เทคโนโลยี “การแพทย์ทางไกล” (Telemedicine) กำลังเป็นที่สนใจอย่างยิ่งทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นปัจจุบันนี้ ยิ่งทำให้บริการด้านการแพทย์ผ่านระบบเทคโนโลยีทางไกลมีความสำคัญและจำเป็นยิ่งขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาพยาบาลหรือคำปรึกษาด้านสุขภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ถือเป็นกระแสเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบริการทางการแพทย์ในอนาคต

จากข้อมูลของบริษัท Grand View Research (บริษัทด้านการตลาดระหว่างประเทศ) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ระบุว่าตลาดการแพทย์ทางไกลทั่วโลกในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 55.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2564 จะเติบโตขึ้นเป็น 72.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงปี 2564 – 2571 ตลาดจะขยายตัวในอัตรา 22.4% อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพทย์ทางไกลมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น ภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และความแออัดของโรงพยาบาล

สำหรับตลาดสิงคโปร์ การแพทย์ทางไกลมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 บริษัท Ipsos Group S.A. ได้สำรวจข้อมูลความนิยมผู้ใช้บริการด้านสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) ในสิงคโปร์พบว่า แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปประมาณ 70% มีความรู้เกี่ยวกับการสาธารณสุขทางไกล แต่มีผู้ใช้งานจริงเพียง 30% เท่านั้นในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ 41% กังวลที่จะติดโรคโควิด-19 ในระหว่างการเดินทางไปพบแพทย์และชาวสิงคโปร์ 23% มีแนวโน้มที่จะใช้บริการด้านสาธารณสุขทางไกลต่อไป แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแล้วซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติของ National Healthcare Group Polyclinics (NHGP) ของสิงคโปร์ ว่าในปี 2564 มีผู้ใช้บริการด้านนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 134,000 ครั้ง

รูปแบบของ Telemedicine ที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสิงคโปร์ ได้แก่

  1. บริการให้คำปรึกษาทางไกลโดยแพทย์ (Health Teleconsultant) โดยผู้ใช้บริการสามารถแจ้งอาการและขอรับคำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านการพิมพ์โต้ตอบ หรือระบบการประชุมทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ต้องพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและรับประทานยาต่อเนื่องจากข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2564 พบว่า มีผู้ให้บริการด้านนี้ที่ได้ลงทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์แล้ว จำนวนกว่า 600 ราย ทั้งจากภาครัฐและบริษัทเอกชน ตัวอย่างผู้ให้บริการที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์ ได้แก่ 1) Doctor Anywhere ค่าบริการเริ่มต้นที่ 20 ดอลลาร์สิงคโปร์ 2) Doctor World ค่าบริการเริ่มต้นที่ 18 ดอลลาร์สิงคโปร์ 3) MHC CarePlus ค่าบริการเริ่มต้นที่ 22 ดอลลาร์สิงคโปร์ 4) MaNaDr ค่าบริการขึ้นอยู่กับแพทย์ และระยะเวลาในการขอรับคำปรึกษา 5) Sata CommHealth ค่าบริการเริ่มต้นที่ 19.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ 6) WhiteCoat ค่าบริการเริ่มต้นที่ 25 ดอลลาร์สิงคโปร์
  2. การติดตามผู้ป่วยระยะไกล (Remote Patient Monitoring) คือ การนำอุปกรณ์มาใช้ตรวจวัดการทำงานของร่างกาย อาทิ การวัดค่าความดันและอัตราการเต้นของหัวใจด้วยนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ที่ใส่ใจและรักษาสุขภาพ
  3. การผ่าตัดทางไกล (Telesurgery) คือ การใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาเพิ่มศักยภาพให้คณะแพทย์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อให้ภาพ การผ่าตัดคมชัดและแสดงผลตามเวลาจริงมากขึ้น

โอกาสของผู้ประกอบการไทยในตลาดการบริการด้านการแพทย์ทางไกลในประเทศสิงคโปร์

ความนิยมใช้บริการการแพทย์ทางไกลทั้ง 3 รูปแบบ สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตหลายภาคส่วน ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตและผู้ส่งออกชุดทดสอบทางการแพทย์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ตรวจวัด แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งผู้พัฒนาระบบซอฟแวร์และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการติดตามผู้ป่วยระยะไกล (Remote Patient Monitoring) และการผ่าตัดทางไกล

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เนื่องจากแหล่งทรัพยากรทางการท่องเที่ยวอุดมสมบูรณ์ คณะแพทย์มีมาตรฐานสูง แต่ค่ารักษาพยาบาลย่อมเยา อย่างไรก็ตามในช่วงที่การเดินทางระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดเนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จึงอาจไม่ใช่ทางเลือกลำดับต้นของประชาชน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสจากการให้บริการการแพทย์ทางไกลแก่กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ อาทิ การพัฒนาแอปพลิเคชันให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) และเวชศาสตร์ความงาม (Aesthetic Medicine) ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียง และสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้สนใจเดินทางมารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยอาจผสมผสานกับการแพทย์เชิงการท่องเที่ยว เช่น การจัดแพคเกจตรวจสุขภาพและทันตกรรมประจำปีควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวไทย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) อาทิ แพคเกจเวชศาสตร์ความงามควบคู่กับบริการสปาไทย เป็นต้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง