รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศสรุปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 โดยปรับลดช่วงคาดการณ์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของสิงคโปร์ จากเดิมร้อยละ 3 – 5 เป็นร้อยละ 3 – 4 สถานเอกอัครราชทูตฯ สรุปรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่สำคัญในไตรมาสที่ 2/2565 ของปี 2565 และแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ดังนี้

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 2/2565

ไตรมาสที่ 2/2565 GDP ของสิงคโปร์เติบโตร้อยละ 4.4 แบบ Year-on-Year (YoY) ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่เติบโตร้อยละ 3.8 ภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ที่เติบโตได้ดีในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ คือ (1) อสังหาริมทรัพย์ เติบโตร้อยละ 11.7 (ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่เติบโตร้อยละ 10.1) จากความร้อนแรงของตลาดที่เป็นที่พักอาศัยและสำนักงาน ซึ่งราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) การค้าปลีก เติบโตร้อยละ 11.5 อันเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 โดยบริการอาหาร และเครื่องดื่ม เติบโตร้อยละ 28 (3) สารสนเทศและการสื่อสาร เติบโตร้อยละ 8.1 จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาค IT และดาตาเซนเตอร์ และ (4) อุตสาหกรรมการผลิต เติบโตร้อยละ 5.7 โดยเฉพาะการผลิตที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์และเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลสิงคโปร์ในปีนี้

ภาคบริการก็เติบโตได้ดีในไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะ (1) บริการสนับสนุน อาทิ บริการนายหน้า การต่อสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ เติบโตร้อยละ 8.2 (2) บริการมืออาชีพ เช่น สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และช่างเทคนิคเติบโตร้อยละ 6.8 (3) บริการอื่น ๆ (รวมถึงบริการสาธารณสุข) เติบโตร้อยละ 5.7 ในขณะที่ภาคการเงินและประกันภัย เติบโตร้อยละ 1.6 แต่มีแนวโน้มจะชะลอตัวสูงในช่วงครึ่งหลังปี เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลง

ภาคการก่อสร้าง เติบโตร้อยละ 3.3 แต่สิงคโปร์ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่วนโรงแรมที่พักยังคงหดตัวประมาณร้อยละ 5.3 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนยังไม่เปิดประเทศ โดยเป็นเพียงภาคธุรกิจเดียวที่ยังไม่ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่า แนวโน้มน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทยอยเปิดประเทศอย่างปลอดภัยจนเกือบเท่าช่วงก่อนโควิด-19

แนวโน้มทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2565

ในภาพรวม MTI ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวหรือถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการขาดแคลนทรัพยากรพลังงานและอาหาร กอปรกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางของเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินสกุลของตนแข็งค่าเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ ส่วนจีนยังคงประสบปัญหาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

MTI ประเมินว่า (1) การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ภาคการบริโภคของสหรัฐฯ จะหดตัวลงเนื่องจากนโยบายการเงิน (QT) ส่วนในยุโรปได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน กอปรกับการใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวด ซึ่งจะยิ่งทำให้อัตราการบริโภคและภาคอุตสาหกรรมในยุโรปหดตัว (2) GDP ของจีนอาจเติบโตดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จากนโยบายการใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจีน แต่ปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ขาลงในจีนและนโยบายโควิดเป็นศูนย์อาจลดทอนความเร็วในการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเอง (3) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยเศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ จากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 รวมทั้งอุปสงค์ต่อภาคการส่งออกของภูมิภาคนี้ที่ยังสูงอยู่

แนวโน้มเศรษฐกิจของสิงคโปร์ MTI ปรับลดช่วงอัตราการคาดการณ์การเติบโต GDP ของสิงคโปร์ จากร้อยละ 3 – 5 เป็นร้อยละ 3 – 4 เนื่องจากปัจจัย (1) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารและพลังงานยิ่งสูงขึ้น (2) ความเสี่ยงของเสถียรภาพทางการเงินยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว (3) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ (ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง (4) โรคติดเชื้อโควิด-19 ยังมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดระลอกใหม่และกลายพันธุ์ได้อีก และ (5) อุปสงค์จากจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญ อาทิ ในสินค้าเคมีภัณฑ์และเชื้อเพลิงที่ลดลงส่งผลต่อภาคการส่งออกของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยว การคมนาคม ศิลปะ บันเทิง และสันทนาการ ตลอดจนบริการอาหารและเครื่องดื่มจะยังคงเติบโตได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

อัตราเงินเฟ้อ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ และอัตราการว่างงาน

ณ เดือนมิถุนายน 2565 สิงคโปร์มีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ร้อยละ 4.4 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565) และอัตราเงินเฟ้อตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI All Items inflation) ร้อยละ 6.7 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.6 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565) โดยธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อเป็นลำดับต้นด้วยการใช้นโยบายค่าเงินแข็งค่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การส่งเสริมการจ้างงานชาวต่างชาติเพื่อลดต้นทุนและการสร้างความยืดหยุ่นให้เศรษฐกิจ

จากข้อมูลของ Enterprise Singapore (ภายใต้ MTI) มูลค่าการค้าต่างประเทศของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 2/2565 สูงขึ้นร้อยละ 28.1 แบบ YoY โดยเติบโตได้ดีกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 20.8 การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันขยายตัวร้อยละ 16.9 โดยแหล่งส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย (ดังนั้น สิงคโปร์จึงกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน – สหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวัน เนื่องจากกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของสิงคโปร์)

กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ เผยแพร่รายงาน Labour Market Advance Release (Second Quarter, 2022) ระบุว่า การจ้างงานในสิงคโปร์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4 กลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น คือ สารสนเทศและการสื่อสาร บริการมืออาชีพ และบริการการเงิน อัตราการว่างงานในสิงคโปร์ ณ เดือนมิถุนายน 2565 ในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2558)

ข้อมูลเพิ่มเติม (การแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์)

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2565 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้แถลงนโยบายในโอกาสวันชาติสิงคโปร์ (National Day Rally – NDR 2022) โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์แถลงนโยบายในโอกาสวันชาติสิงคโปร์ 2565
แหล่งที่มา: PMO (https://www.pmo.gov.sg/Newsroom/National-Day-Rally-2022-English)

แม้ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศจะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปีนี้จะยังคงเติบโต รัฐบาลสิงคโปร์จะดำเนินนโยบายที่จำเป็นในทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย โดยครอบครัวผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยในโครงการ HDB จะได้รับการช่วยเหลือสูงสุดเป็นมูลค่า 3,700 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อครัวเรือน การออกมาตรการเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษี GST จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 9 ในปี 2566 – 2567 ด้วย

สิงคโปร์จะยังคงดำเนินนโยบายเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารตามเป้าหมาย 30 by 30 Goal หรือการพัฒนาศักยภาพในการผลิตอาหารภายในสิงคโปร์เป็นร้อยละ 30 ของการบริโภคภายในประเทศภายในปี ค.ศ. 2030 โดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวถึงกรณีที่มาเลเซียระงับการส่งออกเนื้อไก่สดมายังสิงคโปร์

การพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางการบินและการเดินเรือระดับโลก นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ย้ำความสำคัญของโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารหมายเลข 5 ท่าอากาศยานชางงี ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2030 และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 50 ล้านคนต่อปี  โดยปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ อยู่ระหว่างการทบทวนแผนผังของอาคารฯ ให้สามารถปรับพื้นที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดระหว่างประเทศ อาทิ โควิด-19 ได้ และรัฐบาลสิงคโปร์จะเร่งพัฒนาโครงการท่าเรือ Tuas ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในระยะยาวของสิงคโปร์ แบ่งเป็น  4 เฟส มีกำหนดจะแล้วเสร็จประมาณปี 2583 หากแล้วเสร็จ ท่าเรือ Tuas จะกลายเป็นท่าเรือจักรกลเต็มรูปแบบ (fully automated port) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถรองรับสินค้าได้มากถึง 65 ล้าน TEUs ต่อปี หรือมากกว่า 1.5 เท่า    ของศักยภาพท่าเรือของสิงคโปร์ในปัจจุบัน เมื่อเดือนธันวาคม 2564 การพัฒนาโครงการเฟส 1 เสร็จสิ้นและเริ่มเปิดให้บริการแล้ว และสามารถรองรับสินค้าได้ประมาณ 20 ล้าน TEUs ต่อปี

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เห็นว่า สิงคโปร์ยังคงต้องการแรงงานฝีมือจากต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมกลุ่ม Growth และกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ เช่น ชีวการแพทย์และการผลิตเคมีภัณฑ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ยกตัวอย่าง สหราชอาณาจักรและประเทศในยุโรปบางประเทศ ที่ได้จัดทำโครงการดึงดูดแรงงานหัวกะทิจากต่างประเทศ อาทิ การออกตรวจลงตราพิเศษแก่แรงงานทักษะสูง หรือการอนุญาตให้บัณฑิตจบใหม่จากสถาบันการศึกษาชั้นนำพำนักในประเทศต่อไปเพื่อหางานได้ หากสิงคโปร์ไม่รักษาศักยภาพในการดึงดูดผู้มีความสามารถจากทั่วโลกให้มาทำงานในสิงคโปร์ ก็จะเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสและส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ในระยะยาว (ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการแก้ไขเงินเฟ้อของ MAS) อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ย้ำว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการจ้างงานคนชาติและ PR สิงคโปร์ต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง