ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าสิงคโปร์โต หนุนไทยส่งออก

สถานการณ์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์

ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายส่งออกรถยนต์จากฐานการผลิตที่ประเทศจีน ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตสัญชาติจีนหลายรายได้ส่งออกจากโรงงานที่มี หรือโรงงานที่สร้างในประเทศไทย บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนรายล่าสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) รายใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงงานที่ระยอง หรือ“ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” การก่อสร้างครั้งนี้มีกำหนดการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยโรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตรถยนต์เริ่มต้นที่ 150,000 คันต่อปี และข้อมูลจากสำนักข่าว Reuters ในเดือนกันยายน 2565 รายงานว่า 10% ของการผลิตจะถูกขายให้กับตลาดของประเทศไทย ในขณะที่ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปขายยังประเทศอื่น ๆ

โฆษกของบริษัท BYD กล่าวว่า ฐานการผลิตแห่งนี้จะรองรับตลาดรถยนต์พวงมาลัยฝั่งขวา โดยการเปิดตัวโรงงานดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ใช้พวงมาลัยฝั่งขวาทั้งหมด รวมถึงสิงคโปร์ โดยรุ่น Atto 3 ซึ่งเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดของบริษัท BYD ในสิงคโปร์ก็จะถูกผลิตและส่งออกจากฐานการผลิตในประเทศไทยเหมือนกัน โฆษกยังอ้างถึงต้นทุนของแรงงานที่ต่ำและการขนส่งไปยังตลาดรถพวงมาลัยฝั่งขวาเป็นเหตุผลหลักในการสร้างโรงงานการผลิตในประเทศไทย โดยการสร้างโรงงานการผลิตเต็มรูปแบบในครั้งนี้มีมูลค่าเกือบ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

นาย Liu Xueliang ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท BYD Auto Sales ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า บริษัทไม่ได้มีข้อผูกมัดเกี่ยวกับการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในไทยไปยังสิงคโปร์ ซึ่งในขณะนี้ รถยนต์ของบริษัทมาจากจีน แต่ในขณะนี้ ทางบริษัทยังไม่มีการตัดสินใจที่แน่นอน โดยทางบริษัทจะพิจารณาตลาดแต่ละแห่ง และตัดสินใจว่าอะไรเหมาะกับตลาดนั้น ทั้งนี้ โรงงานในไทยจะผลิตรถยนต์ที่ตอบสนองต่อตลาดในไทยเป็นหลัก เพราะรถยนต์ที่ผลิตในประเทศจะได้รับภาษีพิเศษ โดย โรงงานดังกล่าวจะผลิตและส่งออกยานพาหนะให้กับประเทศในอาเซียนและยุโรปอีกด้วย (ข้อมูลสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Nikkei Asia เมื่อเดือนกันยายน 2565)

ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เช่น Toyota ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานพาหนะรายใหญ่ที่สุดในโลกได้เริ่มการผลิตรถยนต์ในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ตามมาด้วย Mazda ในปี พ.ศ. 2518 และ Honda ในปี พ.ศ. 2527 โมเดลรถยนต์ญี่ปุ่นที่สำคัญหลายรุ่นที่ขายในสิงคโปร์ก็ได้ถูกผลิตในประเทศไทยด้วยเหมือนกัน ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนรายอื่นในประเทศไทย เช่น Changan Automobile คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์จากโรงงานในจังหวัดระยองในปี 2567

หนังสือพิมพ์ Nikkei Asia ได้รายงานเพิ่มเติมอีกว่า โครงการ EVs ในประเทศไทยอย่างน้อย 2 โครงการ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในปีนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Aion แบรนด์ย่อยของ Guangzhou Automobile Corp. และอีกโครงการหนึ่งของ CATL ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ EVs รายใหญ่ที่สุดในโลก บริษัท Great Wall Motor ของจีนยังได้เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย โดยได้ซื้อกิจการโรงงานของ General Motors ในปี 2563 และในปี 2560 บริษัท SAIC หนึ่งในบริษัทยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนได้เปิดโรงงานในชลบุรี และจะเริ่มผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทยในปีนี้

ในขณะที่ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนกำลังขยายขนาดการผลิตของพวกเขาไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอื่น ๆ ได้ส่งออกรถจากฐานการผลิตของพวกเขาในจีน บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ เช่น BMW, Volvo และ Polestar ได้ผลิตรถยนต์ในประเทศจีนเพื่อจัดส่งมายังสิงคโปร์ตั้งแต่ต้นปี 2562 และบริษัท Lotus มีแผนจะดำเนินการตามในปีหน้า

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สคต.

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกนโยบายที่สนับสนุนการใช้รถยนต์/รถโดยสารที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น 1) การแทนที่รถโดยสารสาธารณะด้วยรถโดยสารที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดในปี 2583 2) ตั้งแต่ปี 2573 การลงทะเบียนสำหรับรถยนต์ใหม่และรถแท็กซี่ต้องเป็นรถพลังงานสะอาดเท่านั้น ประกอบกับรัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้ออกนโยบาย 30@30 เป็นแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค โดยได้ตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจะเป็นการดึงดูดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ให้มาในไทยมากขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับที่ตั้งของไทยทำให้ไทยที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้เกิดการออกแบบและผลิตได้ตรงตามมาตรฐานของสิงคโปร์ และติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง