DITP: สิงคโปร์ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหม่สำหรับปี 2578

สำนักงานเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (the National Climate Change Secretariat: NCCS) กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า สิงคโปร์จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเหลือระหว่าง 45 ถึง 50 ล้านตัน (Mt) ภายในปี 2578 ซึ่งจะลดไปจากเดิมในปี 2573 ที่ตั้งเป้าไว้ประมาณ 60 ล้านตัน การตั้งเป้าหมายใหม่ในครั้งนี้จะช่วยให้สิงคโปร์มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของสิงคโปร์ในปี 2565 อยู่ที่ 58.59 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า(CO2 eq) 1 โดยสิงคโปร์มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อนละ 0.1 ของโลก เป้าหมายดังกล่าว พิจารณาถึงข้อจำกัดด้านพลังงานทางเลือกของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก

นอกจากนี้ อัตราการลดคาร์บอนของสิงคโปร์จะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2578 ได้รับการกำหนดขึ้นตามผลการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) 2 ครั้งแรกในปี 2566 ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement)

ปัจจุบัน สิงคโปร์พึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 95 สำหรับความต้องการพลังงานของประเทศ ขณะที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพมากที่สุดสำหรับสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 2 ของความต้องการไฟฟ้าของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 สัดส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบพลังงานของสิงคโปร์อาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 10

ในเอกสาร 31 หน้า ที่ส่งถึงสหประชาชาติ สิงคโปร์ระบุว่า เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศใหม่ของประเทศจะทำให้แผนและนโยบายภายในประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลจาก Global Stocktake ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์กำลังเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้สูงสุด แม้จะมีข้อจำกัดด้านที่ดิน โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอ่างเก็บน้ำ และสำรวจการใช้งานบนทางเดิน ที่จอดรถ และผนังอาคาร อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายภายในปี 2578 ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจาก ทรัพยากรที่จำกัด และตัวเลือกพลังงานทางเลือกที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ สิงคโปร์จำเป็นต้องใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น ควบคู่ไปกับนโยบายด้านราคาและการตลาดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังจำเป็นต้องเร่งลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น ไฮโดรเจน และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage – CCS) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว

ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและพลังงานของสิงคโปร์ หมายความว่าประเทศอาจต้องพึ่งพาความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์ได้ประกาศแผนความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในหลายด้าน ตั้งแต่การนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน การสำรวจการดักจับและกักเก็บคาร์บอนข้ามพรมแดน ไปจนถึงการซื้อเครดิตคาร์บอนจากโครงการในต่างประเทศ

การซื้อเครดิตคาร์บอนหมายความว่าสิงคโปร์ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่สามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้โดยการลงทุนในโครงการลดคาร์บอนในต่างประเทศ

สำนักงานเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NCCS) กล่าวเพิ่มเติมว่า สิงคโปร์จะยังคงดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบที่มีอยู่ และสำรวจแนวทางใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง แนวทางเหล่านี้มีศักยภาพในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว สร้างงานใหม่ และเปิดโอกาสทางธุรกิจในโลกที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

จากแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของสิงคโปร์ในการส่งเสริมพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน การซื้อเครดิตคาร์บอนตามข้อตกลงปารีสแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลสิงคโปร์ในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าสิงคโปร์จะมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร เช่น พื้นที่และแหล่งพลังงานธรรมชาติที่จำกัด แต่แนวโน้มดังกล่าวเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพด้านการผลิตแผงโซลาร์เซลล์หรือพลังงานหมุนเวียนในการขยายการลงทุนเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการศึกษากฎระเบียบมาตรฐาน และข้อกำหนดของสิงคโปร์ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์