ด้วยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าว Nikkei รายงานบทสัมภาษณ์ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์การลงทุน (Chief Investment Strategist) ของบริษัท Temasek Holdings (ซึ่งเป็น SOE รายใหญ่ที่สุดของรัฐบาลสิงคโปร์) ระงับการลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีน เนื่องจากหน่วยงานสำนักงาน State Administration for Market Regulation (SAMR) ของจีนได้ออกกฎระเบียบเพื่อกำกับพฤติกรรมการผูกขาดและสร้างความเป็นธรรมให้กับตลาดต่อบริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนทางธุรกิจในระยะสั้น

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา Temasek เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2563 มูลค่า Temasek ถือครองตราสารทุน (หุ้น) ในจีนสูงกว่าในสิงคโปร์เองเป็นครั้งแรก Temasek ลงทุนในบริษัทชั้นนำจีนที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงวิสาหกิจด้านการค้าอีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba Tencent และ Ant Group รวมถึงด้านบริการรถโดยสาร Didi Global ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมและการจัดระเบียบใหม่ของรัฐบาลจีนในปัจจุบัน

นาย Rohit Sipahimalani ประธานด้านกลยุทธ์การลงทุน Temasek ให้ข้อมูลว่า Temasek จะชะลอการลงทุนด้านเทคโนโลยีในจีนจนกว่าจะมีความชัดเจนด้านกฎระเบียบและมาตรการควบคุมจากรัฐบาลจีน โดยในไตรมาสที่ 3/2564 Temasek ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Alibaba ร้อยละ 16 และในบริษัท Didi ร้อยละ 11 รวมทั้งถอนหุ้นจาก บริษัทจีนด้าน search engine บริษัท Baidu ด้านการศึกษา บริษัท TAL Education บริษัท New Oriental Education & Technology และ บริษัทจัดหางาน Kanzhun ในเดือนกรกฎาคม 2564 Temasek รายงานว่ามูลค่าการลงทุนในจีนโดยมีสินทรัพย์อ้างอิงลดลงร้อยละ 2 อยู่ที่ร้อยละ 27 ของการลงทุนทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในสิงคโปร์ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ร้อยละ 24   

Temasek เข้าใจวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลจีนต้องจัดระเบียบภาคเทคโนโลยีเนื่องจากต้องการแก้ไขปัญหาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (data privacy) และความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ เช่น เดือนกรกฎาคม 2564 สำนักงาน Cyberspace Administration of China (CAC) ได้ตักเตือนบริษัท Didi ถึงการละเมิดความมั่นคงของชาติในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพียง 2 วันหลังจากหุ้นในบริษัทเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ New York และเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) มูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือการที่รัฐบาลจีนขอให้ Alibaba และ Tencent ซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจเปิดแพลตฟอร์มระหว่างกัน และหยุดการปิดกั้น (blocking) ต่อกันและกัน ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการและมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม Temasek ยังคงให้ความสำคัญการลงทุนในจีนอย่างยิ่ง และยังคงเห็นโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจจีน         

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

แม้จะระงับการลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีในจีนเป็นการชั่วคราว แต่ Temasek ยังคงเพิ่มการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพและการเติบโตในจีน เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานหมุนเวียน ในไตรมาสที่ 3/2564 การลงทุนทั้งหมดของ Temasek ลดลงร้อยละ 4.5 อยู่ที่มูลค่า 28,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี Standard & Poor’s 500 สูงขึ้นร้อยละ 8.2

กฎระเบียบของจีนที่เพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มแรงกดดันและส่งผลกระทบด้านลบต่อบริษัทเทคโนโลยีจีนขนาดใหญ่ แต่เป็นการให้โอกาสแก่ผู้ประกอบการ/SMEs จีนในการเติบโต สามารถแข่งขันได้ ก่อให้เกิดเสถียรภาพในการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว รวมถึงทำให้การลงทุนในจีนเป็นจุดหมายของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นประเทศผู้ลงทุนอับดัน 1 ของจีน (8 ปีติดต่อกัน) สถานเอกอัครราชทูตมีข้อสังเกตว่า การประกาศครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ Temasek ประกาศระงับการลงทุนด้านเทคโนโลยีในจีน อย่างไรก็ตาม การประกาศดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจสิงคโปร์ – จีน ในภาพรวม โดยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 สิงคโปร์และจีน (นครฉงชิ่ง) ได้จัดการประชุม Singapore-China (Chongqing) Connectivity Initiative (CCI) Financial Summit ครั้งที่ 4 ร่วมกับรัฐบาลนครฉงชิ่ง ซึ่งหัวข้อสำคัญในปีนี้คือ ความเชื่อมโยงในด้านการเงิน ดิจิทัลภิวัตน์ และความยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริม CCI New International Land-Sea Trade Corridor (CCI-ILSTC) เพื่อเชื่อมโยงภาคตะวันตกของจีน มายัง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่ใช่แค่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแต่ลงมาถึงสิงคโปร์ด้วย) ดังคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MCI สิงคโปร์ และผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ ทั้งนี้สิงคโปร์และจีนมีกำหนดจัดการประชุม Joint Council for Bilateral Cooperation and Related Joint Steering Council Meetings (JCBC) ครั้งที่ 17 ในเดือนธันวาคม 2564


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง