เทรนด์สินค้าขายดีในสิงคโปร์ ที่ไม่ควรพลาด

กระแสความนิยมสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมในสิงคโปร์

การเปลี่ยนแปลงในโลกต่างๆ เช่น โรคระบาด ภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ผู้บริโภคในสิงคโปร์คำนึงถึงสินค้าที่มีความปลอดภัย และมีความยั่งยืนมากขึ้น โครงการ Go Green SG เป็นหนึ่งในโครงการที่มีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชาวสิงคโปร์ เพื่อให้สิงคโปร์เป็นประเทศสีเขียว และสามารถปรับตัวได้ต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างแบรนด์สินค้าที่มีแนวคิดแบบยั่งยืนในสิงคโปร์

1. ChopValue  เป็นแบรนด์แคนาดา ที่นำตะเกียบชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งมาทำเป็นไม้ทดแทนในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน โดย ChopValue Singapore เป็นแฟรนไชส์ต่างชาติแห่งแรกของแบรนด์ และผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศ โดยบริษัทได้รวบรวมตะเกียบไม้ไผ่ที่ใช้แล้วทิ้งจากสถานที่ต่างๆ ในประเทศ และนำกลับมาแปรรูปเป็นวัสดุสำหรับนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน และที่ทำงาน เช่น การผลิตโต๊ะทำงานจะใช้ตะเกียบประมาณ 10,854 แท่ง และการผลิตแท่นตั้งโทรศัพท์มือถือจะใช้ประมาณ 150 แท่ง

2. The Powder Shampoo Ms. Lynn Tan เจ้าของผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจากพฤกษศาสตร์ เล็งเห็นปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแชมพูทั่วไปในตลาด ที่เกิดจากการขนส่งจากโรงงานผลิตไปยังผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของการสร้างแบรนด์ The Powder Shampoo ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 โดยเธอได้นำเอาน้ำที่เป็นส่วนประกอบในแชมพูออก เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบาและขนส่งได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั้งนี้ แชมพูของแบรนด์ทั้งหมดผลิตในสิงคโปร์ โดยบรรจุภัณฑ์ได้ใช้ขวดอะลูมิเนียมรีไซเคิลและถุงกระดาษที่รีไซเคิล และย่อยสลายได้ นอกจากนี้ บริษัทจะปลูกต้นไม้หนึ่งต้น จากทุกๆ การขายผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการชดเชยการปล่อยคาร์บอนฯ ของแบรนด์

3. ร้าน RE-Store Ms. Claudia Yong ผู้ก่อตั้งร้านร่วมกับแม่และป้าในปี 2563 แบรนด์ดังกล่าวเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ว่าจ้างแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการตกงานในช่วงโควิด-19 ผู้หญิงพิการ และนักกีฬา ที่ไม่มีรายได้ที่มั่นคง โดยการนำเศษผ้ามาทำเป็นกระเป๋าหิ้ว กระเป๋าสะพาย หมวก และยางรัดผม ซึ่ง 80% ของผลิตภัณฑ์ทำมาจากสิ่งทอที่เหลือจากธุรกิจทำเบาะและการบริจาคเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และผ้าเดนิม ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้สร้างขยะจากสิ่งทอประมาณ 189,000 ตัน ในปี 2565

อย่างไรก็ดี สินค้าที่มีแนวคิดแบบยั่งยืนมีราคาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตเป็นจำนวนมาก เช่น แท่นวางโทรศัพท์มือถือของ ChopValue ขายในราคา 16 เหรียญสิงคโปร์ ในขณะที่ แท่นวางพลาสติกอาจจะวางขายในราคา 5 เหรียญสิงคโปร์ หรือแชมพูของร้าน The Powder Shampoo ขายในราคา 39.90 เหรียญสิงคโปร์ต่อปริมาณ 100 กรัม และสามารถใช้งานได้ประมาณ 100 ครั้ง แต่ผู้ผลิตกลับมองว่า ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อแนวความคิดแบบยั่งยืน เพราะประโยชน์จากการใช้วัสดุหมุนเวียนเพื่อการผลิตสินค้าย่อมคิดเป็นมูลค่าและมีคุณค่าที่สูงกว่าการผลิตสินค้าจากทรัพยากรแรกเริ่ม หรือเมื่อคำนวณการใช้งานต่อครั้ง อาจจะไม่ได้มีราคาแพงมากก็ได้

นอกจากสินค้าที่นำเสนอแนวความคิดแบบยั่งยืนแล้ว สินค้าอาหารที่มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้รับความสนใจในตลาดสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างสินค้าอาหารที่มีการใช้เทคโนโลยีในสิงคโปร์

1.Meatless Kingdom บริษัทสตาร์ทอัพด้านอาหารและเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ได้ผลิตอาหารจากเห็ด และพืชที่มีโปรตีนสูงเหมาะกับรสนิยมของชาวอินโดนีเซีย เช่น เมนู Dendeng , Rendang ภายใต้รูปแบบอาหารพร้อมรับประทาน เมนู Dendeng Manis Asap ที่คล้ายๆ หมูแผ่นของไทย โดยบริษัทได้จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าบางแห่งในสิงคโปร์ เช่น Kinex,Burlington Square และช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Shopee นอกจากนี้ สินค้าของบริษัท Meatless Kingdom ยังคงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในอาหารโดยการใช้น้ำน้อยลงถึง 80%

2. Curated Culture เครื่องดื่มโปรไบโอติกที่ปราศจากนม และน้ำตาล ซึ่งโดยปกติ เครื่องดื่มโปรไบโอติกในท้องตลาดส่วนใหญ่จะประกอบด้วยส่วนประกอบของนมและน้ำตาลสูง ซึ่งทำให้ขัดแย้งกับความคิดที่ว่าเครื่องดื่มโปรไบโอติกเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ บริษัทจึงคิดค้นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีโปรไบโอติก ที่พบได้ในโยเกิร์ต และใช้ไซลิทอลเป็นสารทดแทนความหวานแทนน้ำตาล นอกจากนี้ บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ชาเขียวชงเย็นโปรไบโอติก และชา Rooibos โปรไบโอติก ที่ปราศจากคาเฟอีน โดยวางจำหน่ายบนเว็บไซต์ของบริษัท และบนแพลตฟอร์ม Shopee

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สคต.

ในปัจจุบัน กระแสสินค้าที่มีความยั่งยืน หรืออาหารเพื่ออนาคต ที่มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยได้รับความนิยมในตลาดโลก รวมไปถึงตลาดสิงคโปร์ ที่ผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น จึงเป็นโอกาสและช่องทางการขยายตลาดที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ประกอบการไทย เพราะสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้านวัตกรรมและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทั้งนี้ กรมฯ ได้มีนโยบายในการผลักดันสินค้า BCG และแนวความคิดดังกล่าวผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ BCG Heroes ,โครงการ DEWA & DEWI กิจกรรม BCG to Carbon Neutrality ,โครงการ Smart Value Creation เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการค้า BCG & Sustainability โดยนำผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมแสดงสินค้าในต่างประเทศ เป็นต้น ผู้สนใจกิจกรรมโครงการดังกล่าว สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ditp.go.th


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง