การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ของสิงคโปร์ และการเปิดประเทศแบบเกือบเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

(ปรับปรุงล่าสุด ณ วันที่ 6 เมษายน 2565 มาตรการเดินทางเข้าสิงคโปร์ล่าสุด โปรดดูข้อ 3.8 และตาราง)

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 นายลี เซียน ลุง (H.E. Mr. Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และคณะทำงานระดับชาติด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิงคโปร์ (Multi-Ministry Taskforce – MTF) ได้แถลงเรื่องการผ่อนคลายมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และมาตรการเปิดประเทศของสิงคโปร์ สรุปได้ดังนี้

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์สรุปภาพรวมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน สิงคโปร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อมีนาคม 2563 จนถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเดลตาซึ่งเป็นสายพันธุ์อันตราย และสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 25,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างต่อเนื่อง มาตรการที่รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้เพื่อควบคุมโรคระบาดประสบความสำเร็จด้วยดี ด้วยความร่วมมือและความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดีของประชาชนทุกฝ่าย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในนามของประชาชนทั้งประเทศ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งต่อบุคลากรด่านหน้าด้านสาธารณสุขของสิงคโปร์

ในปัจจุบันประชาชนในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 92) ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบถ้วนแล้ว ซึ่งถือเป็นหมุดหมายหลัก (major milestone) ในการรับมือกับโควิด-19 ของสิงคโปร์ ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงตัดสินใจก้าวต่อไปข้างหน้าเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 (decisive steps forward to living with COVID-19) อย่างรอบคอบ

การผ่อนคลายมาตรการในภาพรวมตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2565

1) ให้ประชาชนรวมกลุ่มในที่ชุมชนและในสำนักงานได้เพิ่มขึ้นจากเดิมสูงสุด 5 คน เป็น 10 คน

2) หน่วยงานและบริษัทสามารถให้พนักงานเข้าไปทำงานที่สำนักงานได้เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 50 เป็น 75 ของจำนวนพนักงานที่สามารถทำงานที่บ้านได้

3) เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมขนาดใหญ่ (ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน) จากเดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 75 ของขนาดพื้นที่จัดงาน

4) ยกเลิกการบังคับใส่หน้ากากอนามัยภายนอกอาคาร (แต่ยังคงต้องใส่ภายในอาคาร/ห้างร้าน)

5) หากไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยนอกอาคาร ยังคงต้องรักษาระยะห่าง 1 เมตร

6) ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยมาก ดังนั้น สิงคโปร์จึงผ่อนคลายมาตรการเข้าเมือง เรียกว่า “Vaccinated Travel Framework” เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนให้เกือบเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 (almost like before COVID-19) และทำให้สิงคโปร์กลับมาเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการบินอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวถึง “Freedom Day” Approach ซึ่งรัฐบาลบางประเทศประกาศการสิ้นสุดของภาวะโรคระบาด แต่ปัจจุบันประเทศเหล่านี้ต่างกังวลกับอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สิงคโปร์จึงเลือกที่จะยังคงมาตรการไว้เท่าที่จำเป็น และเฝ้าระวังความเป็นไปได้ของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เห็นว่า โอมิครอนจะยังไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย แต่ก็หวังว่าการกลายพันธุ์ต่อไป ผู้ติดเชื้อจะมีอาการบรรเทาลงเสมือนเพียงไข้หวัดทั่วไป อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่สายพันธุ์ใหม่ ๆ จะเป็นอันตรายเหมือนกับเดลตา สิงคโปร์จึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็หวังว่าประชาชนจะมีความสุขและความสะดวกในการใช้ชีวิตยิ่งขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้

การปรับมาตรการล่าสุดตามที่สรุปจากการแถลงของคณะทำงาน Multi-Ministry Taskforce (MTF)

ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์แถลง MTF ซึ่งประกอบด้วย (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานร่วม MTF (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ประธานร่วม MTF (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันแถลงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ ดังนี้

1. มาตรการทางสาธารณสุข
1.1 กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์จะจัดวัคซีนเข็มที่ 4 ให้กับกลุ่มผู้มีปัญหาด้านภูมิต้านทาน ผู้มีโรคติดต่อ และผู้มีอายุมากกว่า 80 ปี หรือผู้สูงอายุในสถานคนชราเท่านั้น โดยจะจัดสรรวัคซีนให้ 5 เดือนภายหลังจากเข็มก่อนหน้า แต่ในชั้นนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ ยังไม่มีแผนและความจำเป็นที่จะจัดสรรวัคซีนเข็มที่ 4 แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคตด้วย

1.2 สิงคโปร์ยังไม่ยกเลิก Pre-Departure Test (PDT) สำหรับผู้เดินทางทางอากาศและทางเรือ ทั้งนี้
โดยที่มีผู้ร้องเรียนปัญหาการเข้าถึงการตรวจ ART ในต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์จึงได้จัดทำช่องการตรวจ ART ผ่านระบบทางไกล (Tele-ART/remote supervised self-swab Art Service) เฉพาะสำหรับคนสัญชาติสิงคโปร์ ผู้อยู่ถาวร (PR) และผู้ถือบัตรพำนักระยะยาวประเภทต่าง ๆ ของสิงคโปร์

1.3 กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ จะยกเลิกการแบ่งกลุ่มประเทศตามความเสี่ยงในการพิจารณามาตรการเข้าเมือง และแบ่งกลุ่มประเทศต้นทางเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มทั่วไป (General Travel Category) และ (2) กลุ่มควบคุม (Restricted Category)

1.4 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ยังควบคุมการแพร่ระบาดฯ ได้ดี โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องพักรักษาตัวใน ICU ต่ำกว่า 30 ราย และผู้ติดเชื้อฯ ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงจาก 1,500 ราย เป็นประมาณ 1,000 ราย

2. มาตรการ Safe Management Measures (SMMs 1-5) ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2565

2.1 ผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วสามารถรับประทานอาหารร่วมกันในร้านอาหารได้สูงสุด 10 คนต่อโต๊ะ

2.2 ยกเลิกคำสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเวลา 22.30 น.
ทั้งนี้ MTF จะทบทวนมาตรการต่อสถาบันเทิงยามค่ำคืนในไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้

2.3 อนุญาตให้จัดการแสดงสดได้ในทุกสถานที่ ทั้งภายในและนอกอาคาร รวมถึงวงดนตรีสดในร้านอาหาร

2.4 สำหรับกิจกรรมทางสังคม (Social Events and Gatherings) ยังคงอนุญาตเฉพาะงานมงคลสมรส แต่ยังไม่อนุญาตกิจกรรมอื่น ๆ เช่น งานฉลองวันเกิด/วันครบรอบ Gala Dinners และ Corporate Dance & Dinner (D&D) Events

2.5 ยกเลิกคำสั่งห้ามกิจกรรมที่ใช้เสียงในที่ชุมชน (Vocalization) ซึ่งรวมถึงการร้องเพลงและการส่งเชียร์

2.6 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ประกาศอนุญาตให้สถานบันเทิงยามค่ำคืน (nightlife industry) กลับมาเปิดทำการได้ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่สถาบันบันเทิงและไนท์คลับสามารถกลับมาเปิดทำการได้ในสิงคโปร์

3. การผ่อนคลายมาตรการเข้าเมือง Vaccinated Travel Framework ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

3.1 ตั้งแต่ กันยายน 2564 สิงคโปร์ ได้เปิด Vaccinated Travel Lane (VTL) ทั้งทางอากาศและทางทะเล รวม 32 VTLs โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณการเดินทางระว่างประเทศที่ท่าอากาศยานชางงี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.2 ของช่วงก่อนโควิด-19 (ก่อนมีนาคม 2563) จนถึงปัจจุบันมีผู้เดินทางด้วย VTLs มายังสิงคโปร์แล้วรวมกันประมาณ 600,000 คน ในช่วงระยะที่ 2 ต่อจากนี้ สิงคโปร์จะเปลี่ยนมาตรการจาก VTL เป็น Vaccinated Travel Framework (VTF)

3.2 ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วจากทุกประเทศและดินแดน สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว ยกเว้นผู้เดินทางจากประเทศในบัญชีกลุ่มควบคุม ซึ่งปัจจุบัน สิงคโปร์ยังไม่กำหนดประเทศและดินแดนใดให้อยู่ในบัญชีดังกล่าว

3.3 ยกเลิกการขอ VTP สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางระยะสั้นในการเดินทางเข้าสิงคโปร์

3.4 ยกเลิกการจัดทำเที่ยวบินและเที่ยวเรือเฟอร์รี VTL ทำให้ผู้เดินทางสามารถเข้าสิงคโปร์ได้ด้วยทุกเที่ยวบินและเที่ยวการเดินเรือโดยไม่ต้องเข้ารับการกักตัว

