10 เทคนิคขายออนไลน์ในสิงคโปร์ให้ปัง

อัพเดทเทรนด์ Online Marketingปี 2566 ทำการตลาดอย่างไรให้สินค้าขายง่ายและเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในสิงคโปร์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายธุรกิจต่างต้องปรับตัว ในปี 2564 เทรนด์การซื้อของออนไลน์ได้เกิดขึ้น ร้านค้าหลายแห่งได้เริ่มเข้าสู่การใช้สื่อออนไลน์อย่าง Facebook ในการทำการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้น และสร้างแบรนด์บนโลกออนไลน์มากขึ้น ผู้บริโภคชนชั้นกลางเป็นผู้นำในการทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซโตในสิงคโปร์ โดย 97% ของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตเคยซื้อของออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ภาวะตลาดการซื้อของออนไลน์ในสิงคโปร์

1.สินค้ากลุ่มอาหารและของใช้ในบ้านเป็นสินค้าที่มีการซื้อออนไลน์สูงที่สุด ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในปี 2565 52% ของชาวสิงคโปร์ซื้อสินค้ากลุ่มอาหารและของใช้ในบ้านผ่านช่องทางออนไลน์ และคาดว่า รายได้ของการจัดส่งสินค้ากลุ่มนี้จะสูงถึง 845.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นความต้องการการจัดส่งออนไลน์ รวมถึงการจัดส่งแบบภายในวันและตามกำหนดเวลายังเป็นบริการที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุดสำหรับการซื้อสินค้ากลุ่มของชำอาหารออนไลน์

2.การซื้อสินค้าโดยไม่ต้องใช้เงินสด หรือการชำระเงินช่องทางออนไลน์ ทำให้การซื้อของสะดวกยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาด การชำระเงินแบบไร้สัมผัสนั้นปลอดภัยกว่าและเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่า ในปัจจุบันวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมที่สุดในสิงคโปร์ได้แก่ กระเป๋าเงินดิจิทัล สำนักพิมพ์ StraitsTimes รายงานว่า กระเป๋าเงินดิจิทัลมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทนที่บัตรเครดิตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากการคาดการณ์ว่า 27% ของตลาดสิงคโปร์จะใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลภายในปี 2567 และตลาดอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์จะยิ่งเติบโตอีก

3.จำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือมีมากขึ้น โดยในปี 2568 คาดว่า ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 5.39 ล้านคนในปี 2565 เป็น 5.68 ล้านคนในปี 2568 ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า การเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือในสิงคโปร์ส่งผลให้รายได้อีคอมเมิร์ซบนมือถือจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2567 ดังนั้นชาวสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าบนมือถือและอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นร้านค้าต่างๆ ควรออกแบบเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซให้เหมาะกับขนาดหน้าจอของมือถือ

10 เทรนด์เทคนิค online marketing 2566

ข้อมูลจาก Statista คาดการณ์ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์จะมีมูลค่าสูงถึง 7,290 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2566

1. แบรนด์สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะโตขึ้น

ถึงแม้ว่าการซื้อของออนไลน์จะสะดวกและราคาสินค้ามักจะถูก แต่แบรนด์สิงคโปร์ที่อยู่ในธุรกิจแฟชั่นกลับได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยผู้คนจำนวนมากยินดีที่จะซื้อสินค้าคุณภาพสูงที่ผลิตและจำหน่ายโดยธุรกิจในสิงคโปร์ นอกจากนี้ แบรนด์สิงคโปร์ยังได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกด้วย จากการผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 แบรนด์สิงคโปร์เริ่มคาดว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายบางส่วนจะเริ่มกลับมาดูสินค้าที่ร้าน หลังจากได้ทำการดูสินค้าหรือบริการต่างๆ บนหน้าเว็บไซต์ นอกจากนี้ร้านค้าควรเพิ่มประสิทธิภาพบนหน้าเว็บไซต์ เพื่อปรับปรุงยอดผลการค้นหาให้สูงขึ้น (SEO)

2. การเพิ่มการค้นหาด้วยเสียง

ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่มีคุณสมบัติการค้นหาด้วยเสียงได้ คนส่วนใหญ่ใช้คุณลักษณะนี้ในการค้นหาสิ่งที่ต้องการ โดยไม่ต้องพิมพ์คำถามด้วยตนเอง แต่จะใช้การถามจากผู้ช่วยในสมาร์ทโฟน อย่างเช่น Siri หรือ Alexa เพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการ 77% ของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ชอบการค้นหาด้วยเสียงมากกว่าการพิมพ์ ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า การค้นด้วยเสียงจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 27,160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2569 ดังนั้นร้านค้าออนไลน์ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาสินค้า/บริการสำหรับการค้นหาด้วยเสียงบนมือถือ ควรใส่ที่อยู่ร้าน รายละเอียดการติดต่อ และเวลาทำการเพื่อเพิ่มโอกาสในการปรากฎบนหน้าผลลัพธ์ของเครื่องมือค้นหาด้วยเสียงมากขึ้น  

3. ความแพร่หลายของการตลาดรูปแบบวิดีโอ

โฆษณาคุณภาพสูงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการตลาดดิจิทัลมาโดยตลอด 78% ของชาวสิงคโปร์ดูวิดีโอออนไลน์ทุกสัปดาห์ โดยใช้เวลาอยู่บนหน้าจอเฉลี่ย 16 ชั่วโมง การตลาดผ่านวิดีโอเหมาะกับการค้าแบบอีคอมเมิร์ซ เพราะโฆษณา/วิดีโอแบบโต้ตอบกับคนดูมีความเหมาะสมอย่างมากสำหรับแสดงสินค้าออนไลน์ เพราะการใช้รูปภาพคุณภาพสูงแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการโน้มน้าวใจผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์นั้นคุ้มค่าหรือไม่ ดังนั้น การสร้างวิดีโอแบบโต้ตอบกับคนดูจะช่วยให้ลูกค้ารู้จักสินค้ามากขึ้น

4. การใช้เทคโนโลยี AR เพิ่มขึ้น  

AR หรือ Augmented Reality เป็นเทคโนโลยีการผสมผสานโลกเสมือนเข้าไปโลกความเป็นจริง ขณะนี้ AR ได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยหลายๆ แบรนด์ได้นำเสนอสินค้าในรูปแบบ AR มากขึ้น เช่น ลูกค้าร้านอิเกีย (IKEA) สามารถใช้ AR บนแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ลูกค้าสามารถเห็นภาพเฟอร์นิเจอร์/ของตกแต่งบ้านที่ชื่นชอบในบ้านของตนเอง การใช้ AR จะช่วยให้ลูกค้ามีประสบการณ์อีกระดับ และเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ลูกค้าได้มองสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยที่ไม่ได้แตะสินค้าเลย

5. การซื้อของบนโซเชียลมีเดียกำลังโตขึ้น

แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อของที่ได้รับความนิยมยังคงเป็น Shopee Lazada และ Q10 แต่ Facebook และ Instagram ต่างมีแพลตฟอร์มในการซื้อของเช่นกัน หลายๆ บริษัทต่างพยายายใช้สองช่องทางนี้ในการดึงดูดลูกค้าในการซื้อสินค้ามากขึ้น

6. การสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ยั่งยืนและแบรนด์ที่มีสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม

หลายแบรนด์ได้แสดงความใส่ใจในการผลิตสินค้าแบบยั่งยืนมากขึ้น หรือการทำแคมเปญเพื่อโลกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นักช้อปรุ่น Millenials และ GenZ ต่างตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามที่จะสนับสนุนสินค้าที่ยั่งยืนหรือแบรนด์ที่มีสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม 54% ของผู้ซื้อ GenZ เต็มใจที่จ่ายแพงขึ้น 10% สำหรับสินค้าที่ยั่งยืน และ 65% วางแผนที่จะซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นภายในเวลา 12 เดือน

7. การให้ความสำคัญกับคำแนะนำจาก Influencers

การตลาดผ่านช่องทาง Influencers เป็นเทรนด์ของตลาดสิงคโปร์ในช่วงปีที่ผ่านมา และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเติบโตอย่างต่อเนื่องในรูปแบบวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook Instagram และ TikTok ถ้าสมัยก่อนการลงทุนกับ Influencers ที่มีผู้ติดตามหลายล้านคนอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ในปี 2566 จะเป็นการลงทุนกับ Influencers ที่ระดับผู้ติดตามน้อยลงมาในระดับ Micro-Influencers ที่มีผู้ติดตามประมาณ 1,000 – 1 ล้านคน หรือ Nano-Influencers ที่มีผู้ติดตามประมาณ 100 – 10,000 คน รายงาน State of Influencer Marketing 2022 ระบุว่า Micro และ Nano Influencers มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่คงที่และดีกว่า เพราะว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ในระดับบุคคล หรือชุมชนมากกว่า ดังนั้นการโน้มน้าวใจจึงสูงกว่า

8. ตัวเลือกการชำระเงินแบบใหม่

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ธุรกรรมการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ ได้แก่ บัตรเครดิต บัตรเดบิต ธนาคารออนไลน์ และ e-wallet เช่น PayPal และเมื่อตลาดออนไลน์มีขนาดโตขึ้น บางแพลตฟอร์มได้นำเสนอวิธีการชำระเงินภายใต้บริษัทตัวเอง เช่น Shopee Pay แต่ในปี 2566 ได้มีการชำระเงินแบบ Buy Now Pay Later หรือซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้รับสินค้าก่อนแต่จะทำการชำระเงินในภายหลัง นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนชำระแบบหลายงวด ภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วยเช่นกัน

9. การขายของแบบไลฟ์สด (Livestreaming)

การไลฟ์สดของแบรนด์ไปยังผู้ชมบนแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง Facebook Instagram และTikTok จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปี 2566 นอกจากจะโปรโมทสินค้าและตอบคำถามจากผู้บริโภคแล้ว แบรนด์ต่าง ๆ ยังใช้การไลฟ์สดเพื่อปิดการขายอีกด้วย ซึ่งการขายประเภทนี้ดึงดูดผู้ชมที่มีอายุมากมากกว่าผู้ชมวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากกว่า รายงานของ Klarna ระบุว่า 28% ของกลุ่ม Baby Boomers และ 27% ของกลุ่ม Gen Xs อาจเคยเข้าร่วมกิจกรรมซื้อของผ่านการไลฟ์สด ตามมาด้วยคนกลุ่ม Millenials และ Gen Z ที่ 23% และ 20% ตามลำดับ  

10. Chatbots เป็นผู้ช่วย

การซื้อขายในอีคอมเมิร์ซมักจะมี Chatbots เป็นเครื่องมือในการสนทนาเพื่อให้การสนับสนุนลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดย Chatbots จะตอบคำถามที่พบบ่อยด้วยคำตอบที่กำหนดไว้ล่วงหน้า Chatbots ได้รับการพิสูจน์ว่าช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า และเพิ่มการสนทนาบนเว็บไซต์ได้ถึง 90%

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

การซื้อของออนไลน์แพร่หลายไปสู่ผู้คนแทบทุกกลุ่มมากขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาตลาดด้านอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรติดตามเทรนด์ข้อมูลต่างๆ อยู่เสมอ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยสามารถนำข้อมูลแนวโน้มการทำการตลาดออนไลน์ในสิงคโปร์ไปพัฒนาช่องทางการตลาด หรือการประชาสัมพันธ์สินค้าให้ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายชาวสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจในตลาดสิงคโปร์ได้ต่อไป  


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง