เตือนภัย! ขบวนการหลอกลวงเงิน (scam) ในสิงคโปร์ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง พบผู้ถูกหลอกส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 20-39 ปี

ถึงแม้รัฐบาลสิงคโปร์จะพยายามปราบปรามขบวนการหลอกลวงเงินหรือสแกม (scam) และคิดค้นแนวทางป้องกันการหลอกลวงโดยเฉพาะทางโทรศัพท์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงพบกรณีคนในสิงคโปร์ถูกหลอกลวงเงินจากขบวนการข้ามชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ มูลค่าความเสียหายในปี 2564 – 2565 รวมกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยในปี 2565 คนในสิงคโปร์ถูกหลอกเงินรวม 660.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 16,517 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 632 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2564 และมีคดีสแกม จำนวน 31,728 คดี เพิ่มขึ้นจาก 23,933 คดีในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 32%

จำนวนคดีของการหลอกลวงเงินเหล่านี้เพิ่มขึ้นจนแซงหน้าคดีอาชญากรรมประเภทอื่น ๆ ในสิงคโปร์หลายประเภท รัฐบาลสิงคโปร์เห็นว่าสแกมได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของสิงคโปร์และทำให้ในปี 2566 สภาป้องกันอาชญกรรมแห่งชาติ (National Crime Prevention Council – NCPC) ของสิงคโปร์ ต้องจัดทำรายงานคดีอาชญากรรมสแกมแยกออกจากการรายงานรวมคดีอาชญากรรมประจำปีเป็นครั้งแรก การแยกจัดทำรายงานดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ช่วยให้ประชาชนมีความตื่นตัวเกี่ยวกับคดีสแกมต่าง ๆ ของสิงคโปร์ในเชิงลึกได้ดียิ่งขึ้น

ผู้ถูกหลอกส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่กลับเป็นคนวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี

เป็นที่น่าสนใจว่า เหยื่อผู้ถูกหลอกส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ประมาณ 53% เป็นคนในวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 20 – 39 ปี ไม่ใช่ผู้สูงวัยอย่างที่หลายท่านเข้าใจ  จากสถิติ สิงคโปร์มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปตกเป็นเหยื่อสแกมเพียง 8.8% เท่านั้น สาเหตุที่ประชากรวัยทำงาน ตกเป็นเหยื่อมากที่สุดเนื่องจากอาชญากรเข้าถึงคนกลุ่มนี้ ผ่านทางสื่อโซเชียลได้ง่ายที่สุด อีกทั้งเป็นกลุ่มที่ชอบคลิกลิงก์เพื่อเปิดอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์บ่อยครั้ง

สัดส่วนของผู้ถูกหลอกลวงตามช่วงอายุ แหล่งที่มา: The Straits Times (https://www.straitstimes.com/singapore/scam-victims-in-s-pore-lost-6607-million-in-2022-almost-13-billion-in-past-two-years)

การหลอกลวงให้ลงทุนมีมูลค่าความเสียหายสูงเป็นอันดับ 1 ในขณะที่ตำรวจพบการหลอกลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวมากที่สุด

การหลอกลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัว (phishing scam) เป็นกลอุบายที่พบมากที่สุดในปี 2565 จำนวน 7,097 คดี เพิ่มขึ้น 41.3% จากปี 2564 แต่มูลค่าความเสียหายลดลงอย่างมาก จาก 34.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2564 เหลือเพียง 16.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2565 โดยแก๊งต้มตุ๋นมักใช้วิธีปลอมแปลงอีเมลเป็นหน่วยงานจากภาครัฐที่ดูน่าเชื่อถือ ล่อลวงเหยื่อให้เปิดเผยข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคาร รองลงมาคือการหลอกลวงเกี่ยวกับงาน (job scam) ซึ่งส่วนมากเป็นงานเสริมออนไลน์ที่ไม่มีอยู่จริง เช่น การกดถูกใจในโพสต์และงานรีวิวสินค้าในสื่อโซเชียล ในขณะที่การหลอกลวงบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (e-commerce scam) สูงเป็นอันดับที่ 3 ด้วยการลงโพสต์ขายสินค้าออนไลน์แบบปลอม ๆ แต่ไม่จัดส่งสินค้าให้ลูกค้าหลังจากได้รับเงิน สำหรับอันดับที่ 4 และ 5 คือการหลอกลวงให้ลงทุน (investment scam) และการโทรขอยืมเงินจากเพื่อนปลอม (fake friend call scam) ซึ่งกรณีสุดท้ายนั้นมีจำนวน 2,106 คดี สูงขึ้นจากปี 2564 ถึง 207% ทีเดียว โดยเหยื่อจำนวนครึ่งหนึ่งมีอายุระหว่าง 30 – 49 ปี แสดงให้เห็นว่า กลโกงของแก๊งต้มตุ๋นจะปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงแต่ช่องทางออนไลน์เท่านั้น

ทั้งนี้ การสูญเสียจากการหลอกลวงให้ลงทุนมีมูลค่าสูงที่สุดในปี 2565 มากถึง 198.3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการให้ส่วนแบ่งกำไรที่ดีมากในช่วงต้น ทำให้เกิดความไว้ใจและเพิ่มเงินลงทุนในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย

อาชญากรส่วนใหญ่มีแหล่งซ่องสุมและปฏิบัติการอยู่นอกประเทศ ทำงานเป็นขบวนการข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ตรวจสอบและจับกุมได้ยาก ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งเรื่องกฎหมายและอำนาจศาล โดยในปี 2565 ตำรวจสิงคโปร์สามารถเปิดโปงขบวนการหลอกลวงได้ 13 ขบวนการ และนักต้มตุ่นอีกกว่า 70 ราย ความผิดรวมมากกว่า 280 คดี ผ่านความร่วมมือการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศของของสำนักงานตำรวจแห่งชาติสิงคโปร์

จำนวนคดีแบ่งตามประเภทการหลอกลวง เปรียบเทียบระหว่างปี 2564 กับปี 2565
แหล่งที่มา: The Straits Times (https://www.straitstimes.com/singapore/scam-victims-in-s-pore-lost-6607-million-in-2022-almost-13-billion-in-past-two-years)

สิงคโปร์พยายามเร่งแก้ไขปัญหาสแกม เน้นให้ประชาชนลงมือทำ “ACT”

สแกมเริ่มกลายเป็นอาชญากรรมในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2559 ด้วยจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 5,300 คดี ทำให้สิงคโปร์ต้องออกมาตรการเพื่อจัดการกับปัญหาอย่างจริงจัง และพัฒนาระบบการป้องกันภัยและการแจ้งเตือนประชาชนให้ทันกับรูปแบบของสแกมที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

ในปี 2566 นี้ หน่วยงาน NCPC ได้ออกโครงการต่อต้านสแกมโดยใช้คำว่า ACT ซึ่งหมายถึง “การลงมือทำ” เพื่อเน้นให้ประชาชนและทุกภาคส่วน “ลงมือ” และ “ร่วมมือ”กันต่อต้านภัยจากสแกมทุกรูปแบบ โดยเน้นการลงมือทำ 3 อย่าง คือ (1) Add หรือการเพิ่มการป้องกัน เช่น การใช้แอปพลิเคชัน ScamShield การยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอนสำหรับบัญชีส่วนตัว และการจำกัดวงเงินสูงสุดในการโอนเงิน (2) Check หรือการตรวจสอบให้แน่ใจก่อนเสมอ ด้วยการถาม ขอข้อมูล และยืนยันความถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่รีบร้อนทำธุรกรรมใด ๆ และ (3) Tellหรือการรายงานหน่วยงานหรือองค์กร เช่น ธนาคาร สถานีตำรวจ เมื่อพบเหตุน่าสงสัย หรือลงบันทึกในแอปพลิเคชัน ScamShield และบอกต่อครอบครัวและเพื่อนฝูงให้ระมัดระวังอยู่เสมอ โดยหากประชาชนดำเนินการตาม ACT รวมทั้งร่วมมือกันสอดส่องและป้องกันก็จะช่วยลดจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อลงได้

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

สิงคโปร์พยายามเร่งแก้ไขปัญหาสแกมและอาชญากรรมหลอกลวงเงินตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทั้งการริเริ่มโครงการต่อต้านสแกมแห่งชาติ (National Anti-Scam Campaign) การจัดทำเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบสแกม บริการสายด่วนให้คำปรึกษา และจัดตั้งหลายหน่วยงานเพื่อจัดการกับปัญหานี้โดยเฉพาะ เช่น หน่วยงาน Anti-Scam Command ที่จัดตั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 รวมทั้งการพัฒนาแอปฯ ScamShield เพื่อป้องกันสายเรียกเข้าและข้อความ SMS จากขบวนการหลอกลวง และได้เริ่มใช้การยืนยันตัวตนของผู้ส่งข้อความ SMS
เต็มรูปแบบ
ซึ่งหลังจากวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 นี้ ข้อความ SMS ขององค์กรที่ไม่ได้ลงทะเบียนจะถูกบล็อกทันที 

ศูนย์ BIC เห็นว่า คดีสแกมในสิงคโปร์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น และการสูญเสียจากการหลอกลวงให้ลงทุนมีมูลค่าสูงที่สุดในปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มการหลอกลวงอาจจะเริ่มไม่เฉพาะเจาะจงกับรายย่อยเท่านั้นแต่ยังรวมถึงนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และนักลงทุนชาวไทยที่สนใจลงทุนในสิงคโปร์จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมในสิงคโปร์ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับสแกมได้ที่ สายด่วน Anti-Scam Hotline 1800-722-6688 และตรวจสอบสแกมออนไลน์ได้ที่: เว็บไซต์ scamalert.sg และเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือ scamshield.org.sg (ดาวน์โหลดฟรีทั้งมือถือระบบ IOS และ Android)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง