รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ประกาศวิสัยทัศน์ Forward Singapore ขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดแผนงาน Forward Singapore Roadmap ซึ่งจะจัดทำแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2566 โดยในแผนงานจะกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสิงคโปร์มีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยมีคำปฏิญาณแห่งชาติ “one united people, regardless of race, language or religion”; and “a democratic society, based on justice and equality” ของสิงคโปร์เป็นแกนกลาง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การปรับปรุงข้อตกลงทางสังคม (Refreshing our Social Compact)

นาย Wong ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำรุ่นที่ 4 (4G) และว่าที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนถัดไป จะร่วมกับคณะผู้นำของพรรค PAP มุ่งทบทวนข้อตกลงทางสังคมของสิงคโปร์ในปัจจุบัน และทิศทางการพัฒนาประเทศและสังคมของสิงคโปร์ในอนาคตเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลังโควิด-19 รวมถึงการเผชิญกับความท้าทายจากภาวะสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) โดยมุ่งหวังให้สิงคโปร์เป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสกว้างสำหรับทุกคน โดยประชาชนทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และสามารถกำหนดเส้นทางของตนเองเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้

ถึงแม้ในทศวรรษที่ผ่านมา สังคมโลกจะมีร่องรอยของความแตกแยกอยู่บ้าง เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ หรือความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน แต่สิงคโปร์เชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของประเทศยังคงอยู่ในสภาวะที่ดี ทั้งการเติบโตโดยรวมของเศรษฐกิจ การสร้างงานใหม่ การดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนการเติบโตของวิสาหกิจในสิงคโปร์ และการเพิ่มทักษะงานของคนชาติสิงคโปร์

แผนงาน Forward Singapore  

การรักษาสมดุลการค้าเสรี เศรษฐกิจสิงคโปร์ขับเคลื่อนด้วยตลาดเปิดและการค้าเสรีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเพิ่มโอกาสด้านการลงทุน เพิ่มตำแหน่งงาน และดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลก แต่บางครั้งการมุ่งให้ตลาดเสรีทำงานอาจนำไปสู่การแข่งขันที่มากเกินไปและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงต่อต้านระบอบเศรษฐกิจที่เพิ่มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนี้ โดยการ 1) ออกกฎหมายใหม่เพื่อให้แน่ใจว่านายจ้างทุกคนปฏิบัติตามแนวทางการจ้างงานที่เป็นธรรม และจะดำเนินคดีกับนายจ้างที่เลือกปฏิบัติโดยพิจารณาจากสัญชาติหรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ เพศ ความทุพพลภาพ เชื้อชาติ และศาสนา 2) ปรับปรุงนโยบายการจัดการผู้ถือบัตรผ่านงาน (work pass) เพื่อให้มั่นใจว่าชาวต่างชาติจะเข้ามาทำงานในภาคส่วนที่สิงคโปร์ต้องการมากที่สุด เป็นการส่งเสริม ไม่ใช่การแย่งงาน 3) รับประกันราคาที่สมเหตุสมผลของที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน รวมทั้งช่วยสนับสนุนพนักงานที่ต้องการความช่วยเหลือ ผ่านสวัสดิการค่าแรงและรูปแบบค่าจ้างที่ก้าวหน้า (Progressive Wage Model) และ 4) เสริมความแข็งแกร่งให้ระบบภาษี

การปรับปรุงระบบคุณธรรม (meritocracy) อย่างเปิดกว้างและมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ โดยการ 1) ลงทุนในการศึกษาระดับก่อนวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 1 – 3 ปี โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เพื่อเติมเต็มศักยภาพของเด็กสิงคโปร์โดยไม่แบ่งแยกภูมิหลังทางสังคม 2) ขยายแนวคิดเรื่องคุณธรรมให้กว้างไกลกว่าวุฒิการศึกษา เพื่อพัฒนาความสามารถในสาขาที่หลากหลายและเปิดโอกาสให้บุคลากรก้าวหน้าในหลายช่วงของชีวิต เช่น ผ่านโครงการ SkillsFuture

พัฒนาระบบสนับสนุนทางสังคม โดยการศึกษาเพิ่มเติม จัดสรรทรัพยากร เพื่อสนับสนุนแรงงานเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ดูแลด้านสาธารณสุขต่อผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) กระชับความสามัคคีทางสังคม ขจัดการแบ่งแยกเชื้อชาติ ในทางตรงกันข้ามใช้ความหลากหลายให้เป็นความแข็งแกร่ง และดูแลทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันจากรุ่นสู่รุ่น

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 นาย Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้ประกาศ มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน (Support Package) 1,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพิ่มเติม (ประมาณ 37,500 ล้านบาท) เพื่อเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อและของแพง โดยเฉพาะราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และการชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อาทิ กรณีมาเลเซียระงับการส่งออกไก่มายังสิงคโปร์ การออกมาตรการดังกล่าวเน้นแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดย่อม – กลาง (MSMEs) อาทิ การออกคูปองเพื่อซื้ออาหารและสิ่งของเครื่องใช้ ครัวเรือนละ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ และเครดิตสำหรับค่าน้ำ-ค่าไฟ ครัวเรือนละ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้นำเงินทุนสำรองของประเทศ (Past Reserve) ในการอนุมัติเงินช่วยเหลือดังกล่าวแต่อย่างใด

มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน (Support Package) 1,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนผู้มีรายได้น้อย แหล่งที่มา: Ministry of Finance (MOF)

นาย Wong อยู่ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง G20 ที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ในสัปดาห์นี้ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า นาย Wong เริ่มมีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้นในฐานะ “ผู้นำคนใหม่” ของสิงคโปร์ หลังจากเริ่มรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 โดยเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่มีอาวุโสของตำแหน่งสูงกว่านาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์ (ทำให้ปัจจุบันสิงคโปร์มีรองนายกรัฐมนตรี 2 คน) ซึ่งนาย Wong ได้รับมอบหมายให้ควบตำแหน่งสำคัญ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ เช่นเดียวกับนาย Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ก่อนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อปี 2547

ตามกฎหมายเลือกตั้งของสิงคโปร์จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนเดือนพฤศจิกายน 2568 ซึ่งน่าจะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนใหม่ในช่วงก่อนหรือหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงเล็กน้อย โดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญกับการสรรหาผู้นำคนใหม่ และแสดงความมั่นใจเรื่องการเปลี่ยนผ่านอำนาจสู่ผู้นำรุ่นที่ 4 ของสิงคโปร์ในโอกาสแรก หลังจากที่สิงคโปร์เริ่มกลับมาเข้มแข็งขึ้นและเปิดประเทศในช่วงหลังโควิด-19


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง