เทรนด์ธุรกิจเทคโนโลยีสุขภาพและการแพทย์ในสิงคโปร์กับโอกาสของผู้ประกอบการไทย

ปัจจุบัน สิงคโปร์ก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ขั้นสูงสุด โดยมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 18.4% หรือ 2 คน ในจำนวนประชากร 10 คน เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก โดยภายในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 23.8% หรือ 1 คนในจำนวนประชากร 4 คน จึงไม่แปลกที่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีการแพทย์ (MedTech) ในสิงคโปร์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการดูแลผู้สูงอายุ

ประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยระดับสูงสุดเช่นเดียวกับสิงคโปร์ โดยจะมีประชากรสูงวัยมากถึง 28% ของประชากรทั้งหมดในปี 2576 ทำให้ตลาดธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในประเทศมีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท เฉพาะธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ มีมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท และเติบโต 1.5 เท่าในทุกปี ดังนั้น การศึกษาแนวโน้มตลาดและการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการแพทย์จะช่วยเพิ่มพูนโอกาสและศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

การขยายธุรกิจของบริษัทสตาร์ทอัพผู้ให้บริการเทคโนโลยีสุขภาพและการแพทย์ในสิงคโปร์และภูมิภาค

ในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (BIC) พบว่าบริการของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพในสิงคโปร์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการแพทย์ทางไกล (telemedicine) การดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ (care management) และการบริการผู้สูงวัยที่บ้าน (home monitoring) จากข้อมูลของบริษัท Action Community for Entrepreneurship (ACE) ปัจจุบัน สิงคโปร์มีบริษัทด้านเทคโนโลยีการแพทย์กว่า 300 บริษัท

ตัวอย่างของธุรกิจที่ศูนย์ BIC เห็นว่าน่าสนใจมีหลายแห่ง เริ่มจากบริษัท Homage ก่อตั้งเมื่อปี 2559 โดยมีรูปแบบบริการหลัก คือ การจัดการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยแบบครบวงจร ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น บริการจัดหาพนักงาน “ผู้ดูแล” เพื่อให้ความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน บริการพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ และบริการนักบำบัด และมีแพลตฟอร์ม Telehealth เพื่อให้บริการออนไลน์ เช่น ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ บริการตรวจสุขภาพ บริการรถพยาบาล และการจัดส่งยา

บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
แหล่งที่มา: HOMAGE (https://www.homage.sg/)

ปัจจุบัน Homage มีพนักงานที่ผ่านการอบรมด้านการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุมากถึง 15,000 คน ด้วยบริการที่ดีและเครือข่ายที่กว้างขวาง ทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจไปในประเทศมาเลเซียและออสเตรเลีย โดยเมื่อปี 2564 บริษัทระดมทุนเพิ่มเป็นมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์และมีอัตราเติบโตในต่างประเทศเกิน 600% สร้างรายได้มากกว่า 3 เท่าในปี 2564

หากเริ่มไม่แน่ใจในอาการเจ็บป่วย หรือไม่มีเวลาไปโรงพยาบาล “DoctorAnywhere” หรือแอปพลิเคชันพบคุณหมอได้ทุกที่ เป็นบริการทางการแพทย์ที่เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในสิงคโปร์ เนื่องจากมีช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย ทั้งการขอคำปรึกษากับแพทย์ผ่านระบบทางไกลหรือวิดีโอคอล ทำให้ไม่ต้องรอคิวนาน และบริการนัดหมายตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนต่าง ๆ ที่สามารถขอรับบริการได้ทั้งที่คลินิกหรือที่บ้าน ปัจจุบัน DoctorAnywhere เปิดให้บริการทั้งในสิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีแพทย์และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญมากถึง 2,500 คน และจำนวนผู้ใช้บริการรวมกว่า 2.5 ล้านคน โดยบริษัทเพิ่งระดมทุนเพิ่มเติมเป็นเงิน 88 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อขยายกิจการในอินโดนีเซีย

สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคสมองเสื่อม บริการของ “Neuroglee Therapeutics”หรือการบำบัดโรคด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้ป่วยที่พบความเสื่อมของระบบประสาท คาดว่าจะเริ่มให้บริการในสิงคโปร์ได้ในปี 2566 โดยผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงการแก้ปัญหาจากที่บ้านด้วยแพลตฟอร์มของบริษัท เช่น เกมและโปรแกรมการบำบัดที่ช่วยฟื้นฟูความจำ รวมถึงการใช้อุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถตรวจจับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarkers) เช่น การเคลื่อนไหวของลูกตาเพื่อวัดภาวะการทำงานของสมอง ทั้งนี้ บริษัท Neuroglee ได้เริ่มให้บริการ
ในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาแล้ว และเมื่อปี 2564 บริษัทได้รับการระดมทุนอีก 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาและต่อยอดคลินิกออนไลน์ในการรักษาโรคสมองเสื่อม และต่อยอดการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อการบำบัด

บริการผ่านแอปพลิเคชันมือถือ “Rootally AI” เพื่อการกายภาพบำบัดที่บ้านด้วยเทคโนโลยี AI ในการตรวจจับและวัดผลการทำกายภาพบำบัดได้อย่างทันที โดยเมื่อปี 2564 Rootally AI ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวงเงิน 1.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากมูลนิธิ Temasek และศูนย์นวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ (Centre for Healthcare Innovation – CHI) ของสิงคโปร์ ปัจจุบัน Rootally AI อยู่ระหว่างการทดลองใช้งานในโรงพยาบาล และจะเริ่มใช้งานจริงกับแผนกผู้ป่วยนอกเพื่อการบำบัดหัวเข่าและหัวไหล่ในปี 2566 นี้

บริการผ่านแอปพลิเคชันมือถือ “Rootally AI” เพื่อการกายภาพบำบัดที่บ้าน
แหล่งที่มา: Rootally AI (https://www.rootally.com/)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

สิงคโปร์ยังผลักดันการนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G มาใช้ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเน้นการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (AR) และเร่งขยายการใช้งานหุ่นยนต์เพิ่มเติมในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการส่งยาให้ผู้ป่วย เช่น การนำทางผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดการใช้เจ้าหน้าที่ในช่วงที่แรงงานวัยทำงานของสิงคโปร์มีจำกัด และในปี 2566 สิงคโปร์จะมีศูนย์เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อการเรียนรู้แห่งใหม่ (Virtual Centre of Healthcare Innovation Living Lab) เพื่อใช้เป็นสถานที่อบรมนักศึกษาแพทย์และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข อีกทั้ง การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D printing) เช่น ศูนย์ 3D ของโรงพยาบาล Tan Tock Seng ในการสร้างโมเดลจำลองเพื่อใช้ในการอธิบายขั้นตอนการรักษาให้กับผู้ป่วย เป็นต้น

ส่วนประเทศไทยเราก็กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) และสำหรับวงการ MedTech ของไทย นอกจากสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียง เช่น Wearenurse และ VRMed แล้ว สตาร์ทอัพไทยรุ่นใหม่ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น แอปพลิเคชัน Raksa ให้บริการพบแพทย์ผ่านระบบทางไกลได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยทีมแพทย์กว่า 800 คน แอปพลิเคชัน Young Happy ที่ส่งเสริมการสร้างสังคมของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เน้นการเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันบนแอปพลิเคชัน FAMS เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้ระบบในการจัดหาคนดูแลผู้ป่วยตามบ้านตามความต้องการ และ Go Mamma ช่วยเรียกรถแท็กซี่ให้ผู้สูงวัยอย่างสะดวกและปลอดภัย

ไทยเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้านทรัพยากรบุคคลในวงการสาธารณสุข และมาตรฐานด้านการแพทย์ของไทยก็ได้รับการยอมรับในระดับสากล อย่างไรก็ดี ศูนย์ BIC มีข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการด้าน MedTech ของไทยยังไม่ได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศมากนัก จึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการศึกษาตลาด โดยเฉพาะกฎระเบียบและปัญหาของลูกค้า (pain point) เพื่อหาช่องทางการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ
ในประเทศที่มีโครงสร้างประชากรหรือความต้องการบริการทางการแพทย์ใกล้เคียงกับไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยน่าจะต่อยอดธุรกิจในตลาดเหล่านี้จากฐานธุรกิจเดิมที่มีอยู่ได้ไม่ยาก โดยสิงคโปร์นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพที่แข็งแรงเป็นอันดับต้นของโลกและน่าลงทุนในธุรกิจ MedTech เช่นเดียวกัน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง