ภาคธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ของสิงคโปร์มีความโดดเด่นทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค
บริษัทที่ปรึกษา Savills ได้จัดอันดับสิงคโปร์ให้เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีทางการเงินอันดับที่ 4 ของโลกจาก 47 เมืองทั่วโลก รองจากนิวยอร์ก ลอนดอน และซานฟรานซิสโก โดยพิจารณาจากความพร้อมทางธุรกิจ เทคโนโลยี ความพร้อมของเมืองและทรัพยากรมนุษย์

ในฐานะศูนย์กลางด้าน FinTech สิงคโปร์สามารถดึงดูดการลงทุนด้าน FinTech เข้าประเทศได้อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 รายงานของบริษัท KPMG เปิดเผยตัวเลขการลงทุนด้าน FinTech ในสิงคโปร์ประจำปี 2565 มีมูลค่ารวม 5,578 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งมีมูลค่า 4,625 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และปี 2563 ซึ่งมีมูลค่า 3,129 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เติบโตสวนทางกับกระแสการลงทุนด้าน FinTech ของโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2565

ภาค FinTech ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการระดมทุนในสิงคโปร์ปี 2565 ได้แก่ เทคโนโลยีสกุลเงินดิจิทัล/บล็อกเชน (Crypto/Blockchain) เทคโนโลยีการชำระเงิน (Payments) และเทคโนโลยีบริหารความมั่งคั่ง (WealthTech) ซึ่งสามารถระดมทุนได้ 1,632 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 1,339 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ 680 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) เดือนพฤศจิกายนปี 2566 พบว่าสิงคโปร์มีบริษัทด้าน FinTech มากกว่า 1,300 แห่ง

ปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จของ FinTech ในสิงคโปร์ ได้แก่

(1) การผลักดันและสนับสนุนจากภาครัฐทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตั้งต้นธุรกิจ การพัฒนาเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ การขยายกิจการไปยังต่างประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ

(2) รากฐานทางธุรกิจการเงินที่มั่นคง การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค มีระบบธนาคารที่มั่นคงและกฎระเบียบข้อบังคับด้านการเงินที่ชัดเจน รวมทั้งมีความพร้อมของบุคลากรในภาคธุรกิจการเงิน ซึ่งช่วยดึงดูดผู้ประกอบการ FinTech เข้ามาในประเทศและสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

(3) ความพร้อมของระบบนิเวศด้าน FinTech โดย Startup SG (หน่วยงานภายใต้ Enterprise Singapore) ระบุว่าสิงคโปร์มี Accelerators และ Incubators ด้าน FinTech จำนวน 35 ราย มีนักลงทุนและสถาบันการลงทุนซึ่งสนใจในสตาร์ทอัพด้าน FinTech จำนวน 180 ราย มีการจัดงาน Singapore Fintech Festival ประจำปีโดยธนาคารกลางสิงคโปร์เพื่อดึงดูดและเชื่อมโยงผู้ประกอบการและนักลงทุนเข้าด้วยกัน

FinTech Regulatory Sandbox ของสิงคโปร์

เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้าน FinTech ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 450 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุน Financial Sector Technology and Innovation (FSTI) ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2558 – 2569 และได้จัดตั้งโครงการ FinTech Regulatory Sandbox เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินและสตาร์ทอัพด้าน FinTech เข้าร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยีทางการเงินก่อนเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ โดยพื้นที่ทดสอบเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมจริงในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด และผ่อนปรนระเบียบข้อบังคับบางประการระหว่างการทดสอบ นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการรับมือเพื่อป้องกันผลกระทบจากความผิดพลาดของการทดสอบต่อระบบการเงินของประเทศ ทั้งนี้ FinTech Regulatory Sandbox แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) Sandbox สำหรับธุรกิจที่มีความซับซ้อนสูงและจำเป็นต้องปรับกฎข้อบังคับในการทดสอบเป็นกรณีพิเศษ (2) Sandbox Express สำหรับธุรกิจความเสี่ยงต่ำและใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นที่รู้จักในตลาด ทำให้สามารถพิจารณาอนุมัติโครงการได้อย่างรวดเร็ว (3) Sandbox Plus สำหรับธุรกิจที่มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางการเงินและต้องการการสนับสนุนด้านการเงิน  

บริษัทที่สมัครเข้าร่วม FinTech Regulatory Sandbox และได้รับการตอบรับพร้อมคำปรึกษาด้านระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากธนาคารกลางสิงคโปร์ จะต้องปฏิบัติตามขอบเขตเงื่อนไขเฉพาะตัวในการทดสอบผลิตภัณฑ์และบริการ และปฏิบัติตามขอบเขตเงื่อนไขพื้นฐาน เช่น การรักษาความลับของข้อมูลลูกค้า การป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เป็นต้น พร้อมรายงานความก้าวหน้าต่อธนาคารสิงคโปร์ตลอดระยะเวลาโครงการ หากต้องการปรับเปลี่ยนขอบเขตของเงื่อนไขหรือขอยืดระยะเวลาโครงการต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางสิงคโปร์เป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้ ยังต้องแจ้งผู้ใช้บริการที่เข้าใช้ผลิตภัณฑ์และบริการระหว่างการทดสอบทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น บริษัทที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการทดสอบได้ตลอดโครงการเท่านั้นจึงจะได้รับอนุญาตให้ขยายการให้บริการด้าน FinTech อย่างเต็มรูปแบบในสิงคโปร์


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง