูมิภาค

มูลค่าการค้าปลีกในสิงคโปร์เดือนธันวาคม 2564

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 กรมสถิติสิงคโปร์ (Department of Statistics) รายงานมูลค่าค้าปลีก และสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์ประจำเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 โดยเฉพาะเดือนแห่งการเฉลิมฉลองธันวาคม 2564 มูลค่าค้าปลีกขยายตัวถึงร้อยละ 6.7 แบบ YoY สินค้าปลีกที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ นาฬิกาและเครื่องประดับที่ ร้อยละ 27.4 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองและมอบของขวัญแก่กัน รองลงมาคือ สถานีบริการน้ำมัน ร้อยละ 23.6 ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าปลีกออนไลน์หดตัวจากร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 (ที่มีการจัดมหกรรมสินค้าออนไลน์ใหญ่ที่สุดของปี) กลุ่มสินค้าที่ขายดีบนระบบออนไลน์ 3 อันดับแรก ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร และเครื่องเรือน มูลค่าสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 7.4 แบบ YoY และ ร้อยละ 11.7 แบบ MoM สาเหตุหนึ่งมาจากข้อจำกัดจำนวนคนในการรับประทานในร้านอาหาร โดยมีมูลค่ารวม 855 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 28.6 เป็นสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากการขายออนไลน์

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

สิงคโปร์ยังคงเป็นตลาดการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับต่างประเทศโดยสิงคโปร์พยายามแก้ไขกฎระเบียบ สภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเพื่อส่งเสริม (1) การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน และเทคโนโลยี (2) การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะด้านการผลิตขั้นสูง (advanced manufacturing) (3) การพัฒนาคนและดึงดูดผู้มีความสามารถ (talents) เพื่อรองรับบรรษัทข้ามชาติ (MNC) และ Startups ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (4) การอำนวยความสะดวกการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ (Corporate Venturing) โดยคาดว่าสิงคโปร์ จะส่งเสริมการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (อาทิ PASFTA) และความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลกับประเทศต่าง ๆ ยิ่งขึ้น

ในช่วงปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเครือ Temasek ซึ่งเป็นบริษัทที่บริหารจัดการกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ Sovereign Wealth Fund ของสิงคโปร์ โดยนาง Ho Ching ภริยานายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้เกษียณอายุจากตำแหน่ง CEO ของ Temasek เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 และให้นาย Dilhan Pillay Sandrasegara CEO ของ Temasek International ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งสื่อมวลชนคาดการณ์ว่า การยุติบทบาท CEO ของนาง Ho Ching จะปูทางไปสู่การปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่ของ Temasek เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนตัว CEO ครั้งแรกในรอบเกือบ 17 ปี อย่างไรก็ตาม นาง Ho Ching จะไปรับตำแหน่งประธาน (Chairman) ของ Temasek Trust Fund ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง