กระทรวงแรงงานสิงคโปร์แก้ไขเพิ่มเติมการออกบัตรอนุญาตทำงานเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง

จากรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์และประเด็นเศรษฐกิจในคำกล่าวแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในโอกาสวันชาติสิงคโปร์ ประจำปี 2565 ซึ่งได้กล่าวถึงความจำเป็นที่สิงคโปร์ต้องดึงดูดแรงงานต่างชาติในภาคเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมกลุ่มเติบโต เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของสิงคโปร์นั้น เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 นายแพทย์ Tan See Leng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ ได้ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการออกบัตรอนุญาตทำงาน (Work Passes เทียบเท่า Work Visa) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงหรือมีทักษะเฉพาะ รวมถึงการขยายระยะเวลาการพำนักของผู้ถือบัตร Employment Pass (EP) ด้านเทคโนโลยีเฉพาะที่เป็นที่ต้องการในสิงคโปร์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้สิงคโปร์ และตอกย้ำสถานะการเป็น global hub ด้านหัวกะทิ (talents) ของสิงคโปร์ สรุปสาระสำคัญ พร้อมข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต ดังนี้

การแก้ไขเพิ่มเติมการออกบัตรอนุญาตทำงานในสิงคโปร์

1) ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2565 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์จะกระชับระยะเวลากระบวนการขอมีบัตร EP จาก 3 สัปดาห์เป็น 10 วันทำการ ทำให้ภาคเอกชนหรือบรรษัทข้ามชาติลดความกดดันในการขอมีบัตร EP แก่พนักงานต่างชาติ

2) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์จะลดระยะเวลาที่กำหนดให้ภาคเอกชนและบริษัทข้ามชาติในสิงคโปร์ต้องประกาศรับสมัครงานในเว็บไซต์ที่กระทรวงแรงงานสิงคโปร์กำหนดตามมาตรการการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Consideration Framework – FCF) อย่างน้อย 28 วัน ลดเหลือเพียง 14 วัน (เดิมเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปกป้องการจ้างงานคนชาติของสิงคโปร์ ซึ่งร้องเรียนกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ว่าไม่ทราบข่าวการประกาศรับสมัครงานของบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ)

3) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์จะเริ่มกระบวนการออกบัตรอนุญาตทำงานใหม่ Overseas Networks and Expertise (One) Pass สำหรับผู้มีความสามารถระดับสูงในทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งบัตรมีอายุ 5 ปี โดยผู้ถือบัตรจะสามารถทำงานในสิงคโปร์ให้กับบริษัทหลายแห่งในสิงคโปร์ในคราวเดียวได้ด้วย เงื่อนไขคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ผู้สมัครจะต้องมีรายได้อย่างน้อย 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน หรือมีความสามารถโดดเด่นในด้านศิลปะ กีฬาวิทยาศาสตร์ หรือวิชาการ

ตารางเปรียบเทียบ One Pass และบัตรอนุญาตทำงานชนิดอื่น ๆ ของสิงคโปร์
แหล่งที่มา: The Business Times (https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/minimum-s30000-monthly-salary-for-applicants-of-new-one-pass)

4) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์และมีทักษะในสาขาที่สิงคโปร์ ขาดแคลน จะสามารถขอรับบัตร EP ได้สูงสุด 5 ปี (จากปัจจุบันบัตร EP มีอายุสูงสุด 2 ปีสำหรับการสมัคร EP ใหม่และ 3 ปีสำหรับการต่ออายุบัตร) โดยผู้สมัครจะต้องได้รับเงินเดือนอย่างน้อย 10,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน สำหรับผู้สมัครจะต้องมีอายุอย่างน้อยตามที่กระทรวงแรงงานสิงคโปร์กำหนด และเข้าเงื่อนไขอาชีพที่ขาดแคลน หรือ Compass Shortage Occupation List และได้คะแนนตามเกณฑ์ Complimentary Assessment Framework (COMPASS) เช่น เงินเดือน คุณสมบัติ และสัญชาติ ซึ่งกระทรวงแรงงานสิงคโปร์จะเผยแพร่รายละเอียดเพิ่มเติมในเดือนมีนาคม 2566 โดยกระทรวงแรงงานสิงคโปร์มองว่าจะช่วยให้สิงคโปร์สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมที่ขาดแคลนได้มากขึ้น 

5) ปัจจุบัน ผู้ถือบัตร EP ที่มีเงินเดือนมากกว่า 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนจะได้รับเอกสิทธิ์ คือ (1) การยกเว้นการประกาศรับสมัครงานล่วงหน้าตามมาตรการ FCF ในตำแหน่งงานนั้น ๆ (2) การยกเว้นการเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์ COMPASS และ (3) สิทธิ์การขอบัตรประเภท Personalized Employment Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์จะปรับเพิ่มเงินเดือนอ้างอิงเปรียบเทียบ (salary benchmark) ของผู้ถือบัตร EP กลุ่มนี้เป็น 22,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน ซึ่งจะทำให้มีจำนวนประมาณร้อยละ 10 ของผู้ถือบัตร EP ทั้งหมด

ทักษะด้านเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการในสิงคโปร์   

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์กำลังร่วมกันจัดทำรายการทักษะด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนา ประเทศและเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปัจจุบันซึ่งอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เดิมการเขียนโค้ด (coding) เป็นที่ต้องการสูง แต่ปัจจุบันทักษะที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) ซึ่งช่วยให้ AI สามารถเข้าใจและตีความภาษาของมนุษย์ได้และการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล (machine learning)

นาย Wong Wai Meng ประธานสมาคมการค้าสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสิงคโปร์ (SGTech) เห็นว่า ทักษะเชิงเทคนิคที่เป็นที่ต้องการ 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (2) การประมวลผลแบบคลาวด์ และ (3) การพัฒนาหรือการจัดการผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ความยั่งยืน (sustainability) และความมั่นใจในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลดิจิทัล (digital trust) ก็เป็นทักษะเชิงเทคนิคที่ภาคธุรกิจต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทักษะขั้นสูงที่เป็นที่ต้องการของบัตรอนุญาต One Pass ของสิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ
แหล่งที่มา: The Business Times (https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/minimum-s30000-monthly-salary-for-applicants-of-new-one-pass)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

การแข่งขันเพื่อดึงดูดบุคลากรชั้นนำมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นทั่วโลกในช่วงหลังโควิด-19 โดยในปี 2565 สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า ปัจจัยที่ผลักดันให้สิงคโปร์เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในสิงคโปร์เป็นแบบ cost-push inflation ซึ่งไม่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และหากสิงคโปร์ยังคงควบคุมการจ้างงานคนต่างชาติต่อไปก็จะส่งผลให้ค่าแรงซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญสูงขึ้นไปอีก ในขณะที่ค่าต้นทุนจากพลังงานยังไม่มีทีท่าลดลงเนื่องจากสถานการณ์ในยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ดังนั้น การส่งเสริมการจ้างงานคนต่างชาติจึงเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในช่วงหลังโควิด-19  และเป็นการส่งเสริมการเติบโตของภาคเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยรักษาสถานะของสิงคโปร์ในการเป็นประเทศที่มั่งคั่งและมีเศรษฐกิจก้าวหน้าต่อไปในระยะยาว

นอกจากสิงคโปร์แล้ว ประเทศไทยก็ได้ประกาศตรวจลงตราประเภทใหม่ คือ Long – Term Resident Visa (LTR Visa) ที่มีอายุถึง 10 ปี โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เพื่อดึงดูดบุคลากรชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม คือ (1) ผู้มีความมั่งคั่งสูง (2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (3)  ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ (4) ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ให้เข้ามาทำงานหรือลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve โดยตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดชาวต่างชาติจำนวน 1 ล้านคน ใน 5 ปี และ UAE ซึ่งได้ริเริ่มโครงการตรวจลงตรา Golden Visa อายุถึง 10 ปี สำหรับชาวต่างชาติ

อายุของใบอนุญาตทำงานสำหรับชาวต่างชาติ Top-talent
แหล่งที่มา: The Business Times (https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/minimum-s30000-monthly-salary-for-applicants-of-new-one-pass)

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง