ยุทธศาสตร์ชาติอัจฉริยะและรัฐบาลดิจิทัลเพื่อประชาชนของสิงคโปร์

ยุทธศาสตร์ชาติอัจฉริยะและรัฐบาลดิจิทัลของสิงคโปร์ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก หลังจากที่นายลี เซียน ลุง (H.E. Mr. Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในโอกาสวันชาติสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2557 และต่อมาในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ประกาศข้อริเริ่มชาติอัจฉริยะ (Smart Nation Initiative)1 วางรากฐานของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปฏิรูประบบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐของ สิงคโปร์ให้ทันสมัย รวดเร็ว และมีบูรณาการ

ในช่วง 2 ปีแรกของการพัฒนาข้อริเริ่มชาติอัจฉริยะ สิงคโปร์ยังคงขาดหน่วยงานกลางเพื่อประสานงานกับทุกหน่วยและขับเคลื่อนข้อริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อปี 2559 รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้จัดตั้งคณะทำงานชาติอัจฉริยะ โดยเริ่มจากการบูรณาการงานด้านดิจิทัลของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่ม Engineering Project ซึ่งรวบรวมวิศวกรคอมพิวเตอร์ชั้นนำมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาซอฟท์แวร์และการเขียนโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อยกระดับบริการภาครัฐแบบดิจิทัลคณะทำงาน ต่อมารัฐบาลสิงคโปร์จึงได้จัดตั้งสำนักงานชาติอัจฉริยะและรัฐบาลดิจิทัล (Smart Nation and Digital Government Office – SNDGO) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานนายกรัฐมนตรี เพื่อรับผิดชอบด้านรัฐบาลดิจิทัลเป็นการเฉพาะ และมอบหมายให้กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศรับผิดชอบด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (ตามแผน Digital Economy Framework) โดยสำนักงาน SNDGO ได้ดำเนินโครงการแล้วกว่า 2,500 โครงการ ซึ่งมีความรูปหน้าที่ดีและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

รัฐบาลสิงคโปร์เห็นว่า ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในการบริหารราชการแผ่นดิน คือ ทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะวิศวกร ซึ่งแม้ว่าสิงคโปร์จะสามารถผลิตบุคลากรในด้านนี้ได้อย่างดีและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ อย่างไรก็ดี วิศวกรเหล่านี้ไม่มีพื้นฐานทางสังคมศาสตร์ จึงไม่สามารถสร้างสรรค์นโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ ดังนั้น รบ.สป. จึงต้องพยายามประสานคน 2 กลุ่ม คือ วิศวกรกับนักสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบริการเทคโนโลยีของภาครัฐ ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มหลักสูตรการศึกษาใหม่ ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) จึงได้จัดตั้งวิทยาลัยการออกแบบและวิศวกรรม (College of Design and Engineering) โดยควบรวมคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะการออกแบบและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน  

ผลผลิตด้านนวัตกรรมของสำนักงาน SNDGO เน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ประโยชน์ (impact) ต่อประชาชน (2) การจัดทำบริการที่คำนึงถึงประชาชนและภาคธุรกิจในสัดส่วนเท่ากัน และ (3) ธรรมาภิบาล (Governance) โดยสำนักงาน SNDGO ประสานงานกับทุกกระทรวงฯ อย่างใกล้ชิด ทั้งกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน และกระทรวงด้านสังคม เช่น กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงที่ต้องการผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วยิ่งขึ้นในยุคโลกแห่งไซเบอร์นี้

ระบบบริการประชาชนดิจิทัล Singapore Personal Access (SingPass)

หน่วยงานThe Government Technology Agency (GovTech) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติของสำนักงาน SNDGO ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน SingPass และเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2561 โดยเชื่อมโยงการให้บริการดิจิทัลของหน่วยงานราชการต่าง ๆ แบบครบวงจรในแอปพลิเคชันเดียว ทั้งการยืนยันตัวตนบุคคลด้วยบัตรประชาชนแบบดิจิทัล (Digital ID ของคนชาติ ผู้อยู่ถาวร และชาวต่างชาติในสิงคโปร์) การยื่นภาษี การยื่นขอใบอนุญาตจ้างงานชาวต่างชาติ การยื่นเอกสารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการขอหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงการชำระค่าปรับของหน่วยราชการ การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลธุรกิจส่วนตัวและการรับข้อความแจ้งเตือนหรือข่าวสารจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอย่างทันการณ์

แอปพลิเคชัน SingPass ยังประยุกต์ใช้งานการเชื่อมต่ออย่างบูรณาการระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนและภาคธุรกิจในสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการอีกด้วย เช่น การใช้ระบบ SingPass เพื่อเข้าสู่ระบบบริการดิจิทัลของธนาคารพาณิชย์ การเปิดเผยข้อมูลส่วนในระบบ Myinfo เพื่อลดเวลาในการจัดการข้อมูลในการทำธุรกรรมออนไลน์ และการลงนามเอกสารแบบดิจิทัล ตัวอย่างของภาคเอกชนที่ใช้ระบบ SingPass เช่น บริการธนาคารดิจิทัลของธนาคาร OCBC และการยืนยันตัวตนของลูกค้ารายใหม่ของบริษัท Grab เป็นต้น

ทั้งนี้ SingPass เป็นระบบยืนยันตัวตนที่มีความปลอดภัยสูง เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อทำธุรกรรมหรือรับบริการจากทั้งภาครัฐและเอกชนในสิงคโปร์แบบออนไลน์ โดยใช้วิธีการยืนยันตัวบุคคลแบบ 2 ขั้นตอน (Two-Factor Authentication – 2FA) ในแอปพลิเคชัน SingPass หรือเว็บไซต์ http://www.singpass.gov.sg โดยกรอกรหัสผ่านใช้เพียงครั้งเดียว (One Time Password – OTP) รวมทั้งใช้เทคโนโลยีชีวมิติ เช่น เทคโนโลยีการจดจำลายนิ้วมือและใบหน้า เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลด้วยการใช้แอปพลิเคชัน SingPass เมื่อติดต่อรับบริการที่หน่วยราชการด้วยตนเองได้เช่นกัน โดยหน่วยงาน GovTech ทำหน้าที่บริหารและดูแลการจัดการระบบทั้งหมด

ระบบบริการดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจ GoBusiness

GoBusiness เป็นแพลตฟอร์มบน http://www.gobusiness.gov.sg ที่สำนักงาน GovTech และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการให้ข้อแนะนำและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจในสิงคโปร์แบบเฉพาะราย (personalized help) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรวบรวมฐานข้อมูลบริการของภาครัฐที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจกว่า 300 รายการ ซึ่งผู้ประกอบการ
สามารถค้นหาได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

แพลตฟอร์ม GoBusiness ยังให้บริการให้คำปรึกษาออนไลน์ (e-Adviser) การแจ้งขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล ทั้งในรูปแบบเงินกู้และการขอลดหย่อนภาษี บริการสืบค้นนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังสามารถขอรับการสนับสนุนในโครงการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจของรัฐบาลสิงคโปร์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการขอใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการยื่นเรื่องเพียงครั้งเดียวเพื่อลดความซับซ้อน ส่วนบริการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ บริการให้ความรู้ ด้านการขอใบอนุญาตสำหรับเจ้าของธุรกิจรายใหม่อย่างเป็นขั้นตอน (Guided Journey) ซึ่งปัจจุบันเริ่มใช้งานกับธุรกิจด้านอาหารเพียงอุตสาหกรรมเดียว และบริการสมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและบริการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการจัดซื้อของรัฐบาลที่ประกาศในแพลตฟอร์ม Government Electronic Business (GeBIZ) ซึ่งเป็นการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ที่รวบรวมการขอเสนอราคาและการประมูลของรัฐบาล และการส่งใบเสนอราคาออนไลน์

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้จัดทำแพลตฟอร์ม Business Grants Portal บนเว็บไซต์ https://www.businessgrants.gov.sg/ เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านการระดมทุนและการขอรับทุนสำหรับภาคธุรกิจ
ที่จัดสรรโดยรัฐบาลสิงคโปร์ และเว็บไซต์ Bizfile+ https://www.bizfile.gov.sg โดยสำนักงานกำกับดูแลการจดทะเบียนธุรกิจในสิงคโปร์ (Accounting and Corporate Regulatory Authority – ACRA) เพื่อเป็นฐานข้อมูลของธุรกิจที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ทั้งหมด รวมกว่า 565,000 ราย โดยผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถเพิ่มเติมข้อมูลของบริษัทหรือธุรกิจของตนในฐานข้อมูลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดข้อมูลสำคัญได้ทั้งข้อมูลวันที่จดทะเบียน สถานะการเงิน รายชื่อผู้ถือหุ้น และรายชื่อเลขานุการของบริษัท


1 https://www.pmo.gov.sg/newsroom/transcript-prime-minister-lee-hsien-loongs-speech-smart-nation-launch-24-november


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.gobusiness.gov.sg/about-us/

https://www.singpass.gov.sg/main/

https://www.tech.gov.sg/products-and-services/singpass/

https://www.life.gov.sg/