เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 คณะทำงาน EST ได้เผยแพร่ข่าวสารนิเทศ เสนอแผนปฏิบัติการ (Agenda for Action) เรื่องการสร้างสิงคโปร์ให้เป็นประเทศไร้ขีดจำกัด “Virutally Unlimited Singapore” 5 ประการ เพื่อวางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่มีการระบาดและช่วงหลังโควิด-19 สรุปรายละเอียด ดังนี้

ข้อแนะนำว่าด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสิงคโปร์ 5 ประการ

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้สรุปแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์ ใน 3 ด้าน เพื่อตอบสนองต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและกระแสธุรกิจโลก ได้แก่ (1) แนวคิด“Singapore Virtually Unlimited” เพื่อสร้างสิงคโปร์ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสอันไม่สิ้นสุดสำหรับภาคธุรกิจและประชาชน โดยการสร้างอาณาเขตเสมือนจริง (virtual frontiers) ให้ สิงคโปร์ที่เชื่อมโยงกิจกรรมด้านเศรษฐกิจกับทั่วโลก (2) Sustainability การสร้างความยั่งยืนโดยนำแนวคิดด้าน เศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และ (3) Stronger Together คือ การส่งเสริมให้ ทุกภาคส่วนในสิงคโปร์เติบโตอย่างยั่งยืนและก้าวหน้าไปด้วยกัน

แหล่งที่มา: ST PHOTO: KUA CHEE SIONG

การใช้ประโยชน์จากกระแสดิจิทัลภิวัตน์ทั่วโลก สิงคโปร์ควรผลักดันนโยบายชาติอัจฉริยะ (Smart Nation) ในกระแสดิจิทัลภิวัตน์ทั่วโลกเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้มากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์สร้างรากฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจของสิงคโปร์สามารถสร้างตลาดสินค้าและบริการออนไลน์เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ด้วยระบบดิจิทัล ทั้งนี้ EST ยังส่งเสริมการฝึกอบรมบุคคลผ่านระบบทางไกล และกลไก workforce solutions เพื่อช่วยให้บริษัทสิงคโปร์สามารถหาทรัพยากรบุคคลได้จากทั่วโลกที่ตรงกับอุปสงค์ของตลาดงานในสิงคโปร์ได้ดียิ่งขึ้น ระบบการอบรมทางไกลยังสร้างโอกาสให้ชาวสิงคโปร์ไปทํางานในต่างประเทศมากขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นสิงคโปร์ยังสามารถกำหนดนิยามใหม่ของประเทศในฐานะเมืองอัจฉริยะที่ปลอดภัย เอื้อต่อการค้า ภาคธุรกิจ การทํางาน และการพักผ่อนด้วย

ความยั่งยืนและการสร้างโอกาสในการเติบโต สิงคโปร์ควรสร้างตัวเองเป็นศูนย์กลางด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงด้านเศรษฐกิจสีเขียวที่กําลังขยายตัวทั่วโลก และต่อสู้กับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป โดยสิงคโปร์ควรผลักดันบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการคาร์บอน (carbon trading and services hub) โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดคาร์บอนที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ การเสริมสร้างความยืดหยุ่นของอาหาร (food resilience) ด้วยเทคโนโลยีทางการเกษตรขั้นสูง เช่น การทําฟาร์มแนวตั้งในร่ม และระบุสาขาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่สิงคโปร์ควรมุ่งลงทุนและมีบทบาทนำในช่วงต่อจากนี้ รวมถึงการสร้างศักยภาพในการตรวจสอบของห่วงโซ่คุณค่า (traceability and accountability) โดยใช้ระบบดิจิทัลแบบ end-to-end

การสร้างรากฐานที่มั่นคงและแกนกลางที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับการเติบโต รัฐบาลสิงคโปร์ควรสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจท้องถิ่นขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติ โดยใช้จุดแข็งของสิงคโปร์ คือ นวัตกรรม ความเป็นสากล การควบรวมและซื้อกิจการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมศักยภาพของวิสาหกิจ SMEs และวิสาหกิจขนาดเล็ก (micro enterprises) ให้มากขึ้น และ การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน โดยใช้แนวทางเชิงป้องกันและคาดการณ์ (preventive and predictive approach) เช่น สามารถคาดการณ์ภาวะตลาดงานถูกกระทบ และความจำเป็นที่จะฝึกอบรมแรงงานสาขาใด ๆ อย่างทันท่วงที และการจัดทำแผนการฝึกอบรมแรงงานเพื่อให้ภาคธุรกิจและแรงงานมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้นและพร้อมสําหรับอนาคต

การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐอย่างเป็นระบบ EST กล่าวถึงความสําเร็จของการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตร Alliances for Action (AfAs) เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่าง stakeholders ภาครัฐและเอกชน ซึ่งควรมีการ institutionalise อย่างเป็นทางการภายใต้สภา Future Economy Council (FEC) ซึ่งจะเป็นช่องทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และเป็นกุญแจสำคัญในการปฏิรูปการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในอนาคต กลุ่มพันธมิตร AfAs ควรร่วมกันกำหนดแผนงานและสาขาความร่วมมือ (key criteria) ที่ชัดเจน ทั้งนี้ โดย FEC ควรปรับปรุงรูปแบบ AfAs ในสาขาที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายด้วย

การเสริมสร้างหุ้นส่วนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ ควรวางตัวเป็นหุ้นส่วนด้านการฟื้นตัวการเติบโตทางเศรษฐกิจกับทุกประเทศและส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแบบสมประโยชน์ (win-win) โดยสิงคโปร์สามารถร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคในทุกระดับ ทั้งรัฐต่อรัฐและธุรกิจต่อธุรกิจ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและความรู้ความเข้าใจของสิงคโปร์ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของโลกสิงคโปร์จึงควรจะส่งเสริมการจัดตั้งแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดบริษัทที่สนใจมาลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น นอกจากนี้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นพันธมิตรทางดิจิทัลที่สําคัญของสิงคโปร์ EST จึงแนะนําให้เรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงดิจิทัลในระดับภูมิภาคด้วย

การจัดตั้งตลาดศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอน

สืบเนื่องจากข้อแนะนำของ EST สำหรับบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการคาร์บอน พันธมิตรวิสาหกิจและภาคเอกชนของสิงคโปร์ได้แก่ Temasek ธนาคาร DBS ธนาคาร Standard Chartered และตลาดหลักทรัพย์ SGX มีแผนจะร่วมกันจัดตั้งตลาดการแลกเปลี่ยนและซื้อขายคาร์บอน “Climate Impact X” (CIX) ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อส่งเสริมการซื้อขาย carbon credits ระหว่างบรรษัทและนักลงทุนข้ามชาติ โดยนำปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และนวัตกรรมมาพิจารณาในการจัดตั้ง CIX

นาย Ravi Menon ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์(MAS) ได้เข้าร่วมการสัมมนาผ่านระบบทางไกลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่า CIX จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่อง carbon credit ในตลาดและส่งเสริมความลื่นไหลของการซื้อขาย carbon credit อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดการณ์ว่าอุปสงค์ของ carbon credit ในตลาดโลกจะเติบโตสูงถึง 15 เท่า ในช่วงทศวรรษต่อจากนี้ หรือประมาณ 2 พันล้านตันในปี 2573

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

คณะทำงาน EST จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2563 ในช่วงที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ GDP สิงคโปร์หดตัวมากที่สุดตั้งแต่การก่อตั้งประเทศ โดยมีนาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์เป็นผู้ก่อตั้ง และต่อมามีการแต่งตั้งนาย Desmond Lee รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาประเทศ และนาย Tan Chong Meng ซึ่งเป็น Group CEO ของ บริษัท PSA International เป็นประธานร่วม โดย EST ได้เสนอข้อแนะนำ การฟื้นฟูเศรษฐกิจข้างต้นต่อสภา Future Economy Council (FEC) เพื่อเตรียมการปรับสภาพเศรษฐกิจให้เหมาะสมและสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของสิงคโปร์

สภา FEC และคณะกรรมการ The Committee on the Future Economy (CFE) ก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม ปี 2559 เพื่อพัฒนากลยุทธ์ทางเศรษฐกิจสิงคโปร์สำหรับทศวรรษนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) สภาและคณะกรรมการประกอบด้วยบุคลากรจากหลากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล อุตสาหกรรม สหภาพแรงงาน และสถาบันการศึกษาและฝึกอบรม

ชาติอัจฉริยะ (Smart Nation) จัดตั้งโดยนายกรัฐมนตรี Lee Hsian Loong เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 เป็นโครงการริเริ่มของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะควบคุมเทคโนโลยีเครือข่ายและข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสร้างโซลูชันทางเทคโนโลยี ปี 2560 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณจำนวน 2.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับโครงการนี้ ซึ่งโดยหลักรัฐบาลจะใช้ในการจ้างบริการจากบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีแทนที่จะเป็นการให้เงินสนับสนุนบริษัทเหล่านั้น ตัวอย่างแผนริเริ่มในโครงการชาติอัจฉริยะที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เช่น Land Transport Authority Initiative หรือ การใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าขนส่งมวลชนแทนการใช้ธนบัตร และ Cashless system at hawker centres หรือการใช้ QR Code ของ NETS และบัตร EZ-Link ชำระค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ศูนย์อาหารแทนการใช้ธนบัตร) เป็นต้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง