สิงคโปร์เตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ

โอกาสทางการตลาดธุรกิจก่อสร้างและสินค้า/บริการสำหรับผู้สูงอายุในสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์วางแผนที่จะขยายสถานที่ดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 8 แห่ง และจะเพิ่มเตียงมากกว่า 2,000 เตียง ในอีก ห้าปีข้างหน้า เพื่อตอบสนองความต้องการประชาชนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยหนึ่งในสี่ของชาวสิงคโปร์จะมีอายุอย่างน้อย 65 ปี ภายในปี 2573 ทั้งนี้ สถานที่ดูแลผู้สูงอายุขนาดใหญ่อีกสองแห่งจะพร้อมเปิดใช้ในปีหน้า และจะมีเตียงพยาบาลใหม่เกือบ 1,000 เตียง ที่พร้อมให้บริการภายในสิ้นปี 2567 นอกจากนี้ ยังมีโพลีคลินิกใหม่ที่จะสร้างขึ้นในสถานที่เดียวกับสถานที่ดูแลผู้สูงอายุของรัฐ โดยจะสร้างแล้วเสร็จที่เขต Kaki Bukit ภายในปี 2569 และเขต Jurong ภายในปี 2570 และโพลีคลีนิกที่จะเปิดใหม่ภายในปี 2573 ที่ Bidadari จะตั้งอยู่ร่วมกับสถานที่ดูผู้สูงอายุแห่งใหม่เช่นกัน

ในปี 2563 สิงคโปร์มีเตียงพยาบาลประมาณ 16,200 เตียง และมีแผนเพิ่มจำนวนเกือบสองเท่าเป็นมากกว่า 31,000 เตียงในอีกสิบปีข้างหน้าและขยายศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 119 แห่ง ในปัจจุบันเป็น 220 แห่ง ภายในปี 2568

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ เวลารอเฉลี่ยสำหรับเตียงพยาบาลยังคงอยู่ที่ประมาณหนึ่งเดือน โดยสถานที่ดูแลผู้สูงอายุจะจัดลำดับความสำคัญตามความต้องการในความช่วยเหลือในกิจกรรมประจำวันสามอย่างขึ้นไป เช่น การให้อาหาร การเข้าห้องน้ำ และการขาดการสนับสนุนจากครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอื่นสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการรับการดูแล เช่น การดูแลที่บ้าน รวมถึงการดูแลผู้ป่วยแบบชั่วคราวระยะสั้น (Respite Care) เพื่อให้ผู้ดูแลได้พักจากการดูแลผู้ป่วยและได้คลายเครียดไปด้วย ซึ่งสถานที่ดูแลฯ หลายแห่งมีความต้องการบริการเหล่านี้สูงขึ้น

ในขณะที่ ผู้ประกอบการสถานที่ดูแลผู้สูงอายุต่างคิดหาวิธีใหม่ๆ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกมีส่วนร่วมด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นตู้เกมบาสเกตบอล และสวนที่เพิ่มการสร้างประสาทสัมผัส หรือการทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น การหุงข้าว การจัดส่งขนมปังให้กับผู้พักอาศัยคนอื่นๆ

NTUC Health ผู้ดำเนินการสถานดูแลผู้สูงอายุรายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ กล่าวว่า มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 10% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา และเพื่อสนองความต้องการการดูแลแบบชั่วคราวระยะสั้นนั้น NTUC Health ได้ขยายบริการดูแลตอนกลางวัน ที่นอกเหนือจากวันธรรมดาเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งแม่บ้านดูแลอาจจะได้มีวันหยุด นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมการอยู่ระยะสั้นสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม และโปรแกรมเสมือนจริงที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าร่วมได้จากที่บ้าน

สำหรับผู้สูงอายุที่ยังสามารถเดินได้ ศูนย์บริการฯ จะมีแนะนำให้เข้าร่วมโปรแกรมสำหรับผู้สูงอายุแบบแอคทีฟ ควบคู่ไปกับบริการการดูแลตอนกลางวัน และการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วย เช่น ภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้ แนวความคิด Gamification (การนำเอาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับเกมมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้) ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน เช่น ศูนย์บริการฯ Ren Ci ได้มีการบำบัดด้วยการค้าปลีก กล่าวคือ เมื่อผู้สูงอายุทำกายภาพบำบัดประจำวันเสร็จ ผู้สูงอายุจะสามารถนำเหรียญโทเค่นไปใช้ในการแลกของต่างๆ เช่น ขนมบิสกิต และชาเขียว ที่มินิมาร์ทของศูนย์บริการฯ การสร้างประสบการณ์การซื้อของมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกิจกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆ ที่ผู้สูงอายุอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก  เช่น การซื้อของที่ร้านค้า เป็นต้น

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สคต.

หลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงสิงคโปร์และไทยต่างกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเชิงประชากร และเป็นความท้าทายที่ประเทศต้องเผชิญในการเตรียมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิงคโปร์มีการจัดทำแผนนโยบายแห่งชาติ และดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ เช่น การดูแลเงินสบทบทุนกองทุนส่วนกลาง รวมไปถึงนโยบายการขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) เป็น 8% ในปี 2566 ที่ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุ และสวัสดิการต่างๆ อีกทั้งการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ส่งผลให้เกิดการขยายตัวสถานที่ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น และความต้องการสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีแก่ผู้ประกอบการไทย ที่ประกอบธุรกิจก่อสร้าง อุปกรณ์ของใช้ในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ รวมไปถึงสินค้า/บริการสำหรับผู้สูงอายุต่างๆ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยต้องทำการศึกษาและปฏิบัติตามกฎในการนำเข้าสินค้าแต่ละประเภทต่างๆ ของสิงคโปร์อย่างเคร่งครัด  


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง