เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ระหว่างการประกาศแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2568 นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวว่า รัฐบาลจะศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศและจะดำเนินการเพิ่มเติมอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านพลังงานของสิงคโปร์ ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้ลงนามข้อตกลงกับสหรัฐฯว่าด้วยความร่วมมือด้านนิวเคลียร์เพื่อพลเรือน และกำลังดำเนินการเจราจาข้อตกลงลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่นๆที่มีศักยภาพและประสบการณ์ในด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปฏิกรณ์โมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors :SMRs)

นายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสนใจในพลังงานนิวเคลียร์กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยมีหลายประเทศ 1 ในภูมิภาคนี้วางแผนบูรณาการพลังงานนิวเคลียร์เข้ากับแหล่งพลังงานปัจจุบัน ดังนั้น สิงคโปร์จำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถใหม่เพื่อประเมินทางเลือกด้านพลังงาน และพิจารณาว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะช่วยสิงคโปร์แก้ปัญหาและสามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัยและคุ้มต้นทุนหรือไม่ โดยขีดความสามารถดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อมาตรการความป
ลอดภัยทางนิวเคลียร์ ซึ่งจะยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มที่ภูมิภาคให้ความสนใจในพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสรรเงินทุนเพิ่มอีก 5,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ให้กับกองทุนพลังงานอนาคต 2 ที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนความพยายามในการรักษาพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าพลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจนหรือพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งนายกฯ ระบุว่า รัฐบาลฯ จำเป็นต้อง”ลงทุนครั้งใหญ่” ในโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เซมิคอนดักเตอร์ ชีวเภสัชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนมีความต้องการพลังงานสูง ดังนั้น การเพิ่มแหล่งพลังงานสะอาดไม่เพียงช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น แต่ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไปพร้อมกันการขยายการเข้าถึงพลังงานสะอาดจึงถือเป็นความจำเป็นระดับชาติ

สิงคโปร์ยังไม่ได้ตัดสินใจใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนพลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำต่างๆที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ โดยมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอย่างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ราคาที่เอื้อมถึง และปริมาณการปล่อยคาร์บอนทางเลือกด้านพลังงานของสิงคโปร์มีข้อจำกัด เนื่องจากประเทศไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหรือพื้นที่เพียงพอ สำหรับพลังงานน้ำ พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศ

ปัจจุบัน สิงคโปร์พึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงจากฟอสซิล คิดเป็นประมาณร้อยละ 95 ของความต้องการพลังงานทั้งหมดโดยภาคส่วนพลังงานมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษประมาณร้อยละ 40 ของการปล่อยมลพิษทั้งหมดของประเทศ เพื่อจะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาวในการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 สิงคโปร์จำเป็นต้องลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคส่วนนี้

โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับปี 2578 โดยตั้งเป้าลดการปล่อยมลพิษลงเหลือระหว่างเหลือ 45 -50 ล้านตัน จากระดับที่คาดว่าจะอยู่ที่ 60 ล้านตันในปี 2573 รัฐบาลฯ ได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2553 แต่ประเมินว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบเดิมไม่เหมาะสมกับประเทศ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นสูงที่มีคุณลักษณะด้านความปลอดภัยที่ดีกว่าเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม

ทั้งนี้ เครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็กมีข้อได้เปรียบอย่างขนาดที่มีความกะทัดรัดสามารถประกอบและติดตั้งในโรงงานในเขตเมืองที่มีความหนาแน่นสูงได้ และกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณหนึ่งในสามของเครื่องปฏิกร
ณ์แบบเดิม การสำรวจพลังงานนิวเคลียร์ของสิงคโปร์กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น

โดยในปี 2565 มีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในอนาคตระบุว่า เทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ เช่นนิวเคลียร์และพลังงานความร้อนใต้พิภพอาจสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของสิงคโปร์ได้ประมาณ10% ภายในปี 2593 และในเดือนกรกฎาคม 2567 สิงคโปร์ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ฉบับที่ 123 กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะช่วยให้สิงคโปร์สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์และการศึกษาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากองค์กรด้านพลังงานของอเมริกา

นอกจากนี้ รัฐบาลฯได้ดำเนินมาตรการระยะสั้นเพื่อให้โครงสร้างพลังงานของประเทศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นผ่านการนำการนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจากประเทศในภูมิภาค สิงคโปร์ได้ลงนามข้อตกลงกับอินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนามเพื่อนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ 5.6 กิกะวัตต์ภายในปี 2578 และคาดว่าไฟฟ้าสีเขียวส่วนใหญ่จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ น้ำและลม ภายใต้โครงการนำร่องที่ขยายเพิ่มขึ้นในปี 2567

สิงคโปร์กำลังนำเข้าไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาวผ่านไทยและมาเลเซีย ในช่วงปลายปี 2567 มีรายงานว่าอุปทานพลังงานเพิ่มเติมมาจากมาเลเซีย ทำให้การนำเข้าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก100 เมกะวัตต์ เป็น 200 เมกะวัตต์

ปัจจุบัน ระบบไฟฟ้าของมาเลเซียยังคงพึ่งพาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ แต่ภายในปี 2578 สิงคโปร์จะสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าประมาณหนึ่งในสามผ่านการนำเข้า ในขณะเดียวกัน รัฐบาลฯ ได้ประเมินศักยภาพของไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เมื่อถูกเผาไหม้

อย่างไรก็ตาม ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำยังคงมีข้อจำกัดในด้านความท้าทายในการผลิต การจัดเก็บ และการขนส่ง ซึ่งทำให้การขยายขนาดเพื่อการค้าเป็นไปได้ยาก

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

รัฐบาลสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์เชิงรุกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแก้ไขข้อจำกัดด้านทรัพยากรของประเทศ
โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์และความปลอดภัยทางนิวเคลียร์อย่างจริงจัง
การลงทุนในโครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานให้กับประเทศ แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตในระยะยาว


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ
  • Cover Image : shutterstock