3.5 ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางถึงสิงคโปร์ (On-arrival Test) และยกเลิกการซื้อประกันโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางทั้งหมด

3.6 ผู้เดินทางเข้าสิงคโปร์ทางอากาศและเรือยังคงต้องแสดงผลตรวจหาเชื้อก่อนการเดินทางเข้า สิงคโปร์ [Pre-Departure Test (PDT)] ในรูปแบบ PCR หรือ ART (ในไทยเรียกว่า ATK) ซึ่งมีใบรับรองจากสถานพยาบาลหรือการตรวจด้วยระบบ supervised/Tele-Art โดยตรวจไม่เกิน 2 วันก่อนเข้าสิงคโปร์ (ยกเลิกการตรวจ PDT สำหรับผู้เดินทางทางบกเท่านั้น) *การตรวจผ่านระบบทางไกล Tele-Art อนุญาตเฉพาะผู้ถือบัตรพำนักระยะยาวในสิงคโปร์เท่านั้น

3.7 ปรับปรุงแบบฟอร์ม SG Arrival Card ให้ง่ายขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์จะทบทวนมาตรการทุก ๆ 2 – 4 สัปดาห์

ที่มา: สรุปข้อมูลจาก Channel News Asia

 3.8 สรุปมาตรการการเดินทางเข้าสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ดังนี้
           (1) ต้องได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วและแสดงเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบถ้วนฉบับที่มีรหัสคิวอาร์ (สำหรับคนไทย เอกสารออกโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือ Digital Health Pass ของแอปพลิเคชันหมอพร้อม)
           (2) การตรวจหาเชื้อก่อนการเดินทาง (Pre-Departure Test – PDT) แสดงผลตรวจ ART (หรือ ATK ของไทย) หรือ PCR  ที่เป็นลบ โดยตรวจไม่เกิน 2 วันก่อนการเดินทางมายังสิงคโปร์ โดยต้องแสดงผลตรวจจากคลินิกหรือสถานพยาบาล เป็นภาษาอังกฤษ หรือมีคำแปลภาษาอังกฤษ และจะต้องแสดง (i) วันและเวลาที่ตรวจ (ii) ชื่อ-สกุลของผู้เดินทาง (iii) วันเดือนปีเกิด (iiii) หมายเลขหนังสือเดินทาง  ทั้งนี้ ผู้เดินทางที่มีบัตรพำนักระยะยาวของสิงคโปร์สามารถเลือกตรวจแบบออนไลน์ผ่าน video call ทางไกล (Tele-Art) กับผู้ให้บริการในสิงคโปร์ที่รัฐบาลสิงคโปร์รับรอง อาทิ DoctorAnywhere และ RafflesConnect
           (3) เดินทางเข้าสิงคโปร์ด้วยเที่ยวบินใดก็ได้
           (4) กรอกเอกสารใบเข้าเมืองแบบออนไลน์ SG Arrival Card ล่วงหน้าก่อนเดินทางเข้าสิงคโปร์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
           (5) ดาวน์โหลดและเปิดใช้งานแอปพลิเคชันติดตามตัว TraceTogether ตลอดการพำนักในสิงคโปร์
         – เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนมาก่อน

4. การผ่อนคลายมาตรการภายในท่าอากาศยานชางงี ตั้งแต่ 25 มีนาคม 2565

4.1 ยกเลิกการจำกัดโควตาการขายบัตรโดยสารเครื่องบินเข้าสิงคโปร์ของทุกสายการบิน 

4.2 ลูกเรือสามารถดำเนินกิจกรรมในเมืองได้ ภายใต้มาตรการเดียวกับผู้เดินทางด้วย VTF

4.3 พนักงานในท่าอากาศยานสามารถใส่เพียงหน้ากากอนามัยได้ ยกเลิกการบังคับใช้หน้ากากประเภทพิเศษ face shield และถุงมือ รวมถึงการสุ่มตรวจหาเชื้อแบบประจำ (Rostered Routine Testing – RRT)

4.4 ยกเลิกการแบ่งพื้นที่ (zoning) ภายในท่าอากาศยานฯ รวมถึงในพื้นที่แวะพักเปลี่ยนเครื่อง (transit)

4.5 ฟื้นฟูการเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่ transit

อนึ่ง ในปีนี้ กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้มากขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 50 ของช่วงก่อนโควิด-19                                  

5. การเปิดการเดินทางผ่านแดนทางบก สิงคโปร์ – มาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

5.1 ตามเอกสารแถลงข่าวร่วมระหว่าง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่งเป็นผลจากการหารือทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 สิงคโปร์และมาเลเซียจะฟื้นฟูการเดินทางผ่านแดนทางบกระหว่างกันเพื่ออำนวยความสะดวกผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว โดยไม่ต้องเข้ารับการกักตัวหรือการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งก่อนการเดินทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศที่หมาย รวมทั้งไม่ต้องขอ Vaccinated Travel Pass (กรณีเดินทางเข้าสิงคโปร์)

5.2 นายกรัฐมนตรีของสองประเทศเห็นพ้องว่าการเปิดการเดินทางข้ามพรมแดนทางบกระหว่างกันถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดี ใกล้ชิด และยาวนานระหว่าง สิงคโปร์กับมาเลเซียโดยเฉพาะความแน่นแฟ้นในระดับประชาชนสู่ประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ได้เผยแพร่รายละเอียดมาตรการผ่านแดนทางบก สิงคโปร์ – มาเลเซีย

6. การผ่อนคลายมาตรการในสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2565                    

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ใช้แนวทางการเรียนการสอนแบบ blended learning (ผสมผสานระหว่างการเรียนที่บ้านและออนไลน์) เพื่อลดผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการเรียนรู้และพัฒนาการเชิงวิชาการของนักเรียน อย่างไรก็ดี กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์มีความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของนักเรียนในด้านอื่น ๆ ได้แก่ (1) พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม (2) การเรียนภาษา และ (3) โอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมห้องเรียน รวมถึงนักเรียนจากต่างประเทศ ดังนั้น โดยที่สิงคโปร์ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ จึงได้ปรับมาตรการในสถานศึกษาเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการลดความเสี่ยงจากโควิด-19 และการเสริมสร้างพัฒนาการในระยะยาวของนักเรียน ดังนี้

6.1 อนุญาตให้นักเรียนและครูผู้สอนสามารถถอดหน้ากากในห้องเรียนภาษา (language and literacy) สำหรับการเรียนการสอนในชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และนักเรียนที่มี่ความบกพร่องทางการได้ยินหรือการออกเสียง รวมถึงนักเรียนในโครงการพิเศษต่าง ๆ และจะค่อยๆ ขยายมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมนักเรียนและครูกลุ่มต่าง ๆ ในระยะต่อไป

6.2 อนุญาตให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาโรงเรียน (National School Games) ได้ทั้ง 29 สาขากีฬา และการจัด Singapore Youth Festival (ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปีที่จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จและความสามารถในด้านต่าง ๆ ของเยาวชน สิงคโปร์) ได้ตามปกติในปีนี้

6.3 สนับสนุนให้มีการกลับมาเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และเครือข่ายของนักเรียนกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาการเป็น global hub ของสิงคโปร์         

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

การแถลงการผ่อนคลายมาตรการอย่างยิ่ง (drastically streamline) ของสิงคโปร์ในครั้งนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขและการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาลสิงคโปร์ และความมุ่งมั่นในการเปิดประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการค้าปลีก ซึ่งยังฟื้นตัวอย่างไม่สมดุลเท่ากับภาคเศรษฐกิจ
อื่น ๆ และถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสิงคโปร์ ยกเลิกการบังคับใส่หน้ากากอนามัยนอกอาคาร และเริ่มเปิดให้มีการแสดงสดที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงมาตรการติดตามตัวด้วยระบบเช็คอินในสถานที่ต่าง ๆ บนแอปพลิเคชั่น TraceTogether อย่างเคร่งครัด

ในช่วงที่มีการเปิด VTL กับไทย ไทยยังคงเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวยอดนิยมของสิงคโปร์ โดยจากข้อมูลของ บริษัท Expedia พบว่า จังหวัดภูเก็ต และกรุงเทพฯ ของไทย และบาหลีของอินโดนีเซียเป็น 3 จุดหมายการการเดินทางด้วย VTL ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการค้นหามากที่สุดในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ และจากข้อมูลของ บริษัท Cirium ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการบิน พบว่า มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย เป็น 1 ใน 5 ลำดับแรกที่มีจำนวนเที่ยวบิน VTL มากที่สุด


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง