ภาวะสังคมผู้สูงอายุกำลังเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยองค์การสหประชาชาติ ได้จัดทำรายงาน “World Population Prospects 2019” ระบุว่า ในช่วง 30 ปีต่อจากนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีประชากรสูงอายุเกิน 65 ปี มากถึง 37% ของประชากรทั้งหมด องค์การสหประชาชาติจัดลำดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของประชากรสูงวัย (อายุมากกว่า 65 ปี) มากที่สุด เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) สิงคโปร์มีประชากรสูงวัยประมาณ 781,000 แสนคน คิดเป็น 13.4% ของประชากรทั้งหมด 5.85 ล้านคน และสิงคโปร์จะเข้าสู่สังคมสูงวัย ระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) มีประชากรสูงวัยประมาณ 1.4 ล้านคน คิดเป็น 22.5% ของประชากรทั้งหมด 6.26 ล้านคน และในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) สิงคโปร์จะมีประชากรสูงวัยมากถึง 2.13 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 6.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 33.3% ส่วนประเทศไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุภายในปี ค.ศ. 2035

ความต้องการย้ายถิ่นฐานออกจากสิงคโปร์ เพื่อใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ณ ต่างประเทศ

รัฐบาลสิงคโปร์อยู่ระหว่างการดำเนินนโยบาย “Successful Ageing for Singapore” เพื่อสร้างเสริมสาธารณูปโภคพื้นฐานและบริการสำหรับประชากรผู้สูงวัยโดยเฉพาะ และการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยของรัฐบาล (Housing and Development Board – HDB) เพื่อรองรับชุมชนผู้สูงอายุแบบครบวงจรเป็นเเห่งเเรกของสิงคโปร์ มีกำหนดเเล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) แต่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ยังคงมีไม่พอต่อความต้องการ กอปรกับค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประชากร “ส.ว.” ชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยประสงค์จะไปใช้ชีวิตบั้นปลายในต่างประเทศ และ “ประเทศไทย” ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายยอดนิยม เนื่องจากที่ตั้งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสิงคโปร์ มีชื่อเสียงด้านการแพทย์และบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายต่ำกว่าสิงคโปร์

จากข้อมูลโดยสำนักพิมพ์ HRD Asia ของสิงคโปร์ ได้สำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างชาวสิงคโปร์ พบว่า 1) 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการย้ายออกจากสิงคโปร์เพื่อใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ ณ ต่างประเทศโดย 3 อันดับเเรก ได้แก่ มาเลเซีย (25%) ออสเตรเลีย (15%) และไทย (13%) ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์ในหนังสือพิมพ์ The Straits Times (ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2014)ซึ่งตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตวัยเกษียณในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้สูงอายุรายนี้เป็นชาวสิงคโปร์โดยกำเนิด ไม่มีภรรยาเเละบุตร ซึ่งเมื่อถึงวัยใกล้เกษียณ จึงตัดสินใจว่าต้องการย้ายถิ่นฐานออกจากสิงคโปร์ ซึ่งเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกมายังประเทศไทย คือ 1) ค่าครองชีพและราคาสินค้า/บริการที่สมเหตุสมผล และ 2) ระบบสาธารณสุขของไทยมีความน่าเชื่อถือ

โอกาสของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุต่างชาติ

นอกจากสิงคโปร์แล้ว ประเทศไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยคาดว่าปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จะมีผู้สูงอายุประมาณ 17.4 ล้านคน หรือเกือบ 30% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจทั้งสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ ธุรกิจนำเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ศูนย์ออกกำลังกาย ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ธุรกิจสันทนาการ และธุรกิจหลังความตาย โดยที่ในปัจจุบันธุรกิจดูแลผู้สูงอายุยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการที่สูงขึ้น ทั้งจากประชากรภายในและต่างประเทศ กอปรกับวัฒนธรรมหรือทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมองว่าการนำบุพการีมาพำนักระยะยาว ณ สถานดูแลผู้สูงอายุเป็นการช่วยให้บุพการีมีผู้ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ได้พบเพื่อนในวัยเดียวกัน และไม่โดดเดี่ยว ทำให้สถานดูแลผู้สูงอายุได้รับความนิยมทั้งจากผู้สูงอายุเองและบุตรหลานอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์เห็นว่า นอกจากการพัฒนาธุรกิจเพื่อดูแลผู้สูงอายุภายใน ประเทศแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถแสวงหาโอกาสจากตลาดผู้สูงอายุในเอเชีย โดยเฉพาะผู้สูงวัยจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งประสงค์จะเดินทางมาพักผ่อนระยะยาวหรือใช้เวลาช่วงบั้นปลายชีวิตในไทย เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยมักให้ความนิยมกับการทำตลาดผู้สูงอายุในทวีปยุโรป

แต่หากพิจารณาทิศทางการขยายตัวของประชากรสูงวัยในเอเชียตะวันออกจะมากกว่ายุโรป โดยในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีประชากรสูงวัย จำนวน 383.3 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดในภูมิภาค 2,426.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 15.8% ของประชากรทั้งหมด และประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ผู้ประกอบการไทยจึงยังมีโอกาสอีกมากในการดึงดูดผู้สูงอายุจากสิงคโปร์และประเทศในเอเชียให้เดินทางมาพำนักระยะยาวในช่วงบั้นปลายชีวิตที่ประเทศไทยจากสถิติของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) มีธุรกิจจดทะเบียนนิติบุคคลด้านดูแลผู้สูงอายุ 376 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,226 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับการขยายตัวของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยและจำนวนชาวต่างชาติวัยหลังเกษียณเดินทางเข้ามาใช้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุในไทยเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากสิงคโปร์ โดยอาจพิจารณาการจัดทำธุรกิจบ้านพักคนชราสำหรับชาวต่างชาติที่อาจมี ทุนทรัพย์ปานกลาง หรือการจัดทำโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าสำหรับผู้สูงอายุต่างชาติ ทั้งในลักษณะที่ ไม่มีบริการเสริม (Independent Living) และลักษณะสถานพยาบาล (Nursing Home) ไปจนถึงศูนย์สุขภาพครบวงจร (Wellness Centre) ที่ให้บริการออกแบบโปรแกรมดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล สำหรับชาวต่างชาติผู้มีทุนทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการในไทยบางส่วนได้เริ่มดำเนินการเเล้ว อาทิ BDMS Wellness Clinic ตลอดจนการจัดสถานที่ดูแลผู้สูงอายุในเมืองตากอากาศ ทั้งในเมืองหลักและเมืองรองของไทย ให้บริการเสริมในด้านอื่น ๆ ภายในพื้นที่ ได้แก่ บริการทำความสะอาด ซักรีด นวดสปา และอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังอาจได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมโครงการ “Successful Ageing for Singapore” ของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยควรศึกษาโอกาสในการขยายตลาดวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในสิงคโปร์ เช่น ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และเครื่องมือการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่ายในสิงคโปร์ รวมทั้งการเข้าไปลงทุนธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในสิงคโปร์ซึ่งยังคงมีจำนวนจำกัด ทั้งการขยายธุรกิจในสิงคโปร์เองและการออกไปร่วมลงทุนในต่างประเทศ โดยนักธุรกิจประเภทนี้ของสิงคโปร์ยังคงแสวงหาช่องทางการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยที่ประเทศไทย ทั้งในด้านการฝึกอบรมพนักงานการจัดทำวีดิทัศน์สาธิตการดูแลผู้สูงอายุ บริการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วย และการเปิดบ้านพักคนชราแบบมีค่าใช้จ่าย เพื่อยกระดับความเป็นเลิศของธุรกิจดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง แม้ว่าประเทศไทยจะมีข้อได้เปรียบเรื่องอัตราค่าครองชีพและคุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์ แต่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึงความท้าทายในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุต่างชาติ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมด้านทักษะภาษาอังกฤษของบุคลากร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีนซึ่งเป็นภาษาที่ชาวสิงคโปร์ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน การอำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้สูงอายุอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการเดินทางข้ามจังหวัด และการพัฒนาคุณภาพบุคลากรที่มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ โดยคำนึงว่าการสร้างความไว้วางใจและความรู้สึกปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง