สิงคโปร์จัดงานมหกรรม Singapore Airshow 2022 เร่งฟื้นฟูธุรกิจการบินอย่างยั่งยืน

กลุ่มธุรกิจด้านการบินในสิงคโปร์ โดยการสนับสนุนของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์จัดงานมหกรรมการบิน Singapore Airshow 2022 ระหว่างวันที่ 15 – 18 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์จัดแสดงชางงี (Changi Exhibition Centre) สิงคโปร์ โดยจัดแสดงสินค้า ส่วนประกอบ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการบินที่ทันสมัย ทั้งในเชิงพาณิชย์และการป้องกันประเทศ โดยมีบริษัทจำนวน 600 บริษัท จาก 39 ประเทศ ร่วมจัดแสดงสินค้าในงานดังกล่าว ซึ่งรวมถึงบริษัทชั้นนำ  ได้แก่ (1) Airbus (2) Boeing (3) Aviation Industry Corporation of China (4) Lockheed Martin (5) Rafael Advanced Defense Systems (6) Rolls-Royce และ (7) ST Engineering เป็นต้น

อุปทูตฯ และข้าราชการของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานมหกรรมในปีนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 13,000 คน จึงถือเป็นการจัดงานนิทรรศการขนาดใหญ่ (MICE) ที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในสิงคโปร์ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ร่วมงาน Singapore Airshow ทั้งที่เป็น Exhibitor และผู้เข้าร่วมงานในปีนี้ยังคงน้อยกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมาก (ปี 2563 มีผู้ร่วมงานประมาณ 30,000 คน) สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ

การแสดงเครื่องบิน (Static Display)

ภายในงานยังมีการแสดงการบิน (Aerial display) โดยแบ่งเป็น 1) การบินทหาร เช่น การแสดงของเครื่องบินรบแบบเบา Tejas ของกองทัพอากาศอินเดีย การบินผาดโผนจากกลุ่ม Jupiter อินโดนีเซีย การแสดงเฮลิคอปเตอร์ F-16C และ AH-64D Apache ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ เป็นต้น และ 2) การบินพลเรือน เช่น การแสดงการบินด้วยเครื่องบิน Airbus A350-1000 และ Boeing B777-9 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโชว์เครื่องบิน (Static display) ซึ่งถือเป็นจุดสนใจ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง H225m ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ เครื่องบินพาณิชย์ A350-900 ของ Airbus และเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ห้า F-35A Lightning II ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

นาย Lim Tse Yong รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์(Economic Development Board – EDB) เห็นว่าการจัดงาน Singapore Airshow แบบ onsite ในสิงคโปร์เป็นสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค โดยคาดการณ์ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 การเดินทางระหว่างประเทศของสิงคโปร์จะฟื้นตัวประมาณ ร้อยละ 55 ในปี 2565 นี้ และจะฟื้นตัวเต็มที่ภายในปี 2569

การแสดงการบิน (Arial Display)

สิงคโปร์เน้นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในธุรกิจการบิน

สิงคโปร์ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยได้ประกาศแผนสิงคโปร์สีเขียว (Singapore Green Plan 2030) และวางเป้าหมายของสายการบินแห่งชาติที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ (net zero emission) ในปี 2593 ซึ่งภาคการบินเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะการบินพาณิชย์ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 900 ล้านตันต่อปี หรือร้อยละ 2 ของจำนวนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก

ภาครัฐและเอกชนในสิงคโปร์จึงได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจการบินซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญของสิงคโปร์ โดยสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (SIA) และสกู๊ต (Scoot) ได้จัดทำแผนการทดลองใช้น้ำมันผสม (blended fuel) จากเชื้อเพลิงเครื่องบิน (refined jet fuel) และเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน (sustainable fuel) โดยจะทำการทดลองเป็นเวลา 1 ปีกับเที่ยวบินที่เดินทางจากท่าอากาศยานชางงี และจะเริ่มใช้อย่างจริงจังในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ทั้งนี้ การทดลองดังกล่าวคาดว่าจะสามารถลดจำนวนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,500 ตัน ตลอดช่วงการทดลอง 1 ปี 

หน่วยงานภาครัฐสิงคโปร์อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อนำมาใช้ภายในประเทศและการส่งออก อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจนี้ยังมีข้อจำกัดด้านอุปทานอยู่มาก แม้ว่า เชื้อเพลิงที่ยั่งยืนจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 80 เทียบกับน้ำมันเครื่องบินปกติ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนน้ำมันดังกล่าวมีราคาสูงกว่าน้ำมันเครื่องบินปกติถึง 2 – 5 เท่า นอกจากนี้ สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (Civil Aviation Authority of Singapore) ร่วมมือกับบริษัท Airbus ในโครงการวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งศูนย์ไฮโดรเจนที่ท่าอากาศยานในสิงคโปร์ และข้อกำหนดด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการปฏิบัติงานของเครื่องบินไฮโดรเจนในอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

นอกจากการส่งเสริมมหกรรมแสดงสินค้าและบริการด้านการบินแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ โดยจัดทำช่องทาง Vaccinated Travel Lane (VTL) เพื่อยกเว้นการกักตัวสำหรับผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนแล้ว ทั้งทางอากาศ (เน้นกลุ่มนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว) ทางบก (เน้นกลุ่มแรงงานจากมาเลเซีย) และทางเรือ (เน้นการท่องเที่ยวทางทะเลกับต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย) โดยตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 23.59 น. ผู้เดินทางจากประเทศไทยที่ได้รับวัคซีนแล้ว (และพำนักอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทาง)  สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ในช่องทาง VTL ได้โดยไม่ต้องกักตัว ไม่ว่าจะเดินทางจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใด ๆ ของประเทศไทยก็ตาม 

อุตสาหกรรมการบินอวกาศยานเป็นหนึ่งในห้า New S-Curve อุตสาหกรรมในอนาคตของไทย โดยประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการบิน (Aerospace hub) ของภูมิภาคได้ อย่างไรก็ตาม จากสถิติการทดสอบมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน Aerospace Standard AS9100 พบว่า ผู้ประกอบการไทยผ่านการทดสอบดังกล่าว จำนวน 26 ราย ในขณะมีผู้ประกอบการในสิงคโปร์ที่ผ่านการทดสอบถึง 119 หน่วยงาน ผู้ประกอบการไทยจึงสามารถเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคธุรกิจการบินจากหลากหลายประเทศที่มาจัดตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงการเพิ่มทักษะแรงงานในด้านนี้ต่อไป

Singapore Airshow เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุก 2 ปี และถือเป็นมหกรรมฯ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยปัจจุบันกองทัพไทยมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการสิงคโปร์ ทั้งในส่วนของยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น อุปกรณ์เพื่อการให้ความร่วมเหลือด้านภัยพิบัติ ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันแม้จะมีผู้เข้าร่วมงานฯ น้อยกว่าปกติ แต่ถือเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นของสิงคโปร์ที่พร้อมเปิดประเทศ และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านต่าง ๆ เช่นเดิม ทั้งนี้ กำหนดจัดงานฯ ครั้งต่อไประหว่างวันที่ 20 – 25 กุมภาพันธ์ 2567


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง