สิงคโปร์เริ่มดำเนินแผน Industry Transformation Maps (ITMs) ระยะ 5 ปี เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 เพื่อขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลง และยกระดับผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมสำคัญ 23 สาขาของสิงคโปร์ จึงประกอบด้วยแผนงาน 23 ฉบับ โดยได้จัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งอนาคต (The Future Economy Council – FEC) เพื่อกำกับดูแลการขับเคลื่อนแผนในภาพรวม และเป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หอการค้า สภานายจ้าง สภาแรงงาน และสถาบันวิชาการ

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 สิงคโปร์ได้จัดการประชุม FEC ชุดใหม่เป็นครั้งแรก ภายหลังการประชุมฯ นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในฐานะประธาน FEC กล่าวสรุปผลการดำเนินงานตามแผน ITM ฉบับที่ 1 (ปี 2559 – 2562) ว่า ภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 2.7 % ต่อปี โดยแผน ITM ช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงานของสิงคโปร์ ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งช่วยเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มรายได้เฉลี่ยของชาวสิงคโปร์ (ที่ทำงานแบบเต็มเวลา) เป็น 3.7% ต่อปี  

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแผน ITM ทั้งยังเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว ซึ่งรวมถึงระเบียบระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมมุ่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น สภา FEC จึงได้พิจารณาปรับแผน ITM 2025 เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (systemic shifts) และเอื้อให้สิงคโปร์สามารถคว้าโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปี ต่อจากนี้ 

สาระสำคัญของแผน ITM 2025

แผน ITM 2025 ถือเป็นแผน ITM ฉบับที่ 2 เพื่อบูรณาการเครือข่ายและสร้างความเชื่อมโยงของภาคส่วนทางเศรษฐกิจทั้งหมดในสิงคโปร์เข้าด้วยกัน และพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภาพอุตสาหกรรม ใหม่ของสิงคโปร์ตลอดจนพัฒนาทักษะวิชาชีพเชิงลึกให้กับประชาชน แผน ITM 2025 จะยังคงประกอบด้วยแผนงาน 23 ฉบับ เพื่อมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม ใน 23 สาขา โดยแผน ITM 2025 ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรม ดังนี้

1) การยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม สภา FEC จะบูรณาการแผน ITM 2025 เข้ากับแผน RIE 2025 อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์มีทิศทางเดียวกันและเกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยแผนการดำเนินงานเป็น 7 ด้าน (clusters) ได้แก่

  1. การผลิตขั้นสูงและการค้า ได้แก่ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน เคมีภัณฑ์ อาหาร โลจิสติกส์ กิจการทะเลและชายฝั่ง วิศวกรรมความเที่ยงตรง การค้าส่ง
  2. ความเชื่อมโยง ได้แก่ อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ บก และทะเล
  3. สุขภาพและศักยภาพมนุษย์ ได้แก่ อุตสาหกรรมการศึกษาและสาธารณสุข
  4. การพัฒนาเมือง ได้แก่ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง บริการด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ และความปลอดภัย
  5. ความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอุตสาหกรรมด้านใหม่ที่จะพัฒนาแนวคิดต่อไป
  6. บริการสมัยใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการด้านการเงิน ICT การสื่อสาร สื่อมวลชน และบริการมืออาชีพ
  7. วิถีชีวิต ได้แก่ บริการอาหาร โรงแรมที่พัก และการค้าปลีก

2) การส่งเสริม Emerging Stronger Taskforce (EST) ซึ่งเป็นคณะทำงานที่รัฐบาลสิงคโปร์ จัดตั้งขึ้นเพื่อเตรียมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงหลังโควิด-19 โดยแผน ITM จะช่วยส่งเสริมแผนงาน Singapore Together Alliances for Action (AfAs) ของ EST ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งของภาคส่วนด้านเศรษฐกิจในสิงคโปร์ เช่น โครงการ Safe and Innovative Visitor Experiences ซึ่งช่วยให้ภาครัฐและ อุตสาหกรรม สามารถพัฒนารูปแบบในการจัดงานแสดงสินค้า การประชุมและนิทรรศการนานาชาติที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2,500 คน และการจัดทำกำหนดการเดินทางเพื่อพักผ่อนภายในสิงคโปร์อย่างปลอดภัย ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประกันภัยด้านการท่องเที่ยวในประเทศ และ digital concierge รวมถึงโครงการ AfA on Robotics เพื่อคำนวณรายได้ของพนักงานใน อก. คมนาคม ในสังกัดของ National Transport Worker’s Union (NTWU)

3) การพัฒนาทักษะและสร้างทักษะใหม่ (Reskill & Upskill) อาทิ ข้อริเริ่ม Next Bound of SkillsFuture เพื่อสร้างงานและเพิ่มรายได้เฉลี่ยของชาวสิงคโปร์ให้มากขึ้น โดย FEC จะร่วมมือกับหุ้นส่วนไตรภาคีด้านแรงงาน (tripartite partners) เพื่อยกระดับผลิตภาพและค่าจ้างของแรงงาน รวมถึงการสร้างงานใหม่ ๆ ให้ ชาวสิงคโปร์ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่ง FEC จะแจ้งรายละเอียดให้ทราบเมื่อมีการทบทวนแผน ITM อย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม

สภา FEC ชุดใหม่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 (วันที่การปรับคณะรัฐมนตรีของสิงคโปร์ครั้งล่าสุดเริ่มมีผลบังคับใช้) ประกอบด้วยประธานและสมาชิกรวมทั้งสิ้น 41 คน โดยนอกจากรองนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์แล้ว ยังมีรัฐมนตรีร่วมอยู่ใน FEC อีก 10 คน ได้แก่ (1) นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ (2) นาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม(3) นาง Grace Fu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (4) นาง Indranee Rajah รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  (5) นาย Desmond Lee รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศ (6) นาย Masagos Zulkifli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัว (7) นาย Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (8) นาย Lawrence Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (9) นาง Josephine Teo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ และ (10) นายแพทย์ Tan See Leng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ มีผู้แทนภาคเอกชน เช่น CEO ของ Temasek | CapitaLand | Accenture | Pontiac Land Group ประธานหอการค้าสิงคโปร์- จีน ประธานสภานายจ้าง (SNEF) และผู้แทนภาคการศึกษา เช่น อธิการบดี NUS, NTU และ SUTD และ ผู้อำนวยการสถาบัน Nanyang Polytechnic 

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ได้กล่าวเปิดงาน iLab 2021 ซึ่งเป็นงานจัดแสดงนวัตกรรมเสมือนจริง (Virtual Innovation Festival) ที่รวบรวมบริษัทสตาร์ทอัพทั้งในสิงคโปร์ และระดับภูมิภาคนำเสนอเทคโนโลยีและแนวทางการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการโฆษณา การค้าปลีก และห่วงโซ่อุปทาน จัดโดยบริษัท P&G ของสหรัฐฯ โดยความร่วมมือกับคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (EDB)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์กล่าวว่าวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการปฏิวัติทางดิจิทัลและการพัฒนานวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายยังคงต้องเตรียมรับมือกับนวัตกรรมที่สร้างความพลิกผัน (Disruptive Innovation) เช่น ระบบ AI ที่สร้างขึ้นตามความต้องการเฉพาะบุคคล ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงมุ่งมั่นลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และงบประมาณจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อผลักดันให้นวัตกรรมเป็นเสาหลักของการเปลี่ยนแปลงของ เศรษฐกิจของสิงคโปร์ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม (Innovation Eco-System)

นโยบายอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์มุ่งเน้นคือ การสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพ และช่วยระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าหมายให้สิงคโปร์เป็น “Global-Asia Node” หรือศูนย์รวมของนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลกในภูมิภาคเอเชีย และเป็นศูนย์กลางบริษัทข้ามชาติชั้นนำจาก สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง